ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๓๙] เวทนาขนฺธ

 
Sudhipong.U
วันที่  24 พ.ย. 2566
หมายเลข  47009
อ่าน  269

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ เวทนาขนฺธ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า เวทนาขนฺธ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า เว - ดะ นาขัน - ดะ] มาจากคำว่า เวทนา (ความรู้สึก) กับคำว่า ขนฺธ (สภาพที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า, ธรรมที่เกิดแล้วดับ) รวมกันเป็น เวทนาขนฺธ เขียนเป็นไทยตรงตัวได้ว่า เวทนาขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าคือความรู้สึก อันเป็นความเสวยอารมณ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ความรู้สึกหรือเวทนานั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดร่วมกับจิตทุกขณะทุกประเภท ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ เช่น ขณะที่มีความโกรธเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดร่วมกับความโกรธ ต้องเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจที่เป็นโทมนัสเวทนาเท่านั้น ขณะที่เกิดความติดข้องยินดีพอใจ ก็อาจจะมีความรู้สึกดีใจที่เป็นโสมนัสเวทนา หรือความรู้สึกเฉยๆ ที่เป็นอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดร่วมด้วย จะเป็นโสมนัสหรืออุเบกขา ก็ตามควรแก่กุศลจิตขณะนั้น เป็นต้น ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรมเท่านั้นจึงจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของเวทนาขันธ์ ดังนี้

คำว่า เวทนาขันธ์ ก็ได้แก่ กองแห่งเวทนา ส่วนแห่งเวทนา


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริง ไม่ได้นอกเหนือจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย แต่ละขณะ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม จึงมีการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคลหรือสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่รู้ความจริง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกทรงตรัสรู้ความจริง จึงทรงแสดงให้สัตว์โลกได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของเวทนาซึ่งเป็นธรรมที่มีจริงๆ เป็นความรู้สึก ก็จะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยว่าเป็นนามธรรมที่จะต้องเกิดกับจิต

ตามความเป็นจริงแล้ว จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม และนามธรรมที่เป็นสภาพรู้นั้น มี ๒ อย่าง คือจิต กับเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) โดยที่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เช่น เสียง มีจริงๆ ที่รู้ว่ามีเสียงกำลังปรากฏ ก็เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งเสียงในขณะนั้น แต่สำหรับความรู้สึกซึ่งเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งนั้น ไม่ใช่จิต ความรู้สึกเป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับจิต ไม่ว่าจิตจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องมีความรู้สึกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดร่วมด้วย เช่น ขณะที่เห็น จะกล่าวว่าในขณะเห็นไม่รู้สึกอะไรเลยไม่ได้ ความจริงมีสภาพธรรมซึ่งเป็นเวทนาเจตสิก เกิดแล้วรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่เห็นนั้น ก็มีความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนาหรือเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์เกิดร่วมด้วย นี้คือ ความจริงจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สภาพธรรมที่เป็นเวทนาความรู้สึกนั้น มี ๕ ประเภท โดยละเอียด ได้แก่ ความรู้สึกที่เป็นสุข (สุขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) เวทนาทั้ง ๒ อย่างนี้ หมายความถึงความรู้สึกทางกาย เช่น เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย ความรู้สึกที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง แต่ไม่ใช่จิต ความรู้สึกขณะที่เป็นทุกข์ทางกายเกิดขึ้นนั้นเป็นความรู้สึกที่มีจริง ต้องอาศัยกาย จึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีกาย ก็จะไม่เจ็บไม่ปวด ไม่เมื่อย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย เป็นทุกขเวทนา และความรู้สึกที่เป็นสุขทางกาย เป็นสุขเวทนา ในขณะที่กระทบสัมผัสกับสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจทางกาย และอีก ๓ เวทนาเป็นความรู้สึกดีใจ คือ โสมนัสเวทนา ความรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ เป็นโทมนัสเวทนา และความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา หรือ อทุกขมสุขเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ แต่เมื่อกล่าวโดยเวทนา ๓ แล้ว สุขทางกาย (สุขเวทนา) กับความรู้สึกดีใจ (โสมนัสเวทนา) เป็นสุขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) และความรู้สึกที่เป็นความเสียใจไม่สบายใจ (โทมนัสเวทนา) เป็นทุกขเวทนา และอีกเวทนาหนึ่ง คือ ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา กล่าวคือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ นั่นเอง จึงรวมเป็นเวทนา ๓ ประการ เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เวทนาทั้งหมด จึงเป็นเวทนาขันธ์

แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ไม่ใช่จิต เพราะจิตไม่ได้รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉยๆ แต่อย่างใด แต่เจตสิกชนิดนี้ เป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น ในเสียง เสียงบางเสียง บางคนไม่ชอบเลย ขณะที่ไม่ชอบ ความรู้สึกขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา หมายความว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ จะเห็นได้ว่าความไม่สบายใจแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ความขุ่นใจถ้าเห็นฝุ่นละอองแม้นิดเดียว ตลอดจนถึงมีกำลังมาก ก็เป็นความไม่สบายใจที่มีระดับที่ต่างกัน ความรู้สึกที่ไม่สบายใจนั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก เป็นโทมนัสเวทนา เป็นหนึ่งในเวทนานั่นเอง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ใด เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตนั้นก็มีความรู้สึกในอารมณ์นั้นๆ อาจจะเป็นทุกข์หรือสุขทางกาย โสมนัส หรือโทมนัสทางใจ ตลอดจนถึงความรู้สึกเฉยๆ ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา

ทุกขณะของชีวิตไม่พ้นจากธรรมเลย ไม่มีเราสักขณะเดียว ประโยชน์ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาในส่วนใด เรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ในที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ