หากฝึกไม่ได้ ให้ฆ่า และ การแบ่งทรัพย์ของคฤหัสถ์เป็น ๔ ส่วน
กรุณายกข้อความในพระไตรปิฏก และอธิบายประกอบดังนี้ค่ะ
๑. ท่านเปรียบการฝึกคน กับการฝึกสัตว์ ว่าหากฝึกไม่ได้ ให้ฆ่า (ฆ่าหมายถึงอะไร)
๒. การแบ่งทรัพย์ ของคฤหัสถ์ เป็น ๔ ส่วน คืออย่างไร
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอเชิญอ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกครับ
๑. ท่านเปรียบการฝึกคน กับการฝึกสัตว์ ว่าหากฝึกไม่ได้ ให้ฆ่า (ฆ่าหมายถึงอะไร)
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 300
ข้อความบางตอนจาก
เกสีสูตร
พ. จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควรฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน
ดูก่อนเกสี ข้อที่ตถาคต ไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝีกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารี ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอนนี้เป็นการฆ่าอย่างดี ในวินัยของพระอริย
๒. การแบ่งทรัพย์ ของคฤหัสถ์ เป็น ๔ ส่วน คืออย่างไร
[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒
ข้อความบางตอนจาก
สิงคาลกสูตร
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสม โภคสมบัติได้อย่างนี้ พึงแบ่งโภคสมบัติ ออกเป็น ๔ ส่วน เขาย่อมผูกมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคทรัพย์ด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย หมายจักมีไว้ในยามมีอันตราย ดังนี้
ขอเรียนถามเพิ่มเติม "พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน" ๒ ส่วน มีอะไรบ้างคะ
ขออนุโมทนา ในความกรุณา
เข้าใจว่า ท่านให้ใช้ทรัพย์ ๒ ส่วนนั้นในการลงทุน เป็นการเพิ่มทรัพย์อีกวิธีหนึ่ง
ท่านเปรียบฝึกม้า เหมือนฝึกคน ถ้าฝึกด้วยวิธีพูดดีๆ ไม่ได้ ก็ให้ตี ถ้าตีแล้วยังไม่ดี ก็ให้ฆ่าทิ้ง การฆ่า หมายถึง เลิกตักเตือน เลิกสอน เลิกคบค่ะ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...
สิงคาลกสูตร และอรรถกถา เรื่อง สิงคาลกคฤหบดีบุตร - ว่าด้วยคิหิปฏิบัติ