มีชีวิตเพื่อปัญญาปรากฏ ม.ค. 2667 - กลัวตาย

 
kanchana.c
วันที่  2 ม.ค. 2567
หมายเลข  47215
อ่าน  351

กลัวตาย

เมื่อ 2 – 3 วันก่อน นอนไม่หลับเพราะปวดปัสสาวะทุกชั่วโมง วิตกกังวลว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบจนถึงกรวยไตอักเสบ เพราะเคยเป็นมาแล้วและเพิ่งผ่าตัดผ่าเปลี่ยนข้อเข่ามาได้ 2 เดือนกว่า ทีมหมอคนหนึ่งเตือนว่าระวังอย่าให้เป็นโรคติดเชื้อจากปอดและกระเพาะปัสสาวะ เพราะอาจจะลามมาถึงเข่าได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องผ่าเอาออกมาล้างใหม่ ฟังแล้วสยดสยอง กลัวจะเป็นอย่างนั้น และอาจจะลามไปในกระแสเลือด อาจถึงเสียชีวิตได้ อาจจะ อาจจะ คือในที่สุดอาจจะตายได้ เกิดความกลัวตายขึ้นมา ตอนปกติไม่เจ็บป่วยอะไร ก็คิดว่า ตัวเองไม่กลัวตาย ตายเมื่อไรก็ได้ความตายไม่น่ากลัวเลย เร็วกว่ากระพริบตาเสียอีก ตายแล้วก็เกิดทันทีไม่ทันกลัวก็ตายแล้ว ตอนกลัวนั้นยังไม่ตาย เคยคิดว่า คนที่เจ็บปวดทรมานมากๆ ก็ยังไม่อยากตาย ทำไมนะ ตายคงไม่ทรมานเหมือนอยู่ ไม่น่าจะอยากอยู่ต่อไปเลย คราวนี้เข้าใจแล้วว่า ทุกชีวิตต้องการอยู่ต่อไปแม้แต่คนที่ฆ่าตัวตายก็เพราะต้องการชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม

นอนคิดกลับไปกลับมา ถามตัวเองว่า กลัวอะไร กลัวคนที่อยู่ข้างหลังจะเสียใจ (หลงตัวเองเกินจริงไปหรือเปล่า?) ความจริงไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องกลัว เพราะไม่ใช่ปัญหาของเรา เป็นปัญหาของพวกเขา ที่จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความโง่หรือฉลาดของแต่ละคน ที่เรียกว่า คิดได้

ได้อ่านเรื่องราวในพระไตรปิฎกหลายเรื่องที่แสดงถึงความผูกพันที่ทำให้เกิดความทุกข์เศร้าโศกเสียใจเมื่อคนที่รักจากไป อย่างเช่นเรื่องพระราชาที่พระมเหสี พระนางอุพพรี ผู้ทรงพระสิริโฉมมากสวรรคตจากไปในเวลาที่ไม่สมควร ทรงเสียพระทัยมาก ทรงให้เก็บพระศพแช่ไว้ในรางน้ำมัน เมื่อพระโพธิสัตว์ซึ่งบรรลุฌานมาแสดงให้เห็นว่า พระนางอุพรีผู้ทรงโปรดปรานการแต่งพระองค์ให้สวยงามอยู่เสมอได้เกิดใหม่เป็นหนอนตัวเมียในกองขี้วัว กำลังเดินตามหนอนตัวผู้ จึงถามว่า พระนางยังรักพระราชา หรือรักหนอนตัวผู้ที่พระนางเดินตามนั้น พระนางตอบว่า รักหนอนตัวนั้น พระราชาจึงทรงหายเสียพระทัย ทรงให้เผาศพพระนาง

อีกเรื่องหนึ่งสำหรับผู้จากไปที่ยังผูกพันกับคนที่อยู่ข้างหลัง เป็นเรื่องหนึ่งในธัมมปทัฏฐกถา ที่แสดงให้เห็นว่า โลภะมีโทษน้อย คลายยาก คือภรรยาของพี่ชายที่เป็นชู้กับน้องชายของสามี และรักน้องสามีมากกว่า ถึงกับให้น้องชายฆ่าสามีตัวเองที่เป็นพี่ชาย พี่ชายเมื่อตายไปเพราะจิตผูกพันในภรรยา ไม่ทราบว่า นางให้ฆ่าตัวเอง จึงไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นวัวบ้าง เป็นสุนัขบ้าง ฯลฯ ที่อยู่ใกล้ชิดกับนาง จนในที่สุดเกิดเป็นลูกของนางระลึกชาติได้ว่า ถูกนางฆ่าตายมาแล้วหลายชาติ เมื่อเกิดมาจึงไม่ยอมให้แม่จับ และโตขึ้นได้เล่าเรื่องนี้ให้ตาฟัง ทั้งสองคนสลดใจออกบวชได้บรรลุอรหันต์ทั้งคู่

รวมทั้งเรื่องในปัจจุบันที่ได้ยินกับหูตัวเอง เจ้านายตายไปเพราะมะเร็งหลังเกษียณอายุได้ไม่กี่เดือน ภรรยาที่รักใคร่กันมากเศร้าเสียใจมาก เมื่อเสร็จพิธีศพได้นำโกฏิใส่กระดูกมาบูชาที่บ้าน ต่อมาฝันเสมอๆ ว่า สามีมาบอกว่า “รออยู่นะ ยังไม่ได้ไปไหน” ภรรยาที่เคยรักสามีมากกลัวว่าจะตายตามได้จุดธูปบอกว่า ไปที่ชอบๆ เถอะ จะช่วยเลี้ยงดูแลลูกหลานให้ ไม่ต้องคอย แล้วก็นำโกฏินั้นไปไว้ที่วัดอย่างรีบด่วน ทำให้อดคิดถึงเรื่องของตนเองไม่ได้ว่า ถ้าตายไปก่อนสามี เราเป็นห่วงว่า เขาอายุมากแล้วจะไม่มีคนดูแล (ลืมไปว่า เขาเป็นผู้ชายบุคลิกใจดีอบอุ่น คงหาคนมาดูแลได้ไม่ยาก) ส่วนเราตายไปก่อน ตามมาเข้าฝันทุกคืนว่า คอยอยู่นะ เขาคงตามหมอปราบสัมภเวสีมาไล่ให้ไปผุดไปเกิดไวๆ

ดังนั้นความเศร้าโศกเสียใจนั้นเกิดขึ้นเพราะความโง่ที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไปเมื่อตายไปก็เกิดเป็นคนใหม่ทันที ไม่รู้จักคนเก่าที่เคยรักผูกพันกันอีก ต่างคนก็มีกรรมของตัวเองที่จะเกิดที่ไหน พบใคร มีสุขมีทุกข์อย่างไร ไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป ท่านจึงแสดงไว้ว่า เมื่อเห็นกันอยู่ก็จงเมตตาเอ็นดูกันเมื่อตายจากกันไปก็ไม่เศร้าเสียใจ แต่ทำให้บุญอุทิศให้กัน

ความเศร้าโศกเสียใจเป็นปัญหาของแต่ละคน ถ้ามีปัญญารู้ว่า ความเสียใจเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ ความรักความผูกพัน เกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก ปัญหานั้นก็จะดับไปเพราะความเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างมั่นคง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ม.ค. 2567

เวลาที่ผู้เป็นที่รัก ที่เคารพนับถือ ตายจากไป เป็นของธรรมดาที่ทุกคนย่อมเศร้าโศกเสียใจถึงผู้เป็นที่รัก ซึ่งผู้ที่จากไปนั้นอาจจะไปเกิดในกำเนิดหนึ่งกำเนิดใด ภพหนึ่งภพใด ภูมิหนึ่งภูมิใด เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใด แม้เป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้

ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

อัสสกชาดก (พระนางอุพพรี เกิดเป็นหนอน)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
siraya
วันที่ 3 ม.ค. 2567

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Komsan
วันที่ 5 ม.ค. 2567

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ