ปฏิบัติก็ไม่รู้อะไร ไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่รู้อะไร

 
เมตตา
วันที่  3 ม.ค. 2567
หมายเลข  47218
อ่าน  420

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ลุมพินี และ เนปาล

วันศุกร์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 343

๕. อวิชชาวิชชาสูตร

ว่าด้วยอวิชชาและวิชชา

[๑๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชานั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งมั่นผิด ผู้มีความตั้งมั่นผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย หิริและโอตตัปปะเป็นของมีมาตามวิชชานั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวิชชาเห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นชอบ ผู้มีความเห็นชอบ ย่อมมีความดำริชอบ ผู้มีความดำริชอบ ย่อมมีวาจาชอบ ผู้มีวาจาชอบ ย่อมมีการงานชอบ ผู้มีการงานชอบ ย่อมมีการเลี้ยงชีพชอบ ผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ ย่อมมีความพยายามชอบ ผู้มีความพยายามชอบ ย่อมมีความระลึกชอบ ผู้มีความระลึกชอบ ย่อมมีความตั้งมั่นชอบ ผู้มีความตั้งมั่นชอบ ย่อมมีความรู้ชอบ ผู้มีความรู้ชอบ ย่อมมีความหลุดพ้นชอบ.

อวิชชาวิชชาสูตรที่ ๕

อรรถกถาอวิชชาวิชชาสูตรที่ ๕

อวิชชาวิชชาสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

อวิชชา ชื่อว่าเป็นหัวหน้า เพราะอรรถว่า ดำเนินไปก่อน. บทว่า อนฺวเทว ได้แก่ ติดตามไป.

จบอรรถกถาอวิชชาวิชชาสูตรที่ ๕


[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วย ปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ

ปัญญาอันเห็นชอบ ๑

ความดำริชอบ ๑

เจรจาชอบ ๑

การงานชอบ ๑

เลี้ยงชีวิตชอบ ๑

พยายามชอบ ๑

ระลึกชอบ ๑

ตั้งจิตชอบ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณได้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน


[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค หน้าที่ 249

๖.อัจฉราสูตร

ว่าด้วยยานไปพระนิพพาน

[๑๔๓] เทวดาทูลถามว่า ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปได้

[๑๔๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัยรถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรมหิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้นเรากล่าว ธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถียานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตามเขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพานด้วยยานนี้แหละ


ท่านอาจารย์: ปฏิบัติก็ไม่รู้อะไร ไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่รู้อะไร สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ควรรู้ไหม?

ภันเต: ควรรู้

ท่านอาจารย์: ทำไมควรรู้?

ภันเต: -

ท่านอาจารย์: มาที่นี่ ฟังที่นี่ เพื่อรู้ใช่ไหม?

ภันเต: ครับ

ท่านอาจารย์: แต่ต้องรู้ว่า ทำไมควรรู้?

ภันเต: เพื่อเจริญความเข้าใจของตนเอง

ท่านอาจารย์: เข้าใจอะไร?

ภันเต: เพื่อเข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์ และเข้าใจว่า พระพุทธองค์คือใคร

ท่านอาจารย์: พระพุทธองค์สอนอะไร?

ภันเต: สอนให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตอนนี้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้พระพุทธองค์สอนเรื่องอะไรที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้?

ภันเต: เห็น

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จะไปปฏิบัติไหม?

ภันเต: ไม่

ท่านอาจารย์: เพราะอะไร?

ภันเต: เวลานี้ที่ ได้ยิน ก็มีจริง ที่โน่นไปทำเพื่อให้จิตสบาย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งมาก

ภันเต: ครับ

ท่านอาจารย์: กำลังมีสิ่งที่มีจริงๆ และพระพุทธเจ้าสอนความจริงของสิ่งที่มีจริง จนสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง

คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่มี ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้รู้ความจริงด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจในเบื้องต้น ไม่รู้จักหนทาง เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงดำเนินตั้งแต่สมัยเป็นพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งตรัสรู้ความจริง

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจทุกคำ เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อรอบรู้สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้รู้สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้

พระองค์ตรัสว่า ขณะนี้ เห็นเกิดขึ้น แล้วเห็นดับ ถ้าเห็นไม่เกิดมีเห็นไหม?

ภันเต: ไม่มี

ท่านอาจารย์: เห็นเกิด ไม่มีใครทำให้เห็นเกิด แต่ต้องมีสิ่งปรุงแต่งทำให้เห็นเกิด ต้องเข้าใจละเอียดทุกคำ เห็นเกิดเพราะมีสิ่งต่างๆ อาศัยทำให้เห็นเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อปัจจัยทำให้เห็นเกิดแล้ว เห็นเกิดแล้วต้องดับ เพราะปัจจัยทำให้เกิดเท่านั้น เกิดแล้วจึงต้องดับ หมดหน้าที่ของปัจจัย

เห็น ต้องมีตา ถ้าไม่มีตา ไม่เห็น มีตาแต่ไม่มีสิ่งที่กระทบตาก็ไม่เห็น เห็นเกิดเห็นเท่านั้น เห็นไม่คิด เห็นไม่จำ เห็นไม่โกรธ เห็นเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์

เพราะฉะนั้น เห็นเกิดแล้วดับ เป็นเราเห็นหรือเปล่า มีเราไหม?

ภันเต: ไม่มี

ท่านอาจารย์: ไม่มีเราแน่นอน แล้วมีอะไร?

ภันเต: มีแต่สิ่งที่มีจริง เกิดแล้วดับทันที

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อนัตตา หมายความว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 96

หน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด

เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด


ภันเต: ไม่ใช่เป็นอะไร เช่น เห็น ก็คือเห็น เกิดแล้วดับ ได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน แล้วดับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ใช้คำรวมว่า เป็นธรรม

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

สติปัฏฐาน มี ๓ ความหมาย

มุ่งเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ไม่พอ

สัจจธรรมคือ ธรรมที่มีจริง

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ธรรมที่เป็นหนทาง

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทนต่อการพิสูจน์


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 383

๙. ปุพพังคสูตร (๑)

ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งดวงอาทิตย์เมื่อจะอุทัย คือแสงเงินแสงทอง ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือสัมมาทิฏฐิ ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจาย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาอาชีวะ สัมมาสติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวายามะ สัมมาสมาธิย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสติ สัมมาญาณะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสมาธิ สัมมาวิมุตติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาญาณะ.

จบปุพพังคสูตรที่ ๙


กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 5 ม.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ