ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๔๔] ปริฬาห

 
Sudhipong.U
วันที่  7 ม.ค. 2567
หมายเลข  47236
อ่าน  385

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปริฬาห

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ปริฬาห อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ริ - รา - หะ แปลว่า ความเร่าร้อน มี ๒ อย่าง คือ ความเร่าร้อนทางกาย อันเป็นทุกข์ทางกาย เกิดจากเหตุคืออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต และอีกอย่างหนึ่งคือ ความเร่าร้อนทางใจ เป็นเรื่องของกิเลสที่แต่ละคนได้สะสมมา พระอรหันต์ยังมีความเร่าร้อนทางกายได้ ส่วนความเร่าร้อนเพราะกิเลสไม่มีแล้ว เพราะได้ดับกิเลสหมดสิ้นแล้วโดยประการทั้งปวง

ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ได้แสดงถึงความเร่าร้อน ๒ อย่าง ดังนี้

บาทพระคาถาว่า ปริฬาโห วิชฺชติ ความว่า ความเร่าร้อน มี อย่าง คือ ความเร่าร้อนเป็นไปทางกายอย่าง ความเร่าร้อนเป็นไปทางจิตอย่าง บรรดาความเร่าร้อน อย่างนั้น ความเร่าร้อนเป็นไปทางกาย ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระขีณาสพ (พระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว) ด้วยสามารถแห่งผัสสะมีหนาวและร้อนเป็นต้น ยังไม่ดับเลย หมอชีวกทูลถามหมายถึง ความเร่าร้อนอันเป็นไปทางกายนั้น แต่พระศาสดาทรงพลิกแพลงพระเทศนา ด้วยสามารถแห่งความเร่าร้อนอันเป็นไปทางจิต เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ฉลาดในเทศนาวิธี เพราะความที่พระองค์เป็นพระธรรมราชาจึงตรัสว่าชีวก ผู้มีอายุ ก็โดยปรมัตถ์ ความเร่าร้อน (เพราะกิเลส) ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพผู้เห็นปานนั้น


ชีวิตประจำวัน ถ้ากล่าวถึงการได้รับผลของกรรมนั้น พอที่จะเข้าใจได้เมื่อได้เริ่มฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมคือ ไม่พ้นไปจาก จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจเห็น, โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจได้ยิน, ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจได้กลิ่น, ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจลิ้มรส, กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจรู้โผฏฐัพพะที่กระทบกายปสาทะ ถ้าเป็นกุศลวิบาก ก็ทำให้ได้รับในสิ่งที่ดี น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นอกุศลวิบาก ก็ทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย แต่เป็นผลของกรรมในอดีตที่แต่ละคนได้กระทำแล้ว

สำหรับจักขุวิญญาณ (เห็น) โสตวิญญาณ (ได้ยิน) ฆานวิญญาณ (ได้กลิ่น) ชิวหาวิญญาณ (ลิ้มรส) เกิดร่วมกับเวทนาที่เป็นอุเบกขาเวทนา คือความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เฉพาะกายวิญญาณ (จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) เท่านั้น ถ้าเป็นกุศลวิบากก็จะเกิดร่วมกับสุขเวทนา ความรู้สึกสบายทางกาย ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็จะเกิดร่วมกับทุกขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ไม่สบาย นี้คือความเป็นจริงของธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาสภาพปรมัตถธรรม (สิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น) โดยที่ไม่คิดถึงเรื่องราว ไม่คิดถึงสัตว์ บุคคล ก็จะเห็นได้ว่า ความทุกข์ ความเร่าร้อนจริงๆ ก็คือทุกขเวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณอกุศลวิบากดวงเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วก็เป็นความทุกข์ความเร่าร้อนที่เกิดจากกิเลส ถ้าผู้ใดดับกิเลสแล้ว ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ไม่มี แต่ว่าทุกขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณอกุศลวิบาก ยังมีอยู่

เป็นที่น่าพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ มีความทุกข์ความเดือดร้อน มากทีเดียว แต่ว่าความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่มีมากนั้น เป็นทุกข์ใจซึ่งเป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส หรือว่าเป็นทุกข์กาย ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว? ถ้าเป็นทุกข์ที่เป็นผลของอกุศลกรรมที่กระทำแล้ว จะเป็นทุกขเวทนาที่กระทบกับสิ่งที่แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตึง ไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สบาย นั่นคือทุกข์กาย เป็นผลของอกุศลกรรม แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว ความทุกข์ที่มีมาก นั้น เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส เป็นเรื่องของทุกข์ใจ คือ ทุกข์เพราะกิเลส จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ มากไปด้วยอวิชชา ความไม่รู้ จึงเป็นผู้มากไปด้วยกิเลส แสวงหาในสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ นอกจากนั้นยังมีความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ มีความริษยา มีความตระหนี่ เป็นต้น เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ขณะที่กิเลสเกิดขึ้นนั้น ย่อมเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ เป็นธรรมดา แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ทุกข์กาย ยังไม่พอ ยังเพิ่มทุกข์ทางใจเข้าไปอีก เวลาที่เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ากรรมทำให้กายปสาทะเกิดขึ้นกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ไม่สบาย ทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นกับกายวิญญาณ แต่ยังไม่พอ ยังเดือดร้อนใจ เป็นห่วง เป็นกังวล ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สัลลัตถสูตร มีข้ออุปมาสรุปได้ว่า การที่ทุกข์ใจเกิดขึ้น เมื่อทุกข์กายเกิดแล้ว นั้น เหมือนกับการถูกยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ต่อจากลูกศรดอกที่ ๑ ที่ถูกยิงไปแล้ว

เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น เจ็บปวดทรมาน เหมือนกับการถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่หนึ่ง แต่ว่ายังไม่พอ ยังมีความโทมนัส (เสียใจ) ความกังวล ความเดือดร้อนใจ ตามมาอีก ก็อุปมาเหมือนกับถูกยิงซ้ำด้วยลูกศรเพิ่มอีกดอกหนึ่ง เพิ่มความทุกข์ทรมานขึ้นอีกมากทีเดียว แผลเดียว เจ็บมาก เป็นกายวิญญาณที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนา แต่เนื่องจากยังมีกิเลส จึงมีความห่วง ความกังวล ความเดือดร้อนใจ เกิดตามมาอีก ซึ่งก็เป็นธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสัตว์ บุคคลตัวตนแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ โดยนัยต่างๆ เพื่อประโยชน์คือเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใชเรา แม้แต่ความเร่าร้อนหรือเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่เป็นผลของอกุศลกรรมอันเป็นทุกข์ทางกาย และ ความเดือดร้อนด้วยกิเลส เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมอยู่ไม่เป็นสุข ยังมากไปด้วยความทุกข์ความเร่าร้อนความเดือดร้อน แล้วจะพ้นจากความทุกข์ความเร่าร้อนความเดือดร้อนทั้งหลายเหล่านี้ได้อย่างไร ก็ต้องกลับมาที่เหตุที่สำคัญ นั่นก็คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง

อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 8 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ