ความเป็นไปของธรรมซึ่งลึกซึ้ง

 
เมตตา
วันที่  8 ม.ค. 2567
หมายเลข  47239
อ่าน  411

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 54

อนิจจวรรคที่ ๕

๑. อนิจจาทิธรรมสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นเป็นธรรมดา

[๔๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงที่เป็นของไม่เที่ยง คืออะไร. คือจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เป็นของไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เป็นของไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นของไม่เที่ยง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้.


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 299

ตํ วินา นาญฺญโต ทุกฺขํ น โหติ น จ ตํ ตโต ทุกฺขเหตุนิยาเมน อิติ สจฺจํ วิสตฺติกา เว้นจากตัณหานั้นแล้วทุกข์ย่อมไม่มี แต่เหตุอื่น และทุกข์นั้นย่อมไม่มีจากตัณหา นั้นก็หาไม่ เพราะฉะนั้น ตัณหาตัวซัดซ่าย ไปในอารมณ์ต่างๆ นั้น บัณฑิตจึงรู้ว่า เป็นสัจจะ โดยกำหนดอรรถว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์.

สมุทัย มีอรรถว่าประมวลมา มีอรรถว่าเป็นเหตุมอบให้ซึ่งผล มีอรรถว่าประกอบไว้ มีอรรถว่าเป็นเครื่องกังวล


สัลลสูตรที่ ๘

ว่าด้วยความเป็นธรรมดาของสัตว์โลก

[๓๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์.

สัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดแล้ว จะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นไม่มีเลย แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตายเพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา.

ผลไม้สุกงอมแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องร่วงหล่นลงไปในเวลาเช้า ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น.


ท่านอาจารย์: ธรรมตา ธรรม + ตา ธรรมดา ความเป็นไปของธรรมซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องทุกคำอย่างมั่นคงว่า "ธรรม" จะเป็นใครไม่ได้ นอกจากเป็นธรรม

ทุกคำ ต้องฝังไว้ในใจ จนกระทั่งมีโอกาสที่จะได้เข้าใจคำนั้นลึกซึ้งขึ้น ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ธรรมตา ความเป็นไปของธรรม

เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดกำลังมีเดี๋ยวนี้ทุกขณะ ถ้าไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังได้สนทนากัน จะระลึกถึงธรรมที่มีเดี๋ยวนี้ไหม

ขณะนี้มีธรรมเกิดขึ้น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จึงมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แค่นี้ กว่าจะรู้ความจริงจนถึงที่สุดได้ ก็ต้องเป็นการที่สะสมปลูกฝังบารมี ความเข้าใจ ทำให้เกิดมีความที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะทราบว่าใครเข้าใจธรรมแค่ไหน ก็ชีวิตประจำวันนี่แหละ ตั้งแต่ลืมตาตอนเช้าจนถึงบัดนี้ ธรรมทั้งหมด แต่อะไรเป็นความเข้าใจเกิดขึ้นบ้างไหมในสิ่งที่กำลังปรากฏทุกขณะ ถ้าไม่เห็นความลึกซึ้งอย่างนี้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหนทางที่จะละอวิชชา และโลภะ ซึ่งเป็นอริยสัจจะที่ ๒

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คุณนีน่าได้ฟังก่อนที่จะสิ้นชีวิต เพราะระยะหลังๆ ก็จะมีการสนทนาเรื่อง ธรรมตา ความเป็นไปของธรรมซึ่งลึกซึ้ง

เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดซึ่งเป็นหนทางที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่ใช่ไปจำชื่อว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ มีอะไรบ้าง แต่ว่าขณะที่กำลังเข้าใจในความลึกซึ้ง ค่อยๆ ปลูกฝังการที่จะเห็นความลึกซึ้ง และมั่นคงว่า ลึกซึ้งแค่ไหน คือแม้เดี๋ยวนี้ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานานเท่าไหร่ รอบรู้ในพระสูตรบ้าง พระวินัยบ้าง พระอภิธรรมบ้าง เหมือนกับรอบรู้ในพระพุทธพจน์ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ จะประมาทอย่างยิ่ง คิดว่าธรรมคือสิ่งที่ไปทำขึ้นแล้วรู้ได้ แล้วสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ไม่รู้ แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะสิ้นชีวิต คุณนีน่าก็มีโอกาสได้เข้าใจความลึกซึ้งของพระธรรมอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น สนทนาธรรมกันตอนหลังทุกครั้ง คุณนีน่าก็จะกล่าวถึงความลึกซึ้งของพระธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่คุณนีน่าก็มีความมั่นคงในการที่จะละกิเลส ด้วยการค่อยๆ เข้าใจธรรมละเอียดขึ้นๆ ๆ

เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็ยินดีในกุศลจิตของคุณนีน่าอย่างยิ่งค่ะ ที่ตั้งแต่เริ่มเข้าใจพระธรรม ไม่เคยหยุดที่จะทำประโยชน์ตนเอง และกับคนอื่นด้วยจนถึงวาระสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นชีวิต ก็ได้มีโอกาสสนทนาในความลึกซึ้งของพระธรรม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 27

๑๐. จตุตถหิตสูตร

ว่าด้วยผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และผู้อื่น

[๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่น ในการถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่น ในการถึงพร้อมด้วยสมาธิ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่น ในการถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่น ในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสนะ ด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่น ในการถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสนะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น.


ขอเชิญอ่านเพิ่มได้ที่ ...

ธรรมดา

สมุทยสัจจะ คือ โลภะ ที่ละเอียดมากและเหนียวแน่น เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

รอบรู้คืออย่างไร

ธรรมทั้ง 3 ปิฎกและอรรถกถาเพื่อให้รู้ถูก

ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจความเป็นอนัตตา

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 10 ม.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบในคุณความดีของคุณนีน่าแม้ท่านจะจากไปแล้วแต่ท่านยังฝากพระธรรมไว้ให้ผู้สนใจศึกษาได้ศึกษาเพื่อดำรงพระธรรมต่อไป

ขอบพระคุณยิ่งและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ