ไม่ใช่ใครสักคน มีแต่ชื่อ

 
เมตตา
วันที่  15 ม.ค. 2567
หมายเลข  47271
อ่าน  399

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 348

๕. มหาสุทัสสนชาดก

ว่าด้วยสังขารไม่เที่ยง

[๙๕] "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับ เป็นสุข".

จบ มหาสุทัสสนชาดกที่ ๕


[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 103

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'สังขาร ทั้งปวงไม่เที่ยง' เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'สังขาร ทั้งปวงเป็นทุกข์' เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา' เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"


อ.วิชัย: กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ก็ระลึกถึงคุณนีน่าครับ ก็ได้มีโอกาสได้พบท่านก็จะทักทายด้วยความยิ้มแย้ม บางครั้งก็มีโอกาสได้สนทนาธรรมกันบ้างแต่ก็ไม่มากครับท่านอาจารย์ ซึ่งช่วงหลังก็รู้ถึงถึงการจากไปของคนที่รู้จักหลายบุคคล แล้วก็ได้มีโอกาสได้ฟังในมหาสุทัสสนชาดก ซึ่งสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จดับขันธ์พระปรินิพพาน พระองค์ก็ได้กล่าวถึงมหาสุทัสสนชาดกนี้แก่ท่านพระอานนท์ ก็ได้ปรารถถึงพระเจ้าจักรพรรดิ์ซึ่งเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ แต่ในกาละที่จะใกล้สวรรณคตก็แสดงถึงความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ก็จะเป็นประเด็นที่จะกราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ครับ

ที่แสดงไว้อย่างนี้ครับว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุข ก็กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ โดยทั่วไปการคิดถึงความไม่เที่ยงก็อาจจะคิดถึงโดยความเป็นบุคคลบ้างที่อาจจะรู้จักแล้วก็จากไปครับ หรือจะกล่าวถึงสิ่งของวัตถุต่างๆ บ้างครับ การที่จะศึกษาพระธรรมแล้วมีความเข้าใจธรรมที่จะรู้ถึงความไม่เที่ยงของธรรมครับท่านอาจารย์ จะมีความละเอียด,ึกซึ้งแค่ไหนอย่างไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ก็ต้องเข้าใจมั่นคงในคำว่า ธรรม เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นธรรมอะไรก็ตาม ตามที่กล่าว ก็คือขณะนี้ ทุกขณะเลย สังขารทั้งหลายมีความเกิดขึ้น และดับไป แล้วสิ่งที่ดับไปแล้วก็ไม่สามารถจะกลับมาได้จริงๆ ชาติก่อนอยู่ไหน เมื่อวานนี้อยู่ไหน คุณนีน่าอยู่ไหน ใครอยู่ไหน ล้วนแต่เป็นหมดแล้ว ไม่เหลือจะเป็นคุณนีน่าอีกต่อไปไม่ได้ แต่มีการเกิดดับ มีความเป็นไปอีกแล้วไม่มีวันจบ

เพราะฉะนั้น ประโยคสุดท้ายว่าอย่างไร?

อ.วิชัย: ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุขครั้บ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: จริงไหม นิพพาน ไม่มีอะไรเกิดอีกเลย ไม่ต้องมาเป็นโน่นเป็นนี่ แต่ไม่ใช่ใครสักคน มีแต่ชื่อ ชื่อว่าคุณนีน่า ชื่อว่าใครก็ตามแต่ในช่วงระยะที่เกิดมาเป็นอย่างนั้น พอจากไป ไหนคุณนีน่า สังขารไหนยังอยู่ เห็นยังอยู่ไหม ได้ยินยังอยู่ไหม ไปอินเดียยังอยู่ไหม สนทนากับคนโน้นคนี้ยังอยู่ไหม? ไม่มีอะไรเหลือเลยทั้งสิ้น เป็นธรรมดาหมด เป็นสังขารธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นทั้งหมด แล้วไม่เป็นอะไรเลยทั้งสิ้น ประโยชน์อยู่ไหน เกิดมาทำไม เหมือนตอนที่ไม่เกิดใช่ไหม ไม่เหลือ แล้วก็เกิดมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไม่เหลือ หยุดยั้งไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้ไป ออกไม่ได้ เป็นทุกข์ หรือเป็นสุข? ไม่มีเวลาหยุดเลยสัก ๑ ขณะ

เพราะฉะนั้น จากการที่ไม่เกิดขึ้น แล้วหมดไป ก็ไม่เกิดเลยดีกว่าใช่ไหม เสียเวลาไหม เกิดมาทำไม.

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ขันธ์ห้าไม่ใช่ของเรา

คำว่าสังขาร จริงๆ แล้วแปลว่าอะไรกันแน่ครับ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 17 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ คุณเมตตา และขออนุโมทนาในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ