ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๔๖] ทิฏฺฐิสมฺปทา

 
Sudhipong.U
วันที่  18 ม.ค. 2567
หมายเลข  47286
อ่าน  206

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ [ทิฏฺฐิสมฺปทา]

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ทิฏฺฐิสมฺปทา อ่านตามภาษาบาลีว่า ทิด - ถิ - สำ - ปะ - ทา มาจากคำว่า ทิฏฺฐิ (ความเห็น ซึ่งในที่นี้มุ่งหมายถึงความเห็นถูก) กับคำว่า สมฺปทา (ความถึงพร้อม) รวมกันเป็น ทิฏฺฐิสมฺปทา เขียนเป็นไทยได้ว่า ทิฏฐิสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ความถึงพร้อมด้วยความเห็นถูก ซึ่งก็คือความถึงพร้อมด้วยปัญญา นั่นเอง

ความเห็นถูก หรือ ปัญญา เป็นเจตสิกธรรม (ธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) ฝ่ายดีประการหนึ่ง เป็นสภาพที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐอย่างยิ่ง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น และทำให้อกุศลธรรมค่อยๆ ถูกขัดเกลาละคลาย จนกระทั่งสามารถดับได้ตามลำดับขั้น

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อยสูตร แสดงความเป็นจริงของความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ดังนี้

ทิฏฐิสัมปทา เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานมีผล, การบูชามีผล, การบวงสรวง [กล่าวคือ มงคลกิริยา ได้แก่ การต้อนรับแขกที่มาเยือนด้วยข้าวน้ำและสิ่งที่เป็นประโยชน์] มีผล, ผลวิบากของกรรมดีและชั่ว มี, โลกนี้ มี, โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้นเป็นตัวทันที) มี, สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบ ที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้ มีอยู่ในโลกนี้ เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก ไม่มีใครเสมอเหมือน พระบารมีคุณความดีทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงสะสมอบรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริง เกื้อกูลสัตว์โลก เพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อสัตว์โลกโดยตลอด มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา และพรหมบุคคล

การที่แต่ละบุคคลจะเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้น อยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องฟัง พิจารณาไตร่ตรองบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ความเห็น มี ๒ ประเภท คือ ความเห็นผิดกับความเห็นถูก ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ความเห็นผิด ไม่ได้มีเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้เท่านั้น แต่มีมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ความเห็นผิดเป็นอกุศลธรรมที่อันตรายมาก มีโทษมาก เพราะว่าเมื่อมีความเห็นผิดแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิดทั้งหมด บางคนตนเองเห็นผิดแล้ว ยังแนะนำให้ผู้อื่นเห็นผิดตามไปด้วย ซึ่งเป็นโทษอย่างมาก ทำให้คนออกจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการปิดกั้นผู้อื่นไม่ให้มาสู่หนทางที่ถูกต้อง ส่วนความเห็นถูก หรือ สัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ถ้ามีความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ถูก คล้อยตามความเห็นที่ถูกต้อง ทั้งหมด ความเห็นถูก จะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ด้วยความเคารพ ละเอียด และรอบคอบ เห็นประโยชน์ของคำที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป ความเข้าใจถูกเห็นถูกที่ได้สะสมไว้นี้ไม่สูญหาย ไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ย่อมจะเป็นเหตุให้เป็นผู้มีความสนใจ เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไปอีก เกื้อกูลให้ไม่หลงผิด ไม่ตกไปในฝ่ายที่ผิด เพราะฉะนั้น ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงเป็นธรรมที่ไม่มีโทษเลย มีแต่คุณประโยชน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปัญญาเป็นอย่างมาก และที่สำคัญ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมด เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงโดยตลอด ซึ่งกว่าจะถึงความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาได้นั้น ก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

ถ้าไม่มีปัญญา คือ ความเห็นถูกเลย อกุศลธรรมย่อมเกิดอยู่เรื่อยๆ ครอบงำทับถมต่อไป มีความติดข้อง มีความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล ในเรา ในเขา อย่างเต็มที่ทีเดียวตามความเห็นผิดที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น เจริญขึ้น อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็ย่อมไม่เกิด เพราะมีความเห็นถูกเกิดขึ้นแล้ว เป็นกุศลธรรมในขณะนั้น อกุศลใดๆ ย่อมเกิดไม่ได้ หรือแม้อกุศลธรรมที่เกิดแล้ว ย่อมเสื่อมไป อกุศลธรรมทั้งหลายที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ปัญญาก็สามารถดับได้เมื่ออบรมเจริญถึงความสมบูรณ์พร้อมแล้ว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่การได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nui_sudto55
วันที่ 25 ม.ค. 2567

สาธุครับ อาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ