ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๔๘] สทฺธาวิตฺต

 
Sudhipong.U
วันที่  27 ม.ค. 2567
หมายเลข  47324
อ่าน  206

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สทฺธาวิตฺต

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สทฺธาวิตฺต อ่านตามภาษาบาลีว่า สัด - ทา - วิด - ตะ มาจากคำว่า สทฺธา (สภาพที่ผ่องใส) กับคำว่า วิตฺต (ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ) รวมกันเป็น สทฺธาวิตฺต แปลว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธา แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ดีงามประการหนึ่ง คือศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐ เป็นทรัพย์ภายใน เมื่อเกิดขึ้นก็ยังจิตให้ผ่องใส สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันก็ผ่องใสด้วย เช่น ขณะที่ให้ทาน สละสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ขณะนั้นเพราะมีความผ่องใส จึงกระทำอย่างนั้นได้ หรือแม้แต่ขณะที่มีการฟังพระธรรม ก็เพราะมีศรัทธา เห็นประโยชน์ของพระธรรม จึงฟังจึงศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อมีศรัทธาแล้วก็เป็นเหตุให้คุณความดีประการอื่นๆ เจริญขึ้น จนถึงความดีในระดับที่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วิตตสูตร ได้แสดงถึงความเป็นจริงของทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธา ดังนี้

“บทว่า สทฺธีธ วิตฺตํ แปลว่า ศรัทธา เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจในโลกนี้ อธิบายว่า คนมีศรัทธา ย่อมได้เครื่องปลื้มใจทั้งหลาย แม้มีแก้วมุกดาเป็นต้น บุคคลถึงซึ่งกุลสัมปทา (การถึงพร้อมด้วยสกุล กล่าวคือ เกิดในตระกูลสูง) ๓ (ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี) กามสวรรค์ ๖ (เกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น) พรหมโลก ๙ (เกิดในพรหมโลกตามระดับของฌานขั้นต่างๆ) แล้วในที่สุดย่อมได้แม้การเห็นอมตมหานิพพาน (ประจักษ์แจ้งพระนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ดับกิเลสตามลำดับขั้น) เพราะเหตุนั้น ศรัทธา จึงเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันมีแก้วมณีและแก้วมุกดาเป็นต้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริง คือ ธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริง จึงทรงแสดงสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่าธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ศรัทธาก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งด้วย

คำว่าศรัทธาเป็นคำที่แต่ละคนคุ้นเป็นอย่างดี เพราะว่าคนในสังคมไทยก็ใช้คำนี้บ่อย แต่ว่าเวลาที่ใช้คำภาษาบาลี ก็ไม่ได้เข้าใจตามความหมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะศรัทธาก็คือเจตสิกที่ดีงามประเภทหนึ่งที่เกิดกับจิตที่ดีงามทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการพูดว่าเขามีศรัทธา ก็ต้องพิจารณาดูว่าเขาศรัทธาอะไร ถ้าเป็นไปในทางที่ผิด หมายความว่า เขาไม่เข้าใจคำว่าศรัทธา แต่เป็นความเห็นที่ผิด มีความเชื่อที่ผิดแล้วก็มีความมั่นคงขึ้น ถ้าเขาเชื่อมากๆ ในความเห็นผิด ก็แสดงว่าความเห็นผิดต้องมากขึ้นตามกำลังของความเชื่ออย่างที่เห็นกันอยู่ซึ่งมีมากและหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง มีตั้งแต่เห็นผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กราบไหว้ต้นไม้แปลกๆ กราบไหว้สัตว์เดรัจฉานที่เกิดมามีรูปร่างแปลกๆ ด้วยความหวังความต้องการว่าจะได้โชคลาภ เป็นต้น ก็มีการกล่าวกันว่าเขามีศรัทธา ตามความเชื่อนั้นๆ แต่ความจริงไม่ใช่ศรัทธาตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ยิ่งพอมีความเห็นผิดมากขึ้น ผู้คนก็กล่าวกันว่าเขามีศรัทธามาก แต่ก็ยังคงเป็นความเห็นผิดซึ่งไม่ใช่ศรัทธาจริงๆ นี้จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญยิ่งที่จะต้องมีการตั้งต้นในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง

ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ศรัทธาเปรียบเหมือนสารส้มที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลงคือเกิดขึ้นไม่ได้ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ เลือกเกิดไม่ได้ การที่จะเกิดเป็นบุคคลประเภทใด กล่าวคือ จะเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจหรือมีทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นสำคัญ ไม่มีใครเป็นผู้จัดสรร ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรนั้น ก็ไม่เป็นเครื่องกั้นของการเจริญขึ้นแห่งกุศลธรรม สำคัญอยู่ที่ว่าจะเป็นผู้มีจิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศล น้อมไปในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาหรือไม่? เพราะเหตุว่ากุศลแม้จะเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็มีค่า เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว จะไม่มีค่า จะไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย มีแต่โทษเท่านั้น

ขณะที่ศรัทธาเกิดขึ้นนั้นเป็นกุศล และสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับศรัทธา ก็เป็นกุศลด้วย คนที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ไม่มีศรัทธา ไม่มีจิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นผู้ยากจนอยู่นั่นเอง คือ จนศรัทธาและจนกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามหรือแม้กระทั่งผู้ที่ขัดสนทรัพย์ สินเงินทอง มีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ค่อยจะสะดวกสบาย แต่เป็นผู้มีศรัทธา มีจิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศลอยู่เสมอ บุคคลประเภทนี้ เป็นผู้ไม่ยากจน ไม่ขัดสน เนื่องจากว่าเป็นผู้มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐ คือ ศรัทธา ที่ใครๆ ไม่สามารถจะลักไปได้ ไม่ก่อให้เกิดโทษ มีแต่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐนี้เท่านั้น อำนวยประโยชน์ให้ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้าและให้ประโยชน์อย่างยิ่งด้วย

บุคคลผู้ที่มีศรัทธาเท่านั้นที่จะสามารถไปสู่สวรรค์และสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตตามลำดับขั้นได้ ถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว กุศลใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะเจริญขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าบุคคลผู้มีศรัทธาจึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหาสัตบุรุษหรือกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไตร่ตรองพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับจนถึงความสมบูรณ์พร้อมก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธาซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐเป็นเบื้องต้นนั่นเอง ดังนั้น ศรัทธาจึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น เป็นเหมือนเพื่อนที่ดีที่ช่วยให้สำเร็จกิจประการต่างๆ

การมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม มีศรัทธาเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงนั้น มีค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกคนต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น แต่จะจากไปแบบไหน แบบไม่รู้ความจริง ซึ่งจะต้องเกิดแล้วตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือแบบที่ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไป ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว นี้คือสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 28 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ อ.คำปั่น

ขอบพระคุณ คุณSudhipong.Uและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ