กรรมนิมิตเป็นอารมณ์บัญญัติหรือปรมัตถ์?

 
ทรงศักดิ์
วันที่  30 ม.ค. 2567
หมายเลข  47334
อ่าน  440

เวลากล่าวถึงกรรมนิมิตว่าเป็นเครื่องหมายหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกรรมที่เคยทำก็จะเป็นบัญญัติ แต่ถ้าปัญจทวารวิถีซึ่งมีอารมณ์เป็นรูปปรมัตถ์เกิดก่อนจุติจิต จะมีกรรมนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ได้อย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง ขอเชิญอ่านไตร่ตรองพิจารณาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้

สุ.
มรณาสันนวิถี เป็นคำใหม่สำหรับบางท่าน แต่อาจจะชินหูสำหรับท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว

ถ้าแบ่งจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ได้แก่ วิถีมุตตจิต คือ จิตที่ไม่ใช่วิถี ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประเภทหนึ่ง และวิถีจิต คือ จิตที่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นวิถีจิต อีกประเภทหนึ่ง

วิถีมุตตจิต คือ ขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต ๑ ขณะ เป็นภวังคจิต ๑ ขณะ เป็น จุติจิต ๑ ขณะ เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร เป็นวิถีจิตทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น มรณาสันนวิถี หมายความถึงวิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทวารก่อนจุติ ชื่อว่ามรณาสันนวิถี เป็นวิถีจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด

ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ปกติจะมีชวนวิถีจิตเกิดซ้ำ ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ขณะที่กำลังสลบ ชวนวิถีจะเกิดซ้ำกันแค่ ๖ ขณะ เป็นสภาพของจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยสัมปชัญญะอย่างที่ทั่วๆ ไปใช้คำว่า ไม่ใช่ขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และก่อนจุติจริงๆ ชวนวิถีจะเกิดเพียง ๕ ขณะ เพราะมีกำลังอ่อนลง ใกล้ที่จะถึงการดับจากภพนี้ ชาตินี้ ความเป็นบุคคลนี้

เพราะฉะนั้น ก่อนจุติจิตจะเกิด ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าชวนวิถีสุดท้าย จะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล จะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

แม้ในขณะนี้เอง ทางจักขุทวาร วิถีจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว มีภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ หรือทางหูที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ และจุติจิตจะเกิดหลังการสิ้นสุดวิถีหนึ่งวิถีใดย่อมได้ คือ หลังจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ หรือหลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือจะเป็นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางโสตทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือบางท่านในขณะนี้กำลังคิดนึก เรื่องหนึ่งเรื่องใด มโนทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้

แสดงให้เห็นว่า จุติจิตซึ่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเกิดในขณะไหนได้ทั้งสิ้น หลังจากวิถีจิตทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ หรือหลังจากภวังคจิตก็ได้

เพราะฉะนั้น ชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด เป็นมรณาสันนวิถี ซึ่งเลือกไม่ได้ เหมือนในขณะนี้เอง ถ้าเป็นทางตาที่เห็น จักขุทวารวิถีดับหมดแล้ว จุติจิตเกิด ขณะนั้นมีกรรมนิมิตอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และมีท่านผู้หนึ่งจุติจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ คือ สิ้นชีวิตลง หลังจากที่จักขุทวารวิถีดับไปแล้ว ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นกรรมนิมิตอารมณ์สำหรับปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ถ้าในขณะที่โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงดับไปหมดแล้ว ชวนะสุดท้ายที่กำลัง ได้ยินในขณะนี้ จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ในขณะนั้นมีเสียงเป็นกรรมนิมิตอารมณ์

. ทำไมชื่อว่ากรรมนิมิตอารมณ์

สุ. เพราะเป็นนิมิต เป็นเครื่องหมาย ที่จะให้กรรมนั้นทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้น เพราะจิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ โดยเฉพาะปฏิสนธิจิตของชาติต่อไปจะต้องมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตของชาตินี้ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า จุติจิตของใครจะเกิดขึ้นในขณะไหน หลังเห็น หลังได้ยิน หรือหลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ

ถ้าขณะนี้ท่านผู้ใดกำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใดทางมโนทวารวิถี และจุติจิตเกิดต่อทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นชีวิตลง บุคคลนั้นมีกรรมเป็นอารมณ์ เพราะคิดถึงระลึกถึงกรรมหนึ่งกรรมใด

เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า กรรมอารมณ์ หรือกรรมนิมิตอารมณ์ หรือ คตินิมิตอารมณ์ ก็เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เป็นอารมณ์ของจิตใกล้จะจุติ ซึ่งจะเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป และก็เหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่ต่างกันเลย

กรรมนิมิต คือ ในขณะที่เห็น ได้ยินในขณะนี้เอง และจุติจิตเกิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็เป็นกรรมนิมิตของปฏิสนธิจิตในชาติหน้า

ถ. ถ้าคิดถึงกรรมที่ทำมาแล้ว เป็นกรรมอารมณ์ ใช่ไหม

สุ. ถ้าคิดถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นกรรมอารมณ์ ถ้าเห็นสถานที่ ที่จะเกิด ขณะนั้นก็เป็นคตินิมิตอารมณ์ บางคนอาจจะเห็นเป็นไฟนรก บางคนอาจจะเห็นเป็นสวนนันทวันที่รื่นรมย์ แล้วแต่ว่าจะปฏิสนธิในภพใดภูมิใด อุปมาเหมือนกับเห็นในฝัน ซึ่งดูเหมือนจริง เพราะฉะนั้น ก็เป็นคตินิมิตสำหรับผู้ที่จะปฏิสนธิหลังจากที่จุติจิตของบุคคลนั้นดับลง แต่ให้ทราบว่า ก็คืออารมณ์ตามปกติธรรมดาอย่างนี้เอง

ที่ใช้คำว่า คตินิมิตบ้าง กรรมนิมิตบ้าง หรือกรรมอารมณ์บ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติหน้า เพราะว่าเป็นอารมณ์ของชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตของชาตินี้

ขณะนี้เห็น จุติจิตยังไม่เกิด ก็เป็นรูปารมณ์ แต่ถ้าเห็นแล้วจุติจิตเกิด ก็เป็นกรรมนิมิตอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป

ถ. คตินิมิตทางทวารทั้ง ๖ ใช่ไหม ไม่จำเป็นต้องเป็น …

สุ. ทางมโนทวารอย่างเดียว จึงกล่าวว่า เหมือนเห็นในความฝัน

ถ. ๓ คำนี้ คือ กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต ผมยังสับสนอยู่ กรรมหมายความว่า เวลาจะจุติ นึกถึงการกระทำที่ได้เคยกระทำมาแล้ว ส่วนกรรมนิมิต นึกถึงเรื่องราวที่กระทำอย่างนั้นหรือครับ

สุ. กรรมนิมิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะนี้ เสียงเป็นกรรมนิมิตได้ กลิ่นเป็นกรรมนิมิตได้ ถ้าในขณะที่ได้กลิ่นและจุติจิตเกิด ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ เพราะฉะนั้น กลิ่นนั้นก็เป็นกรรมนิมิตได้ หรือจะเป็นการนึกถึงเครื่องหมาย สิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงกรรมก็ได้ เป็นนิมิตของกรรมได้ ทางมโนทวาร เช่น นึกถึงปืน ถ้าเคยเป็นฆาตกร หรืออาวุธต่างๆ ที่ใช้ อาจจะคิดถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ไม่ได้คิดถึงเป็นเรื่อง แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏที่เป็นการกระทำ หรืออาจจะนึกถึงสบงจีวรที่เคยทอดกฐิน อย่างนั้นก็เป็นกรรมนิมิตได้ เพราะฉะนั้น กรรมนิมิตเป็นได้ทั้ง ๖ ทวาร

ส่วนคตินิมิตเป็นได้เฉพาะทางมโนทวารทวารเดียว คตินิมิตไม่ใช่การนึก แต่เป็นการเห็นทางมโนทวารเหมือนฝันเห็น เหมือนเห็นในความฝัน

ถ. เช่น เห็นปราสาทราชวัง หรือเห็นเปลวไฟอะไรอย่างนั้น แต่คล้ายๆ เห็นในฝัน อย่างนั้นใช่ไหม

สุ. เหมือนฝันเห็น เหมือนเห็นในฝัน เพราะเป็นทางมโนทวาร

ถ. กรรมกับกรรมนิมิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ใช่ไหม

สุ. ถ้าเป็นกรรมอารมณ์ ระลึกถึงกรรม ต้องเฉพาะมโนทวาร แต่ที่ใช้คำว่ากรรมนิมิต ต้องทั้ง ๖ ทวาร

ถ. แต่คตินิมิตเกิดได้ทาง ...

สุ. มโนทวารทวารเดียว

... ยินดีในกุศลของคุณทรงศักดิ์และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 17 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ อ.คำปั่นและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ