ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๔๙] อายตนกุสลตา

 
Sudhipong.U
วันที่  30 ม.ค. 2567
หมายเลข  47336
อ่าน  297

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อายตนกุสลตา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อายตนกุสลตา อ่านตามภาษาบาลีว่า อา - ยะ - ตะ - นะ - กุ - สะ - ละ - ตา มาจากคำว่า อายตน (ที่ประชุม, บ่อเกิด เป็นอีก ๑ คำที่แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ประชุมกัน ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะ เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด) กับคำว่า กุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาด) รวมกันเป็น อายตนกุสลตา แปลว่า ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี แสดงความเป็นจริงของคำว่า “อายตนกุสลตา” ไว้ดังนี้

อายตนกุสลตา เป็นไฉน? อายตนะ ๑๒ คือ จักขายตนะ (อายตนะคือตา) รูปายตนะ (อายตนะคือสี) โสตายตนะ (อายตนะคือหู) สัททายตนะ (อายตนะคือเสียง) ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก) คันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) กายา- ยตนะ (อายตนะคือกาย) โผฏฐัพพายตนะ (อายตนะคือสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) มนายตนะ (อายตนะคือจิต) ธรรมายตนะ (อายตนะคือ เจตสิกทั้งหมด รูปที่ละเอียดทั้งหมด และพระนิพพาน) ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันเป็นเหตุฉลาดในอายตนะแห่งอายตนะทั้งหลายนั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า อายตนกุสลาตา

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี ได้แสดงความหมายของคำว่า “อายตนกุสลตา” ไว้ดังนี้

“ปัญญาที่รู้ การรอบรู้ การเรียน การใส่ใจ การฟัง การทรงจำซึ่งอายตนะ ๑๒ ชื่อว่า อายตนกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ทุกคำเป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริง ไม่ได้นอกเหนือจากชีวิตประจำวันเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดจริงๆ ในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะโดยนัยใดก็ตาม ล้วนแล้วเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของธรรมที่ไม่ใช่เราโดยตลอด รวมถึงอายตนะด้วย

อายตนะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สีที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย และสภาพธรรมที่รู้ได้ทางใจ ซึ่งใช้คำว่าธัมมายตนะทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง

คำบาลีซึ่งดูเหมือนจะยาก แต่ความจริงแล้วก็เป็นคำที่กล่าวถึงเป็นธรรมที่กำลังปรากฏทุกขณะในชีวิต ประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจนั่นเอง แต่เมื่อไม่มีการฟังให้เข้าใจ ก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตดำเนินไปทุกขณะ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ย่อมสามารถฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรองและเกิดความเข้าใจในธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ซึ่งการที่จะมีการฟังมีการศึกษาพระธรรม ก็เพราะเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างสิ้นเชิง แม้แต่ในขณะที่เห็นขณะหนึ่ง ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นนั้น ต้องมีสภาพธรรมที่ประชุมพร้อมกันในขณะนั้น ยังมีอยู่ ยังไม่ดับไป ได้แก่ มีจักขุปสาทะ เป็นจักขายตนะ อันเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ยังมีอยู่ มีรูปารมณ์ คือ สี ซึ่งยังไม่ดับ เป็นรูปายตนะ มีจักขุวิญญาณ เกิดขึ้นทำกิจเห็น ซึ่งเป็นมนายตนะ และในขณะที่จิตเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะจิตอย่างเดียว แต่จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเกิดพร้อมกันกับจิต ดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีทั้งรูปและนาม เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นจะขาดเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดใน ๗ ประเภทไม่ได้ เช่น ถ้าไม่มีผัสสะกระทบกับสี จิตเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมที่จะต้องอาศัยกันและกัน นี้คือ ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง เจตสิก ๗ ประเภทที่เกิดกับจักขุวิญญาณหรือจิตเห็น ได้แก่ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (สภาพธรรมที่รู้สึก) สัญญา (สภาพธรรมที่จำอารมณ์) เจตนา (สภาพธรรมที่จงใจขวนขวายให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันกระทำกิจสำเร็จลงไปตามสภาพฐานะของสภาพธรรมนั้นๆ) เอกัคคตา (สภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง) ชีวิตินทริยะ (สภาพธรรมที่รักษาสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และมนสิการะ (สภาพธรรมที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์) เจตสิก ก็เป็นธัมมายตนะ ทั้งหมด ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถพิจารณาในทางทวารอื่นๆ ได้ เช่น ขณะที่ได้ยิน ก็ต้องมีโสตปสาทะ ต้องมีเสียง ต้องมีจิตได้ยิน และก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังได้ยินนี้เอง เมื่อได้ฟังได้ศึกษาเรื่องอายตนะแล้ว ย่อมไม่สงสัยเลย เพราะเข้าถึงอรรถ เข้าใจความหมาย ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ชื่อ แต่สภาพธรรมในขณะที่ได้ยินนั้นเอง มีอะไรบ้าง? จิตได้ยิน เป็นมนายตนะ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตได้ยิน เป็นธัมมายตนะ และก็ต้องมีโสตปสาทรูป ขาดไม่ได้เลย เป็นโสตายตนะ และก็ต้องมีเสียงที่กำลังปรากฏตรงนั้น ประชุมอยู่ตรงนั้น เป็นสัททายตนะ ในเมื่อเสียงอื่นที่ไม่ได้ยิน ก็เกิดขึ้นแล้วดับไป โดยไม่เป็นอายตนะ เพราะฉะนั้น ก็สามารถค่อยๆ เข้าใจได้ เพราะความเป็นอายตนะ ก็คือสภาพธรรมที่ประชุมกัน ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะๆ เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องในอายตนะ ก็เป็นผู้ที่ฉลาดในอายตนะ ซึ่งก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกนั่นเอง ซึ่งจะต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อย

อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ