อยากฟังกับการเห็นประโยชน์ของการฟัง

 
เมตตา
วันที่  2 ก.พ. 2567
หมายเลข  47350
อ่าน  365

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 14

[๒๙๑] มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือ ทิฏฐิ กันดารคือ ทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือ ทิฏฐิ ความยึดถือความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น. คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด.ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่ความฉิบหายบ้าง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะ เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเองหรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น. มิจฉาทิฏฐินั้นมีการยึดถือมั่นโดยอุบายไม่แยบคายเป็นลักษณะ (อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา) มีความยึดมั่นผิดสภาวะเป็นรส (ปรามาสรสา) มีความยึดถือผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน (มิจฺฉาภินิเวสนปจฺจุฏฺฐานา) มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน (อริยานํ อทสฺสนกามตาทิปทฏฺฐานา) พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะ เป็นต้น มีความต่างกันเพียงบทว่า มิจฺฉา เท่านั้น. คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวในอธิการแห่งกุศลนั้นแหละ.


อ.อรรณพ: กราบท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงการละความเห็นผิด ผู้ที่จะละความเห็นผิดได้จริงๆ ก็คือพระโสดาบัน แต่ในวันนี้ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึง นี่แหละ คือการละความเห็นผิด กราบเท้าท่านอาจารย์ ได้กล่าวถึงการค่อยๆ ละความเห็นผิดจนกระทั่งถึงการละความเห็นผิดจนหมดจรดหมดสิ้นครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: หมดสิ้นหมายความว่าอะไร?

อ.อรรณพ: คือไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นอีกเลย

ท่านอาจารย์: แล้ววันนี้ ความเห็นผิด เยอะไหม?

อ.อรรณพ: ตราบใดที่ยังไม่ดับความเห็นผิด ก็ยังมีความเห็นผิดครับ ถ้าไม่มีโอกาสของความเห็นผิดเกิด ก็น้อยกว่าตอนที่ยังไม่ได้ฟังธรรมครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความละเอียดยิ่งของธรรมแต่ละหนึ่งขณะ ทรงแสดงว่า ขณะใดเห็นผิด ขณะใดไม่มีความเห็นผิด ขณะใดเริ่มเข้าใจธรรม ขณะใดเริ่มแม้เข้าใจแล้วก็ยังมีความเข้าใจผิดปิดกั้นได้ ตราบใดที่ความเข้าใจผิดยังไม่หมดสิ้นไป เห็นไหม ค่อยๆ ฟังไปทีละน้อยๆ ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ

อ.อรรณพ: ท่านอาจารย์สนทนากับ อ.ธนพล ก็เป็นประโยชน์ว่า ความเข้าใจอย่างนี้แหละ ค่อยๆ ละความเห็นผิด แม้ว่ายังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้ เพราะว่ากว่าจะดับความเห็นผิดถ้าไม่มีการละชั่วขณะที่เข้าใจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถนำไปสู่การละโดยไม่มีเหลือเลยความเห็นผิด นี่ก็คือเป็นประโยชน์จริงๆ ในชีวิตขณะที่เราสนทนานี่ก็ได้ประโยชน์ครับ

กราบเท้าท่านอาจารย์มากที่สนทนากับ อ.คำปั่น ว่า นี่แหละเป็นการละ และละนิดๆ หน่อยๆ ละนิดๆ หน่อยๆ อานิสงส์ของการละนิดๆ หน่อยๆ นี้ แม้จะต้องนานก็จะต้องนำไปสู่การละจริงๆ ได้ แต่ว่าความที่ยังมีโลภะ ความที่ยังมีอะไรต่ออะไรให้อยากจะละ ว่า เข้าใจแล้วว่าไม่ต้องไปทำอะไรที่ไหน แต่ก็อยากฟังธรรมเยอะๆ แล้วก็อยากที่จะละเพิ่มขึ้น ก็มีได้เรื่อยๆ ครับ

ท่านอาจารย์: อยากฟัง แล้วรู้ว่า ถ้าไม่ฟังไม่สามารถจะเข้าใจความละเอียดซึ่งเป็นจริง ที่จะทำให้ค่อยๆ คลายความไม่รู้ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต่างกันแล้วใช่ไหม?

อ.อรรณพ: ครับ ท่านอาจารย์ตอบโดยถามอย่างนี้ชัดเจนมากเลยว่า ความอยากที่จะฟัง อยาก เน้นที่ว่าอยากที่จะฟัง กับความเห็นประโยชน์ในการที่จะฟังที่จะคลายความอยากนี่ต่างกันครับท่านอาจารย์ อยาก กับการเห็นประโยชน์ อยากฟังกับเห็นประโยชน์ของการฟังต่างกัน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังเพียงเท่านี้ไม่สามารถที่จะละอะไรได้ แต่เริ่มรู้ว่า อะไรถูกอะไรผิด จนกว่าจะได้ฟังอีก ได้ฟังอีก จนกระทั่งมั่นคงที่จะเข้าใจความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งความลึกซึ้งที่ไม่สามารถจะประมาณได้ในขณะที่ยังไม่ถึง ต่างกันลิบลับ เห็นไหม สภาพธรรมกำลังเกิดดับ กับสภาพธรรมที่ไม่ได้ปรากฏการเกิดดับเลยทั้งๆ ที่ความจริงเกิดดับก็ไม่ปรากฏ เพราะมีเพียงเห็น แล้วอย่างอื่นล่ะ อะไรล่ะก็เป็นเรา จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ในหนทางที่ทั้งหมดจะเห็นคุณว่า เพียงเบื้องต้นก็ได้ยินคำที่แสนที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดในสังสารวัฏฏ์ คือรู้ว่าไม่ใช่เรา มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แค่นี้ค่ะ ถ้าปลูกฝังอย่างมั่นคง ก็จะมีการที่จะฟังแล้วเข้าใจว่า แม้แต่ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแค่คำว่า ละวาง ยังลึกซึ้งที่จะต้องไตร่ตรองจนกระทั่งถูกต้องในความไม่ใช่เรา

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

โสดาปัตติมรรคประหานทิฎฐิเป็นสมุจเฉท

ภิกษุอาศัยมิจฉัตตะ๑๐จึงพลาดจากสวรรค์และมรรคผล [มิจฉัตตสูตร]

ฟังธรรมตามกาล

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ต้องมีความรู้ขั้นฟังก่อน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 406

ร้อยรัดทั้งปวง เวลาที่ปรารถนาในธรรมนั้นจะล่วงเลยแม่ไปเสีย ลูกของตนเป็นที่รักในโลก ผัวของตนเป็นที่รักในโลก แต่ความปรารถนาในธรรมนั้น เป็นที่รักของแม่ยิ่งกว่าลูกและผัวนั้น เพราะลูกหรือผัวที่รัก พึงปลดเปลื้องจากทุกข์ไม่ได้ เหมือนการฟังธรรมย่อมปลดเปลื้องเหล่าสัตว์จากทุกข์ได้ ในเมื่อโลกอันทุกข์วงล้อมแล้ว ประกอบด้วยชราและมรณะ แม่ปรารถนาจะฟังธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เพื่อพ้นจากชราและมรณะ จงนิ่งเสียเถิดลูกปุนัพพสุ.

[๘๒๔] ปุนัพพสุพูดว่า

แม่จ๋า ฉันจักไม่พูด อุตราน้องสาวของฉันก็จักเป็นผู้นิ่ง เชิญแม่ฟังธรรมอย่างเดียว การฟังพระสัทธรรมนำความสุขมาให้ แม่จ๋า เราไม่รู้พระสัทธรรมจึงได้เที่ยวไปลำบาก พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เป็นผู้ทำความสว่างไสวแก่เทวดาและมนุษย์ผู้ลุ่มหลง มีพระสรีระครั้งสุดท้าย มีพระจักษุ แสดงธรรมอยู่.

[๘๒๕] ยักษิณีพูดว่า

น่าชื่นชมนัก ลูกผู้นอนบนอกของแม่เป็นคนฉลาด ลูกของแม่ย่อมรักใคร่พระธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ปุนัพพสุเจ้าจงมีความสุขเถิด วันนี้แม่เป็นผู้ย่างขึ้นไปในพระศาสนา แม่และเจ้าเห็นอริยสัจแล้ว แม้แม่อุตรก็จงฟังแม่.


กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 3 ก.พ. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 5 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ คุณเมตตาและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ