คุณจะทำอย่างไรค่ะ?
ขอกราบบูชาคุณพระรัตนตรัย
คุณจะทำอย่างไรคะ? ถ้าคุณมีของที่จะใส่บาตรพระสงฆ์ เป็นชุดสุดท้าย บังเอิญมีพระสงฆ์รูปหนึ่ง ที่คุณเคยเห็นความไม่สำรวมของท่าน จนรู้สึกไม่ค่อยนับถือ เดินผ่านมา
๑. คุณใส่บาตรตามปรกติ ทั้งที่จิตเป็นอกุศล
๒. คุณไม่ใส่ แต่กลับนำสิ่งของนั้น ไปให้คนยากไร้ (ถ้าเป็นของที่เก็บไม่ได้)
๓. เก็บของนั้นขึ้นไว้ ใส่ในวันต่อไป (กรณีที่ไม่ใช่อาหารสด คือเป็นหนังสือ..ของใช้..น้ำผลไม้กล่อง)
๔. ไม่ใส่เลย (กลับเข้าบ้านดีกว่า)
ขอรบกวนขอความเห็น ของทุกท่านด้วยค่ะ
ด้วยความขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
มีเจตนาที่จะใส่บาตรตั้งแต่แรกแล้ว ก็จะไม่เลิกล้มเจตนา ถึงแม้ว่าภิกษุ ผู้ถือบิณฑบาตรจะเป็นอลัชชี
การเป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ยังยาก
การใส่บาตรเพื่อรักษาสืบทอดศาสนา ให้อาหารที่สมควรแก่พระภิกษุค่ะ แต่ถ้าเป็นของไม่สมควรแก่พระภิกษุ ก็นำไปให้คนอื่น หรือคนจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเขามากกว่า อย่าลืมว่าทุกครั้งที่มีโอกาสทำความดี เป็นนาทีทองของชีวิตค่ะ
เคยประสบปัญหาเช่นนี้เหมือนกันค่ะ แต่ที่ใส่ จะเป็นอาหาร น้ำ และดอกไม้ ไม่ใช่ของใช้ โดยส่วนตัวแล้วจะไม่ใส่ คือทำเฉยๆ ไม่นิมนต์ท่าน แต่จะใส่ให้กับพระภิกษุรูปอื่นค่ะ เพราะจะได้ไม่รู้สึกเสียดาย เกิดจิตเป็นอกุศลในภายหลัง
ช่วงนี้ คุณ "แล้วเจอกัน" ป่วย นะครับ มิฉะนั้น ผมก็คงต้องให้ คุณแล้วเจอกัน หาพระสูตร เรื่องโคตรภูภิกษุ มาให้ คุณตุลา และเพื่อนสมาชิกได้อ่านกัน ไม่ทราบว่า จะเคยลงไว้ในหัวข้อไหน ที่ผ่านมาหรือเปล่า ผมยังไม่ได้ค้นในช่องค้นหาครับ ซึ่งพระสูตรนี้ จะกล่าวถึงในยุคที่ พระมีภรรยาและบุตร (เป็นเรื่องปกติของพระ ในกาลข้างหน้า) และเครื่องหมายแสดงความเป็นพระ ก็คือ ผ้ากาสาวะ พันคอ หรือห้อยติ่งหูเท่านั้น ในกาละนั้น ผู้ที่ถวายปัจจัยแก่พระ โดยน้อมนึกถึง พระรัตนตรัยจะได้รับอานิสงส์ (ผลของกุศลกรรม) หาประมาณมิได้ ข้อนี้จะเห็นถึงคุณของพระรัตนตรัยอย่างชัดเจน
ถ้าตอบเป็นข้อๆ ดังที่คุณตุลายกมา ถ้าเป็นผม ก็จะทำตามข้อ ๒ หรือ ๓ หรือข้อที่ ๔ (ไปทำตามข้อ 3) ถ้าจะทำตามข้อ ๑ ก็ได้ แต่ควรให้จิตเป็นกุศล (ซึ่งก็คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ว่า ขณะนั้นจะเป็นกุศลหรือไม่) โดยไม่ไปคิดถึง ความเป็นผู้ทุศีลของท่าน แต่น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย เช่น ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็เดินบิณฑบาตรแบบนี้ เห็นสีของผ้ากาสาวะ เป็นธงชัยของพระอรหันต์ หรือน้อมระลึกว่า แม้ว่าท่านจะทุศีลขนาดไหน แต่ศีลของท่าน ก็ยังมากกว่าของเรา เป็นต้น
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
คงเป็นอนัตตาจริงๆ แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคลว่า สะสมมาอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคตและการสะสม เหมือนบอกว่าจะให้สิ่งนี้ จำนวนเท่านี้ ถึงเวลาก็อาจจะไม่ให้ หรือให้มากกว่า หรือน้อยกว่า ที่สำคัญตามการสะสมของบุคคลนั้น แต่พระสงฆ์ ไม่ได้หมายถึงภิกษุบุคคล แต่เป็นพระอริยสงฆ์ ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของโลก ดังนั้น สงฆ์จริงๆ จึงไม่ทุศีลเลย เพราะหมายถึงพระอริยเจ้า แต่ตัวภิกษุต่างหาก ที่ทุศีล ดังนั้น การถวายแด่สงฆ์ ที่เป็นสังฆทาน เมื่อเราใส่บาตร ไม่ได้คิดที่จะถวายแด่พระภิกษุบุคคล แต่เราน้อมจิตไป ที่จะถวายแด่สงฆ์ที่เป็นสังฆรัตนะ พระอริยเจ้าดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจธรรม ว่าบุคคลนั้น เข้าใจถึงพระสงฆ์ว่าอย่างไร ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ แม้ถวายกับภิกษุ (โคตรภูภิกษุ) มีครอบครัวด้วย ทำการงานด้วยมีแต่เครื่องหมาย ที่ให้รู้ว่าเป็นภิกษุ เมื่อบุคคลน้อมจิตที่จะถวายแด่สงฆ์ ไม่ใช่ตัวภิกษุ ก็มีผลมาก เป็นสังฆทาน มีผลมากกว่าถวายเจาะจงแด่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ ขออนุโมทนา
ถ้าเป็นกระผมจะใส่เพื่อ:
๑. ถวายเพื่ออุทิศบูชาแด่สงฆ์ มิได้เจาะจงตัวบุคคล
๒. ถวายเพื่อขัดเกลากิเลสของตน อันได้แก่ ความตระหนี่และโทสะ (ความไม่พอใจที่เห็นอาการอันไม่สำรวม)
๓. อาการภายนอก บางครั้งไม่อาจบอกถึงคุณธรรมภายในจิตใจ ได้เสมอไป เพราะบางครั้ง เป็นวาสนาหรืออุปนิสัย ที่เคยชินในอดีตชาติ
๔. ไม่ควรดูหมิ่นความดีว่า จะมีประมาณน้อย เมื่อมีโอกาส ก็ควรจะรีบทำเพราะดีกว่าไม่ได้ทำ แม้การให้ทานครั้งนี้ ผู้รับอาจไม่บริสุทธิ์ แต่ใจของเราวัตถุทานของเรา ทำให้บริสุทธิ์ได้
การให้เป็นกุศลแน่นอน แต่จะรู้ได้จริงๆ ตลอดหรือว่าท่านสำรวมหรือไม่ ถ้าจะไม่ให้ก็เพราะเห็นว่าท่านแสดงอาการไม่สมควร พระพุทธองค์ ก็ไม่สนับสนุนพระแบบนี้ ก็ให้คนอื่นแทน
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เมื่อสงฆ์ สมมติภิกษุรูปหนึ่ง เป็นตัวแทนของสงฆ์แล้ว แม้พระรูปนั้นจะทุศีล แต่จิตก็น้อมถวายแด่ภิกษุรูปนั้นได้ แม้ทุศีล เพราะจิตมุ่งตรงต่อสงฆ์ถวาย มิใช่ภิกษุบุคคล ดังข้อความในพระไตรปิฏก ลองอ่านดูนะ
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...เป็นสังฆทานเพราะจิตน้อมแด่สงฆ์ [ทักขิณาวิภังคสูตร]
ควรพิจารณาสภาพจิตของท่านในขณะนั้นว่า...
ให้เพราะอะไร?
ไม่ให้เพราะอะไร?
ให้เพราะหวังผลของกุศลก็ได้ หรือให้ด้วยความไม่หวังผลก็ได้ ส่วนการไม่ให้เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ แต่การไม่ให้ส่วนใหญ่เป็นอกุศล การไม่ให้ที่เป็นกุศล เช่นการไม่ให้เงิน และทอง หรือของที่ไม่สมควรแก่พระภิกษุด้วยปัญญา