ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๕๑] กายทุกฺข

 
Sudhipong.U
วันที่  17 ก.พ. 2567
หมายเลข  47409
อ่าน  293

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กายทุกฺข

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

กายทุกฺข อ่านตามภาษาบาลีว่า กา - ยะ - ดุก - ขะ มาจากคำว่า กาย (กาย, กายปสาท ซึ่งเป็นรูปหยาบที่ซึมซาบอยู่ทั่วตัว) กับคำว่า ทุกฺข (ทนได้ยาก, ทุกข์, ไม่สบาย) รวมกันเป็น กายทุกฺข เขียนเป็นไทยได้ว่า กายทุกข์ หมายถึง ทุกข์อันเป็นไปทางกาย, ทุกข์ทางกาย

ตามความเป็นจริงแล้ว รูปธรรม เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ กาย ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นรูปธรรม จึงไม่เจ็บไม่ปวด แต่ที่เป็นความทุกข์หรือความไม่สบายที่เป็นไปทางกายนั้น ไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นสภาพรู้ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายหรือเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นไปทางกายนั่นเอง ตราบใดที่มีกาย ก็ยังเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ทางกายได้ เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครทำให้เลย แม้พระอรหันต์ผู้ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสแล้ว ไม่มีความทุกข์ใจ เพราะดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว แต่ยังมีทุกข์ทางกายได้ ตามข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน กรรมสูตร ดังนี้

จริงอยู่ ธรรมดาว่า พระขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะแล้ว, พระอรหันต์) ไม่มีทุกข์ทางใจ แต่ทุกข์ทางกาย ยังมีอยู่เหมือนกัน

ตัวอย่างของพระสาวกในอดีต แม้จะมีความทุกข์ทางกาย แต่เพราะมีปัญญาเข้าใจความจริง ก็ไม่เดือดร้อนใจ เป็นผู้ไม่ประมาท ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วท่านยังได้กล่าวคำที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งแก่ชนรุ่นหลังอีกด้วย ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา อุตติยเถรคาถา ดังนี้

พระอุตติยเถระ (พระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา) ได้กล่าวคาถานี้ว่า เมื่ออาพาธ (ความเจ็บป่วย) บังเกิดขึ้นแก่เรา สติก็เกิดขึ้นแก่เราว่า อาพาธเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เวลานี้ เป็นเวลาที่เราไม่ควรประมาท


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษานั้น แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมแต่ละอย่างๆ ได้เลย จะเห็นได้ว่า พระอริยสาวกผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ประจักษ์แจ้งสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ก็มีการกล่าวคำจริงตามที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง คำจริง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดกล่าว ก็เป็นคำจริงโดยตลอด ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

สิ่งที่มีจริง เป็นธรรมและมีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เพราะมีจริงๆ อยู่ทุกขณะ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็จะไม่มีทางเข้าใจความจริงได้เลย มืดมิดด้วยความไม่รู้มานานแสนนาน จนกว่าจะได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง แต่ละคำล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้แต่ทุกข์ทางกาย ก็เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ ผู้ศึกษาพระธรรมต้องทราบว่า ทุกข์ทางกาย เป็นทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย เป็นผลของอกุศลกรรมในอดีต ไม่มีใครทำให้เลย และควรจะได้พิจารณาว่า ทุกขเวทนาทางกาย เกิดขึ้นได้ เพราะมีกาย กล่าวคือ เมื่อมีรูปร่างกายแล้ว ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ เนื่องจากว่าร่างกายเป็นรังของโรค หรือแม้ไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ เพียงการกระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจทางกาย นั่นก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ทางกายแล้ว

ขณะที่ลักษณะอาการของทุกข์ทางกายเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยกายปสาทเป็นทวาร คือ เป็นทางที่รู้รูปที่กำลังกระทบสัมผัสกาย ซึ่งไม่น่าพอใจ เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีเราสักขณะเดียว บุคคลบางคนขณะใดที่มีทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ก็สามารถพิจารณารู้ลักษณะสภาพของนามธรรมที่กำลังประกอบด้วยความรู้สึกไม่สบายทางกาย ในขณะนั้นก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นเพียงชั่วขณะที่ต่างกับเห็น ต่างกับได้ยิน ต่างกับคิดนึก เพราะฉะนั้น บางคนแม้ว่ามีทุกข์ทางกายเกิดขึ้น แต่ว่าใจไม่ได้เป็นทุกข์ด้วย ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงสามารถมีความแช่มชื่นได้ ด้วยความเข้าใจความจริง แม้มีทุกข์ทางกายเกิดขึ้น เมื่อมีกาย ต้องมีทุกข์กายเป็นของธรรมดา จะผิดธรรมดาไม่ได้ เพียงแต่ว่าทุกข์นั้นจะมากหรือจะน้อย จะเกิดขึ้นช้า ยังไม่เกิดขณะนี้ แต่ต่อไปอาจจะเกิดก็ได้ โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่าทุกข์ระดับไหนจะเกิดเมื่อไหร่ เพราะเป็นธรรมที่ใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้

โดยความเป็นไปของผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ใจที่จะไม่เดือดร้อนกระสับกระส่าย เป็นทุกข์กระวนกระวายด้วยย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ทุกขเวทนาเกิด จะให้ใจเป็นสุขนั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก นอกจากจะเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ทุกข์ทางกาย ต้องมี มากหรือน้อยแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นถ้ายังแข็งแรงดีอยู่ ก็ยังไม่ค่อยจะรู้สึกว่า กายเป็นทุกข์เท่าไหร่แต่ว่าทางใจเดือดร้อนบ้างไหม แม้ว่าทางกายไม่ได้เป็นทุกข์ และในระหว่างทุกข์ทางกายกับทุกข์ใจแต่ละท่านก็จะสังเกตได้ว่า ท่านสามารถที่จะทนอย่างไหนได้มากกว่ากัน เพราะว่าบางคนอาจจะเป็นคนแข็งแรง ทุกข์กายทนได้ แต่พอถึงเรื่องทุกข์ใจ ทนไม่ได้เลย ก็ย่อมเป็น ไปได้ หรือสำหรับบางคนเป็นผู้ที่จิตใจเข้มแข็ง ไม่ค่อยจะหวั่นไหวเรื่องของทางใจ แต่ว่าพอถึงทางกาย เป็นผู้ที่ทนไม่ได้เลยต่อความไม่สบายทางกายก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่านจะสะสมมาอย่างไร

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนถึงพระอริยบุคคลทั้งหลาย ก็ไม่พ้นจากทุกข์กายอันเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย บุคคลผู้ที่มีทุกข์กาย แต่ไม่ทุกข์ใจนั้น มีอยู่อย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญญาแล้ว แม้บางครั้งบางคราว ไม่มีทุกข์กายเลย แต่ก็มีทุกข์ใจได้

สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แม้แต่ในขณะต่อไป ฉะนั้น ในแต่ละวันๆ ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ