พระวิหารเชตวันอันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัย
สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑
อนาถบิณฑิกสูตร
อนาถบิณฑิกเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า
" ... ก็พระเชตวันนี้ อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณพำนักอยู่ พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม วิชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม หาได้บริสุทธิ์ด้วย โคตร และ ทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็น ประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และอุปสมธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใด เป็นผู้ถึงซึ่งฝั่งคือ นิพพาน ภิกษุนั้น ก็พึงเทียบเท่า ท่านพระสารีบุตรนั้น" อนาถบิณฑิกเทวบุตร ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไป ในที่นั้นเอง
[เล่มที่ 9] พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๒๙
อนาถบิณฑิกคหบดีสร้างพระเชตวัน
[๒๕๖] สมัยนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเป็นคนมีมิตรสหายมาก มีวาจาควรเชื่อถือ ครั้นเสร็จกิจนั้นในเมืองราชคฤห์แล้ว กลับไปสู่พระนครสาวัตถี ได้ชักชวนชาวบ้านระหว่างทางว่า ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันสร้างอาราม จงช่วยกันสร้างวิหาร เริ่มบำเพ็ญทาน เพราะเวลานี้พระพุทธเจ้าอุบัติในโลกแล้ว อนึ่งพระองค์อันข้าพเจ้าได้นิมนต์แล้ว จักเสด็จมาโดยทางนี้
ครั้งนั้น ชาวบ้านเหล่านั้นที่อนาถบิณฑิกคหบดีชักชวนไว้ ต่างพากันสร้างอาราม สร้างวิหาร เริ่มบำเพ็ญทานแล้ว ครั้นอนาถบิณฑิกคหบดีไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว เที่ยวตรวจดูพระนครสาวัตถีโดยรอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าควรจะประทับอยู่ที่ไหนดีหนอซึ่งเป็นสถานที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จากหมู่บ้าน มีคมนาคมสะดวก ชาวบ้านบรรดาที่มีความประสงค์ไปมาได้ง่าย กลางวันมีคนน้อย กลางคืนเงียบ มีเสียงอึกทึกน้อยปราศจากกลิ่นไอของคน เป็นสถานควรแก่การประกอบกรรมในที่ลับของมนุษย์ชน สมควรเป็นที่หลีกเร้น
อนาถบิณฑิกคหบดีได้เห็นพระอุทยานของเจ้าเชตราชกุมารซึ่งเป็นสถานไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากหมู่บ้าน มีการคมนาคมสะดวก ชาวบ้านบรรดาที่มีความประสงค์ไปมาได้ง่าย กลางวันมีคนน้อย กลางคืนเงียบ มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากกลิ่นไอคน เป็นสถานควรแก่การประกอบกรรมในที่ลับของมนุษย์ชน สมควรเป็นที่หลีกเร้น
ครั้นแล้ว จึงเข้าเฝ้าเจ้าเชตราชกุมาร กราบทูลว่า ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงประทานพระอุทยานแก่เกล้ากระหม่อม เพื่อจัดสร้างพระอาราม พระเจ้าข้า เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่าท่านคหบดี อารามเราให้ไม่ได้ แต่ต้องซื้อด้วยลาดทรัพย์เป็นโกฏิ
อ.อรรณพ: ที่ อ.กุล ได้กล่าวด้วยความซาบซึ้งในการที่ได้มีโอกาสได้เข้าใจความจริง ได้ค่อยๆ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามกำลังของปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ วัดก็ไม่รู้จัก จะไปวัดก็ไม่รู้จักวัดว่า วัดคืออะไร แต่เมื่อได้ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เกิดความงาม คือปัญญาตั้งแต่เริ่มต้น อารามะ ที่มายินดีที่ อ.คำปั่นได้กล่าวข้อความ ๕ ประการ เพราะว่าต้องเป็นที่ที่มีพระภิกษุซึ่งเป็นผู้ที่ทรงพระวินัยมีความเข้าใจพระธรรม แล้วก็มีการที่จะกล่าวที่จะแสดงพระธรรมให้เข้าใจจึงเป็นที่มายินดี คือ ได้มาถึงแล้ว ได้มีโอกาสฟังพระธรรม
ถ้าเป็นสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ก็อาจจะได้ฟังจากพระโอษฐ์ หรือว่า ได้ฟังคำสนทนากับพระเถระทั้งหลายรวมทั้งอริยอุบาสก อริยอุบาสิกา ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลย
เพราะฉะนั้น อารามะ ที่มายินดีเมื่อยินดีที่สุด คือยินดีที่ได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ สนทนาอีกก็ซาบซึ้งนะครับ
ข้อความสั้นๆ ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เชตวนสูตร ที่ท่านอนาถปิณฑิกเทวบุตรได้มากราบทูลพระผู้มีพระภาค ส่วนแรกก็แสดงถึงความซาบซึ้งความปีติในอารามะ ก็คือพระเชตวันมหาวิหารที่ท่านอนาถปิณฑิกท่านได้สร้างถวายพระรัตนตรัย ไพเราะมาก และก็เป็นสาระที่ตรงกับที่ท่านอาจารย์ได้สนทนากับ อ.คำปั่น แล้วก็เห็นถึงคำกล่าวของพระอริยเจ้า คือท่านอนาถปิณฑิกเทวบุตร และผู้ที่ได้เคยสร้างพระเชตวันมหาวิหารไว้ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นอุบาสกในเมืองสาวัตถี ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้นอันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัย แค่นี้ก็ซาบซึ้งครับ อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัย เป็นที่อยู่ของผู้แสวงหาคุณอะไร? อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ และต่อไปท่านก็กล่าวถึงธรรม แต่แค่นี้ครับท่านอาจารย์ ที่ท่านชื่นชมพระเชตวันครับว่า เป็นที่ที่อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ นี่ครับเป็นความหมายของ อารามะ ที่ไพเราะมากครับท่านอาจารย์
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ฟังอย่างนี้ ไม่ได้เริ่มต้นที่จะรู้จัก วัด ในภาษาไทย หรืออารามะ ที่มายินดีในพระไตรปิฎกเลย นี่ก็ซาบซึ้ง และกราบเท้าขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่สุดเลยครับว่า ทำให้รู้จัก ค่อยๆ รู้จักในแต่ละคำ แม้คำว่า วัด ที่ท่านอาจารย์เริ่มเมื่อเช้านี้ครับ
ท่านอาจารย์: พระองค์ไม่ใช่ประทับเท่านั้นนะ ที่ประทับที่ทรงแสดงพระธรรมให้คนรู้ความจริง ซึ่งนำมาซึ่งความยินดีมหาศาล ต้องรู้เหตุผลด้วย
อ.อรรณพ: ท่านอาจารย์พูดนี่ซาบซึ้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ก็เพราะว่าได้ฟังอย่างนี้ สะสมอย่างนี้นับตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ยินได้ฟังท่านอาจารย์มาก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้แม้จะเดินทางไปถึงพระวิหารเชตวันก็ไม่รู้จักพระเชตวัน ไม่รู้จักพระเชตวันเลย ก็เพียงแต่ไปกราบนะครับ โดยที่ไม่รู้ว่ากราบอะไร กราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบพระคันธกุฎี กราบสถานที่ต่างๆ เหล่านี้นั้น แต่ว่าไม่รู้จักสิ่งที่เรากราบ แล้วจะกราบได้อย่างไร แต่เมื่อเข้าใจก็ซาบซึ้งทุกครั้งที่ไปที่พระวิหารเชตวัน โดยเฉพาะในครั้งก่อนที่ได้มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่นะครับ เราก็อ่านเมื่อกี๊นี้ให้เห็นข้อความในเชตวนสูตร อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นธรรมราชาประทับอยู่แล้ว และท่านอาจารย์ก็กล่าว ไม่ใช่ประทับอย่างเดียว ทรงแสดงพระธรรมเพื่อความยินดียิ่งในธรรมของผู้ฟัง
เพราะฉะนั้น ในสมัยนั้นพุทธบริษัททั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาได้มายินดี ณ พระวิหารนั้นนะครับ เพราะได้ยินดียิ่งที่ได้เข้าใจในความเป็นธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนท่านได้เกิดความงาม คือปัญญาตั้งแต่ระดับขั้นฟัง ขั้นรู้ตรงสิ่งที่กำลังปรากฏ จนแทงตลอดสภาพธรรมไป นี่ก็เป็นความปลาบปลื้มอย่างยิ่งครับ
ท่านอาจารย์: ถ้าได้มีความเข้าใจธรรม ที่เราจะกล่าว ก็นำมาซึ่งความยินดีใช่ไหม?
อ.อรรณพ: ใช่ครับ
ขอเชิญอ่านได้ที่ ...
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายพระวิหารพระเชวัน
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ