หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

 
เมตตา
วันที่  29 ก.พ. 2567
หมายเลข  47552
อ่าน  338

ที่สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 445

๘. โลกสูตร

พระตถาคตเป็นอริยะในโลกทั้งปวง

[๑๗๐๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ตถาคตเป็นอริยะในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบโลกสูตรที่ ๘

อรรถกถาโลกสูตร

พึงทราบอธิบายในโลกสูตรที่ ๘.

คำว่า ตถาคโต อริโย ตสฺมา อริยสจฺจานิ ความว่า อริยสัจทั้งหลายนั้น ชื่อว่า เป็นของพระอริยะ. เพราะพระตถาคตผู้พระอริยะ ทรงแทงตลอดและแสดงแล้ว เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อริยสัจ เพราะเป็นความจริงของพระอริยะ.

จบอรรถกถาโลกสูตรที่ ๘


[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 255

เถรวรรคที่ ๔

๑. วาหุนสูตร

ว่าด้วยพระตถาคตสลัดออกจากธรรม ๑๐ ประการ ชื่อว่ามีพระทัยปราศจากแดนกิเลส

[๘๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ใกล้จัมปานคร ครั้งนั้นแล ท่านพระวาหุนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตสลัดออก ปราศจาก หลุดพ้นจากธรรมเท่าไรหนอ จึงชื่อว่ามีพระทัยปราศจากแดนกิเลสอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนวาหุนะ พระตถาคตสลัดออก ปราศจาก หลุดพ้นจากธรรม ๑๐ ประการแล จึงชื่อว่ามีพระทัยปราศจากแดนกิเลสอยู่ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือพระตถาคตสลัดออก ปราศจาก หลุดพ้นจากรูป ๑ จากเวทนา ๑ จากสัญญา ๑ จากสังขาร ๑ จากวิญญาณ ๑ จากชาติ ๑ จากชรา ๑ จากมรณะ ๑ จากทุกข์ ๑ จากกิเลส ๑ จึงชื่อว่ามีพระทัยปราศจากแดนกิเลสอยู่ ดูก่อนวาหุนะ พระตถาคตสลัดออก ปราศจาก หลุดพ้นจากธรรม ๑๐ ประการนี้แล จึงชื่อว่ามีพระทัยปราศจากแดนกิเลสอยู่ เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม หรือดอกปุณฑริก ที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นแล้วจากน้ำ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยน้ำตั้งอยู่ฉะนั้น.

จบวาหุนสูตรที่ ๑


[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า 2 - 3

ปรมัตถโชติกา

อรรถกถาขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ

คำปรารภพระคัมภีร์

นิเทศนี้ว่า

ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ

ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

แม้วาระที่ ๒ ที่ ๓ ก็เหมือนกัน เป็นนิเทศอธิบายเรื่องการถึงพระสรณตรัย เป็นข้อต้นของคัมภีร์ขุททกปาฐะ.

บัดนี้ เพื่อเปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งบาลีนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวอธิบายข้อนี้ ด้วยอรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อว่าปรมัตถโชติกา

ข้าพเจ้าไหว้พระรัตนตรัย ที่สูงสุดแห่งวัตถุทั้งหลายที่ควรไหว้แล้ว จักทำการพรรณนาความแห่งขุททกปาฐะ การพรรณนานี้อันข้าพเจ้าผู้รู้พระศาสนาน้อยทำได้ยากยิ่ง เพราะขุททกปาฐะ มีอรรถลึกซึ้งก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น เพราะเหตุที่ข้อวินิจฉัยของท่านบุรพาจารย์ยังมีอยู่เป็นนิตย์ถึงวันนี้ และนวังคสัตถุศาสน์ยังดำรงอยู่อย่างเดิม ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะอาศัยนวังคสัตถุศาสน์และข้อวินิจฉัยของบุรพาจารย์นี้จึงปรารถนาจะพรรณนาความด้วยความเคารพอย่างมากในพระสัทธธรรม ไม่ไช่ประสงค์จะยกตนข่มท่าน ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจ สดับการพรรณนาความนั้น เทอญ.


อ.อรรณพ: ก็เป็นประโยชน์ให้ได้คิดให้ได้ไตร่ตรอง แล้วก็มีความละเอียด แล้วก็ตรงต่อความจริง ความลึกซึ้ง แม้คำว่า วัด อารามะ คืออะไร? แปลได้อย่างเดียวก็ไม่พอ เป็นที่มายินดี ยินดีแบบไหน ยินดีแบบที่ อ.ชุมพร ยกตัวอย่าง ยินดีที่วัดสวยงาม วัดนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว วัดนี้มีข้าวของให้เราได้ซื้อ มีตลาดนัด ไปซื้อของที่วัดนี้ครบหมดเลยครบวงจร เดี๋ยวนี้มีบริการแบบครบวงจรมีทุกอย่างหมดเลย เป็นตลาดนัด ตลาดสด แล้วก็มีอะไรต่ออะไรย่อมๆ ก็ไม่ย่อมนะ เต็มเลย ยินดีไหม เป็นที่มายินดี เป็นอารามะไหม หรือว่าหนักกว่านั้นหน่อย คือยินดีด้วยความเห็นผิดที่ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ไปทำจดจ้อง ให้ไปอะไรนะครับในที่เรียกว่าเป็นอารามะ

ท่านอาจารย์กล่าวไพเราะมากว่า เป็นที่มายินดี ยินดีที่ได้ฟังคำจริง เข้าใจความจริง เพราะว่า อาราม นี่ ตั้งแต่พระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็น อารามะ เป็นที่มายินดี ยินดีที่ได้เข้าใจความจริง ปลาบปลื้มที่สุดที่ได้เข้าใจ เป็นที่ปีติของทุกท่าน โดยเฉพาะท่านอนาถปิณฑิกเทวบุตรท่านต้องปลาบปลื้มที่สุด ปีติ เพราะเป็นที่อยู่ของท่านผู้แสวงคุณ ไม่ใช่แสวงโทษ แสวงโทษไหมว่านี่เอาวัดมาเป็นสถานที่ต่างๆ แสวงโทษหรือแสวงคุณ แสวงคุณก็คือเห็นประโยชน์ของการที่จะรักษาพระวินัย ศึกษาพระธรรมวินัย ดำรงพระศาสนา แล้วก็มาเป็นที่ยินดีของผู้ที่ได้เข้าไป แล้วก็มีโอกาสได้เข้าใจความจริงเหมือนพระอารามในสมัยพุทธกาล และสมัยก่อนๆ โน้นที่ผู้ที่ได้เข้าใจบางท่าน มากมายที่ท่านได้เป็นพระอริยบุคคล มากมายที่ท่านตั้งอยู่ในสรณคมน์เป็นที่มายินดี

อ.ณภัทธ: ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวไว้บ่อยๆ ว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง? เวลาสนทนาตามที่ต่างๆ ก็จะกล่าวถามท่านผู้ฟัง รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง แล้วพระองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไร แค่สองประโยคนี้ครับ ก็เป็นสองประโยคที่ยาก ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่รู้จักโดยง่าย เพียงอ่านพุทธประวัติ หรือว่าอ่านว่า พระองค์ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ เป็นต้น แต่ความลึกซึ้งของพระธรรม จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต่อเมื่อเข้าใจใน คำ ที่พระองค์ทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้น พระองค์ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณที่หมดจรดจากกิเลส แล้วก็มีพระมหากรุณาคุณที่จะแสดงพระธรรมแก่สัตว์โลก พอเห็นว่าสัตว์โลกถ้าไม่ฟังพระธรรม ที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น พระคุณสูงสุดที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ว่า พระคุณสูงสุดในสังสารวัฏฏ์ จะมีไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ฟังแล้วเกิดความเข้าใจในคำของพระองค์ แม้ส่วนตัวกระผมนี่ครับ จะได้ฟังแล้ว ก็เข้าใจเพียงเล็กน้อยถ้าเทียบกับปัญญาของพระองค์ก็เทียบกันไม่ได้ เพราะว่า พระธรรมที่ทรงแสดงก็เปรียบเหมือนกับใบประดู่ลาย ๒ - ๓ ใบในกำมือ แต่พระปัญญาของพระองค์ก็มากกว่าใบไม้ในป่าใหญ่ ดังนั้น นี่เป็นแค่เพียงอุปมาที่จะให้เห็นว่า พระปัญญาของพระองค์ไม่มีใครทราบ ที่จะคิดได้ แต่ว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่จะนำมาแสดง เพื่อให้บุคคลที่มีโอกาสที่สะสมมา ที่จะฟังแล้วเกิดความเข้าใจก็เป็นพระคุณมากเกินประมาณที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวมา ดังนั้น ส่วนตัวกระผมก็ต้องกล่าวว่า การที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ครับ ไม่ใช่แค่เพียงอ่านหนังสือที่กล่าวไปช่วงต้น แต่ว่าต้องอาศัยผู้ที่มีความเข้าใจ ก็คือท่านอาจารย์ ที่จะให้ความเข้าใจในความลึกซึ้งของแต่ละคำของพระองค์ซึ่งตรงนี้ครับ ถ้าไม่มีท่านอาจารย์ที่จะให้ความเข้าใจให้กระจ่าง ให้ชัดเจนในแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระผมเองก็คงไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แล้วก็ส่วนตัวที่คิดว่า พระคุณอันมากมายเกินประมาณ ก็คือว่า ทำให้รู้ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรม ชีวิตที่มีอยู่ก็เพื่อค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่มี เพราะเหตุว่า สิ่งที่มี ก็มี แต่ว่าไม่รู้มานาน และก็ยึดถือสิ่งที่มีว่าเป็นเรา เป็นของของเรา ดังนั้น ประโยชน์มหาศาลที่ได้จากการฟัง ก็คือว่า แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ค่อยๆ เข้าใจว่า มีชีวิตอยู่เพื่อค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มี เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีมานาน

ดังนั้น ก็จะขอกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งครับ ก็ไม่ได้จะกราบยกย่องท่านอาจารย์ครับ แต่ว่าความเป็นจริงก็คืออย่างนั้น ถ้าไม่ได้พบไม่ได้ฟังพระธรรมที่ท่านอาจารย์แสดง ก็คงไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอนครับ ก็กราบเท้าท่านอาจารย์อีกครั้งครับ

ท่านอาจารย์: ก็ยินดีอย่างยิ่งในกุศลของคุณณภัทธที่ได้เข้าใจถูกต้อง เป็นบารมีที่จะนำไปสู่การประจักษ์แจ้งธรรม เพราะเหตุว่า อริยสัจจะลึกซึ้งทั้ง ๔ รวมถึงหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะนี้ด้วย

อ.ณภัทธ: ครับ ท่านอาจารย์

อ.อรรณพ: เป็นพรอันประเสริฐมากนะครับ อ.ณภัทธ ได้ยินคำอันเป็นพรอันประเสริฐแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ อ.ณภัทธ

อ.ณภัทธ: ก็ต้องเรียน อ.อรรณพว่า ทุกครั้งที่กล่าวถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าพระคุณของท่านอาจารย์ ผมก็มักจะตื้นตันครับ บางทีก็จะ ... (เสียงสั่น) ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยครับ ก็รู้สึกยินดี ยินดีอย่างเดียวครับ

อ.อรรณพ: แม้นี้ คือความยินดีในธรรมนะครับ ของผู้ที่เกิดในยุคนี้แล้วก็ได้ยินได้ฟังพระธรรมจากผู้ที่กล่าวตามพระตถาคต เราก็มีความยินดีในธรรม และถ้าเข้าใจมากขึ้น งามมากขึ้นๆ ความยินดีในธรรมจะมากขึ้นขนาดไหน

เพราะฉะนั้น ความยินดีในธรรมจึงชนะความยินดีทั้งปวง เลิกที่จะไปยินดีในตลาดนัดในวัด เลิกที่จะไปยินดีในพระเครื่องที่วางขายในวัด เลิกยินดีในความไปจดจ้อง เข้าใจผิดคิดว่า จะบรรลุธรรมได้ ไปนั่งจดจ้อง แต่ ได้ฟังคำจริงความจริงซึ่งเป็นคำที่ทำให้งาม คือแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ครับคุณค่าที่สุด และจะเป็นชีวิตที่เป็นประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่นนะครับ ก็คือการที่มีความเข้าใจธรรม และความเข้าใจที่งามก็เป็นไปในกาย วาจา และใจที่งามที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ในคลิปที่ อ.วิชัย นำมาสนทนาเมื่อวานครับ กายงาม วาจางาม ใจงาม เพราะความเข้าใจที่งาม ก็ไม่เช่นนั้น ชีวิตมีแต่ความไม่งาม มีแต่ขยะ มีแต่ขยะครับท่านอาจารย์ เยอะเยะไปหมด เดี๋ยวนี้ก็เยอะนะครับ แต่ก็ยังพอที่จะมีความงามบ้าง.

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

พระตถาคต มีพระวาจาที่แท้จริง

ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศเป็นของยาก [ทุติยฉิคคฬสูตร]

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ