พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้

 
nattawan
วันที่  1 มี.ค. 2567
หมายเลข  47556
อ่าน  170

พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้ บัณฑิตเท่านั้นที่จะรู้ได้เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ และไม่น้อมพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเพราะพระองค์ได้เกิดพระปริวิตก ว่าธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นลึกซึ้ง ยากที่ใครที่จะรู้ได้พระองค์ทรงอุปมาประการต่างๆ ดังอุปมาที่ว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เห็นได้ยากเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดถูกภูเขาบังไว้ ซึ่งดังเช่นที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวไว้ว่า เปรียบดังภูเขาบังเส้นผม ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เปรียบเหมือนเส้นผมที่มีเป็นปรกติในชีวิตประจำวันแต่ถูกภูเขาคืออวิชชาปกปิดไว้ไม่ให้รู้ความจริงในขณะนี้ อวิชชาเปรียบเหมือนภูเขาใหญ่ หากไม่ใช่ปัญญาแล้วก็ไม่มีทางรู้ความจริงในขณะนี้ที่เป็นเพียงเส้นผมที่มีปกติในชีวิตประจำวันเลย เมล็ดพันธุ์ผักกาด ถูกภูเขาบังไว้ เมล็ดพันธุ์ผักกาดคือสัจจธรรมความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา แต่ถูก ภูเขาคืออวิชชาปิดบังไว้ไม่ให้รู้ความจริง จึงยากที่จะรู้ความจริงๆ ได้เพราะอวิชชาปิดบังไว้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 119
พึงทราบว่า ทรงน้อมพระทัยไปอย่างนั้น แม้ด้วยอานุภาพการพิจารณาความที่ธรรมลึกซึ้งว่า ธรรมนี้ลึกซึ้งเหมือนลำน้ำรองแผ่นดิน เห็นได้ยากเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดถูกภูเขาบังไว้ แทงตลอดได้ยาก เหมือนเอาปลายต่อปลายแห่งขนทรายที่แยกออก ๗ ส่วน

ยินดีในความดีของทุกท่านค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 1 มี.ค. 2567

จากหนังสือ ...

บทบาท อ.สุจินต์ ในการเผยแผ่พุทธธรรม

โดย พระธนนาถ นิธิปญฺโญ

ลองจับด้ามมีด เมื่อจับนานๆ เข้า ด้ามมีดจะสึกเพราะการจับ แต่ขณะที่จับครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ร้อยที่พัน ไม่เห็นด้ามมีดสึกเลย ต่อเมื่อไหร่ที่ด้ามมีดสึกแล้ว เมื่อนั้นจึงจะรู้สึกว่าสึกเพราะการจับ อวิชชาความไม่รู้ หรือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ที่จะค่อยๆ คลาย ค่อยๆ หมดไปได้ เพราะสติระลึกแล้วระลึกอีก จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ขึ้นเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับความเห็นผิด ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ต้องคิดถึงความอดทนของคนจับด้ามมีด ถ้าไม่อดทน จับสักร้อยปีด้ามมีดอาจจะยังไม่สึกก็ได้ แต่จับต่อไปอีก วันหนึ่งก็ต้องสึกได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 1 มี.ค. 2567

เหตุที่ทำให้ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยา ๖ ปี

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้าที่ 876

... เราชื่อว่า โชติปาละ ได้กล่าวกะพระสุคตเจ้าพระนามว่า กัสสปะในกาลนั้นว่า จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณ ท่านได้ยากอย่างยิ่ง. ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราได้ประพฤติกรรมที่ทำได้ยาก มาก (ทุกกรกิริยา) ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตลอด ๖ ปี แต่ นั้น จึงได้บรรลุโพธิญาณ. แต่เราก็มิได้บรรลุโพธิญาณอันสูงสุดด้วยหนทางนี้ เรา อันบุรพกรรมตักเตือนแล้ว จึงแสวงหาโพธิญาณโดยทางที่ผิด. (บัดนี้) เราเป็นผู้สิ้นบาปและบุญ เว้นจากความเร่าร้อน ทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่คับแค้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน. พระชินเจ้าทรงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวงแล้ว ทรง พยากรณ์โดยทรงหวังประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์ ที่สระใหญ่ ชื่อว่า อโนดาต ด้วยประการฉะนี้.

Photo cr. Buddhism-Path To Peace

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 1 มี.ค. 2567

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่าอจินไตย ๔ คืออะไรบ้าง คือ
พุทธวิสัยแห่งพระพุทธทั้งหลาย เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ๑
ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ๑
วิบากแห่งกรรม เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ๑
โลกจินดา (ความคิดในเรื่องของโลก) เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล อจินไตย ๔ ไม่ควรคิด
พุทธวิสัย
เป็นการคิดหาโดยไม่ทราบเหตุที่มา แท้จริงของการเป็นพระพุทธเจ้า หรือ อานุภาพ พุทธคุณ มี สัพพัญญุตญาณ เป็นต้น
ฌานวิสัย
เป็นการคิดหาโดยไม่ทราบเหตุที่มาแท้จริงของฌาน ในวิสัยของผู้อบรมความสงบจิต จนถึง รูปฌาน อรูปฌาน อภิญญาจิต แสดงอิทธิฤทธิ์ได้ หรือมีจิตระดับสูงกว่าขั้นกาม ที่ไม่รู้กามารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เป็นต้น
กรรมวิบาก
คือความคิดเรื่องของวิบากของกรรม มีกรรมที่จะให้ผลในปัจจุบัน เป็นต้น เช่น การคิด เรื่องคนนั้นที่ได้รับผลกรรมนั้นเพราะทำอย่างนั้นด้วยวิสัยตน
โลกจินตา
คือ ความคิดเรื่องโลก ได้แก่ ใครเป็นคนสร้างดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ แผ่นดินเป็นต้น เพราะ แม้คิดด้วยวิสัยตนก็ไม่ได้คำตอบ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ