ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๕๔] มนสิการ

 
Sudhipong.U
วันที่  6 มี.ค. 2567
หมายเลข  47581
อ่าน  199

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มนสิการ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

มนสิการ อ่านตามภาษาบาลีว่า มะ - นะ - สิ - กา - ระ มาจากคำว่า มนสิ (ในใจ) กับคำว่า การ (กระทำ) รวมกันเป็น มนสิการ แปลว่า กระทำไว้ในใจ หรือ ใส่ใจ เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่งที่มีในทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น เพราะมนสิการเป็นเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) ประเภทหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท เมื่อจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์เกิดขึ้นขณะใด มนสิการก็เกิดพร้อมกับจิตขณะนั้นใส่ใจในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้แจ้งในขณะนั้นด้วย มนสิการ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี ได้อธิบายความเป็นจริงของมนสิการไว้ดังนี้

มนสิการ ที่ทำจิตให้รับอารมณ์ ชื่อว่า มนสิการ เพราะกระทำไว้ในใจ มนสิการ ที่ทำจิตให้รับอารมณ์นั้น มีการทำสัมปยุตตธรรม (ธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกัน) ให้รับอารมณ์เป็นลักษณะ มีการประกอบสัมปยุตตธรรมทั้งหลายไว้ด้วยอารมณ์ เป็นรส (กิจหน้าที่) มีการมุ่งต่ออารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ) นับเนื่องด้วยสังขารขันธ์ และมีอารมณ์เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด) พึงเห็นเหมือนสารถี เพราะยังสัมปยุตตธรรมให้ดำเนินไปในอารมณ์


ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย ก็ต้องตั้งต้นตั้งแต่คำแรกที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยตลอด นั่นก็คือ คำว่าธรรม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งที่มีจริงนั้นคืออะไร? คือ ขณะนี้หรือไม่ที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก ขณะที่เป็นกุศล ความดีงามเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตา ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น หรือ ในทางตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ ตลอดจนถึงสภาพธรรมที่ไม่ดีประการอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่มีจริงที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรมก็มีจริงๆ เช่น สี มีจริง เสียงมีจริง กลิ่นมีจริง เป็นต้น เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย ยิ่งถ้าได้สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งจะมั่นคงว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น คือ ขณะนี้ที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมนั่นเอง

ธรรมเป็นเรื่องที่ยากละเอียด ลึกซึ้ง เพราะถ้าธรรมง่าย ก็คงไม่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าใครๆ ก็ย่อมสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้เอง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะธรรม ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงซึ่งเกิดจากการทรงตรัสรู้ของพระองค์ จึงจะสามารถเข้าใจถูกตามความเป็นจริงได้ จะเห็นได้ว่าธรรมแม้ที่กำลังมีในขณะนี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตาย มองหาธรรมไม่เจอว่าธรรมอยู่ที่ไหน เพราะไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาจากคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว

ธรรมมีจริงทุกขณะในชีวิตประจำวัน แม้มนสิการ ก็มีจริง มีจริงในทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น มนสิการ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะ จิตรู้อารมณ์ใด มนสิการก็ใส่ใจในอารมณ์นั้น และเป็นสภาพธรรมที่ยังสภาพธรรมที่ร่วมกันในขณะนั้นให้ดำเนินไปในอารมณ์ มนสิการเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ เกิดร่วมกับจิตทุกชาติเลย แม้ในขณะที่มีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้นเป็นไป ก็มีมนสิการเกิดร่วมด้วย แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่มีเราสักขณะเดียว ประโยชน์ของการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และสิ่งที่จะศึกษาให้เข้าใจนั้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากธรรมเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยการใส่ใจอย่างดียิ่งในคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว

กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีการเกิดขึ้น มีการปรากฏ แล้วก็ดับไป ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครเพียงฟังเดี๋ยวนี้แล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะจริงๆ ของธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องยากแน่นอน ไม่ใช่เรื่องที่เพียงฟังวันนี้แล้วทุกคนก็จะเห็นว่าเป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เราอีกต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ