พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงเพียงว่าอะไรมีจริง

 
เมตตา
วันที่  8 มี.ค. 2567
หมายเลข  47592
อ่าน  341

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 470

มีอธิบายอย่างไร มีอธิบายว่า แม้เชื่อธรรมนั้นแล้ว เข้าไปหาพระอาจารย์และอุปัชฌาย์ตามกาล เข้าไปนั่งใกล้ด้วยการทำวัตร ในกาลใด พระอาจารย์และอุปัชฌาย์มีจิตอันการเข้าไปนั่งใกล้ให้ยินดีแล้ว ประสงค์จะกล่าวคำไรๆ ในกาลนั้น ก็เงี่ยโสต ด้วยความเป็นผู้ใคร่จะฟังอันถึงแล้วฟังอยู่ย่อมได้ปัญญา ก็แม้ฟังอยู่ด้วยดีอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท ด้วยการไม่อยู่ปราศจากสติ และมีปัญญาเครื่องสอดส่อง ด้วยความเป็นผู้รู้สุภาษิตและทุภาษิตนั่นแล ย่อมได้ปัญญา บุคคลนอกนี้ ย่อมไม่ได้ปัญญา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง เพราะบุคคลปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ด้วยศรัทธาอย่างนี้แล้ว ฟังอุบายอันเป็นเครื่องบรรลุปัญญา ด้วยการฟังด้วยดี คือ โดยเคารพ ไม่หลงลืมสิ่งถือเอาแล้ว ด้วยความไม่ประมาท และถือเอาสิ่งไม่หย่อน ไม่เกินและไม่ผิด ด้วยความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ย่อมกระทำให้กว้างขวางหรือ เงี่ยโสตลง ด้วยการฟังด้วยดี ย่อมฟังธรรมอันเป็นเหตุได้เฉพาะซึ่งปัญญา

ครั้นฟังด้วยความไม่ประมาทแล้วย่อมทรงธรรม ย่อมใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมทั้งหลายที่ทรงจำด้วยความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ในลำดับนั้น ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถ์ โดยลำดับ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกอาฬวกยักษ์ทูลถามว่า บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร


อาฬวกสูตร อาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา

ข้อความบางตอน ...

[๘๔๐] อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า

อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด.

[๘๔๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ศรัทธาเป็นทรัพย์ อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์แลเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด.


ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเกิดขึ้นตามตามลำดับโดยอย่างไร?

อ.ธนากร: ต้องฟังเพิ่มขึ้น แล้วก็มีการพิจารณาไตร่ตรองความละเอียดลึกซึ้งของสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ครับ

ท่านอาจารย์: ว่าอย่างไร?

อ.ธนากร: ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เราเลยครับ แต่ว่ามีภาวะลักษณะของความเป็นสิ่งนั้นที่ความละเอียด ก็คือพระธรรมทรงแสดงโดยนัยต่างๆ อย่าง เห็น ในขณะนี้ เป็นต้นครับ

ท่านอาจารย์: ก็ฟังต่อไป เข้าใจโดยนัยต่างๆ พอไหม?

อ.ธนากร: ไม่พอเลยครับ

ท่านอาจารย์: แล้วพระองค์ตรัสให้เข้าใจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? จากการที่รู้ว่า ไม่พอ เข้าใจยังไม่พอ พระองค์ตรัสต่อไปเพิ่มขึ้นว่าอย่างไร?

อ.ธนากร: ผมเข้าใจว่า ความละเอียดลึกซึ้งก็มีมาก แต่ว่าที่ลึกซึ้งที่สุด ก็คือถึงแม้ว่าจะมีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายเหมือนจะรู้เรื่อง ก็คือว่ามีเรื่องที่รับรู้แต่ว่ายังไม่ได้เข้าใจสิ่งที่มีขณะนี้จริงๆ ครับ ก็มีการพิจารณาถึงสิ่งที่มีในขณะนี้กับ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ ซึ่งก็มีหลากหลายนัยมากครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คำของพระองค์เป็นคำจริง ซึ่งทุกคนไม่ปฏิเสธ แต่ว่ายังไม่ถึงการประจักษ์แจ้งจนมั่นคงถึงที่สุดว่า ทุกคำที่ได้ฟังเป็นความจริงเพราะได้ประจักษ์แล้วตามที่พระองค์ตรัส ถูกต้องไหม? นี่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความเข้าใจมั่นคงขึ้นไม่เปลี่ยน แต่ว่ายังไม่รู้พอที่จะเป็นปย่างที่พูด ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา เป็นธรรม

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงเพียงว่า อะไรมีจริง แต่ทรงแสดงหนทางที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริงด้วย มิเช่นนั้น ไร้ประโยชน์ใช่ไหม? รู้ว่าจริงแล้วอย่างไรล่ะ ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งเลย แต่รู้ว่าจริง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จริงสามารถจะรู้ได้ด้วยการประจักษ์แจ้ง แต่ไม่ใช่ไม่เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นในพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่ลึกซึ้ง

ก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงธรรม พระองค์ตรัสว่า ดูกร ภิกษุ จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว เตือนไหม?

อ.ธนากร: เตือนอย่างยิ่งเลยครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น กำลังใส่ใจดีกันหรือเปล่า?

อ.ธนากร: ยังไม่ดีครับ

ท่านอาจารย์: แต่ละคำลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความลึกซึ้งทั้งหมดว่า ลึกซึ้งจนกระทั่งไม่สงสัยเลยว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่เดี๋ยวนี้ เราเห็น เราคิด เราจำ ยังไม่รู้แต่ละหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา เพราะเป็นอะไร?

เพราะฉะนั้น รู้ได้แต่ไม่ใช่ด้วยการที่ไม่ฟังต่อไป ไม่เข้าใจความจริงแล้วจะรู้ความจริงจนกระทั่งประจักษ์แจ้งไม่ได้

เพราะฉะนั้น การฟังเป็นบารมีที่มั่นคงแล้วยังว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา อธิษฐานบารมี เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เราเห็น จนกว่าจะไม่ใช่เราที่เห็น สามารถประจักษ์ความจริงว่า พระองค์ทรงแสดง เห็น เดี๋ยวนี้ เป็นจริงอย่างไร ไม่ใช่เราอย่างไร ซึ่งสามารถจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนค่อยๆ เพิ่มความมั่นคงจนสามารถจะเข้าใจความจริงได้ตามลำดับในขณะนี้

นี่กำลังกล่าวถึง ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธะ หรือเปล่า? เห็นไหม เราไม่ต้องใช้ชื่อเลย แต่เมื่อมีความเข้าใจตามความเป็นจริง ก็คือว่าขั้นฟังเข้าใจขึ้น มั่นคงขึ้น นี่แหละเป็นหนทางที่จะถึงการประจักษ์แจ้งธรรม แต่ถ้าไม่มีการเข้าใจอย่างนี้ แล้วทำอย่างไรล่ะถึงจะประจักษ์แจ้งในความลึกซึ้งที่ฟังอย่างนี้ แต่ยังไม่ประจักษ์ ฟังเท่าไหร่ก็ยังไม่ประจักษ์จนกว่าปัญญาจะเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนั้น ความรู้ความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีขณะนี้มากน้อยแค่ไหน พอไหมที่จะประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่รีบร้อนจะไปประจักษ์แจ้ง มิเช่นนั้น ไม่ได้ใส่ใจให้ดีในการฟังพระธรรม.

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ไม่ฟังด้วยดี มีอันตราย

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องตรงกัน

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 9 มี.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 9 มี.ค. 2567

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ