Thai-Hindi 09 Mar 2024
Thai-Hindi 09 Mar 2024
- (คุณอาช่าพูดถึงการสนทนาธรรมที่เวียดนาม เมื่อวานนี้ท่านอาจารย์เอ่ยถึงความสำคัญของศรัทธาและพูดถึงศรัทธาเป็นคุณธรรมหนึ่งในเจ็ด) ไม่ใช่เลยค่ะ ขอโทษต้องฟังดีๆ ไม่ได้พูดถึง “ศรัทธา” แต่พูดถึง “สัทธรรม” ไม่ใช่ศรัทธาเจตสิก
- (วันนี้สนทนาเรื่องนี้แล้วก็สนทนาเรื่องนี้เลยดีไหม) สนทนาให้เขาเข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ดีที่สุด อย่าลืม เราไม่เข้าใจอะไรที่กำลังมีที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เลย แต่เราได้ยินคำไหนในพระไตรปิฎกเราอยากจะรู้คำนั้น แล้วรู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ขณะนี้เป็นอะไร เมื่อวานนี้คุยกันเรื่องสัทธรรม เดี๋ยวนี้สนใจไหม (คุณอาช่าฟังเรื่องอะไรก็ได้ที่ท่านอาจารย์จะสนทนาส่วนคุณอาคิ่ลอยากฟังเรื่องสัทธรรม)
- ก่อนอื่นดิฉันต้องขอโทษอย่างมากที่ดิฉันออกเสียงผิดจากภาษาบาลี ตั้งต้นใหม่ มีคำ ๒ คำ “สัตตะ” แปลว่าเจ็ด “สัทธรรม” หมายความถึง ธรรมของผู้สงบ ต้องออกเสียงให้ถูก เมื่อวานนี้ดิฉันออกเสียงผิดหมดเลย ดิฉันจะพูดว่า “สัทธรรม” แต่ดิฉันออกเสียงว่า “สัด-ทะ-ทำ-มะ” ไม่ถูกใช่ไหมคุณอาช่า
- เพราะฉะนั้นต้องละเอียดกว่านี้ การออกเสียงด้วยในภาษาไทย คนไทยเราหละหลวมมากในการออกเสียงภาษาบาลีทำให้เราเข้าใจผิดได้ จนกว่าเราจะค่อยๆ ละเอียดทำให้เรารู้ว่า คำว่า “สัทธรรม” สัท มาจาก สันติ สงบ เพราะฉะนั้นจะพูดสันติก็สันติ แต่จะพูดว่า สัท คำเดียวไม่ได้ต้องต่อด้วยคำว่า ธรรม
- เข้าใจแล้วนะคะ เมื่อวานนี้เราพูดถึงสัทธรรมที่มีความหมายว่า สันติ ความสงบ ธรรมของผู้สงบหรือธรรมที่สงบ (คุณอาคิ่ลพยายามหาคำฮินดีที่ดีกว่าคำที่ใช้อยู่เพราะคนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงสงบจากเสียงรบกวน แต่ให้เราเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ) สำหรับเราเข้าใจเมื่อเราได้ศึกษาและเข้าใจแล้วแต่สำหรับคนทั่วๆ ไปไม่ว่าภาษาไหน ภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษามคธีจะเข้าใจความหมายผิดได้
- (ถามความต่างของภาษาบาลีกับมคธี) ภาษาบาลีมีไหมหรือมีแต่ภาษามคธี (บาลีเป็นภาษาเขียนส่วนภาษาพูดเป็นมคธี) เพราะฉะนั้นภาษามคธีเป็นภาษาที่ชาวเมืองมคธพูด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในภาษานั้นเพราะฉะนั้นภาษาอื่นทั้งหมดต้องเข้าใจความหมายจริงๆ แต่ละคำในภาษาบาลีซึ่งถ้าไม่ใช่ผู้ที่ศึกษาภาษาบาลีไม่สามารถจะเข้าใจได้ อาจจะพูดผิดเพราะฟังเสียงผิดหรือว่าเพราะภาษาของตัวเองพูดอย่างนั้นบ่อยๆ เขาเลยติดคำนั้น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีผู้รู้ภาษาบาลีและเราก็ถามผู้รู้เพราะว่า ใครก็ตามที่ไม่ได้ศึกษาภาษาบาลีคิดเองไม่ได้ เพราะภาษามคธีเป็นภาษามคธี ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเป็นภาษาไทยแต่คำที่รักษาความหมายของภาษามคธี คำนั้นใช้คำว่า “บาลี” เพราะฉะนั้นภาษาบาลีคือ ภาษามคธีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแต่ความหมายของคำนั้นในภาษาอื่นเราไม่ใช่คำว่า บาลี แต่เราใช้คำว่า ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่นแต่คำบาลีต้องเป็นภาษามคธี
- เพราะฉะนั้นภาษาอังกฤษเป็นภาษาบาลีหรือเปล่า (ไม่) ภาษาไทยเป็นภาษาบาลีหรือเปล่า (ไม่) ภาษาฮินดีเป็นภาษาบาลีหรือเปล่า (ไม่) เพราะฉะนั้นเข้าใจแล้วนะคะ ภาษาบาลีหมายความถึงภาษามคธีที่ดำรงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ภาษาอื่นไม่มีคำอย่างภาษามคธีแต่สามารถเข้าใจความหมายที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้แต่ต้องละเอียด ต้องระวังและต้องใช้คำให้ถูกต้อง อย่างดิฉันที่ใช้คำว่า “พระ-สัด-ทะ-ทำ” ไม่ถูกนะคะต้องขอโทษด้วย ต้องเป็น “พระ-สัด-ทำ” (พระสัทธรรม) เพราะว่า ภาษาบาลีคนไทยไม่มีความรู้เพราะฉะนั้นเขาออกเสียงตามใจชอบจนติด
- (แม้ท่านอาจารย์ผู้ศึกษาพระธรรมมานานแต่เพราะภาษาไทยก็มีความคลาดเคลื่อนแต่ก็ให้เข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้แม้จะไม่ “เป๊ะ“ เท่าไหร่แต่เพื่อให้เข้าใจที่พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงก็ให้เข้าใจตรงนั้น) เข้าใจแล้วก็ยังไม่พอต้องตรงต่อคำด้วยเพราะเข้าใจแต่พูดไม่ถูกก็เข้าใจผิดได้ แต่คนที่เข้าใจพูดไม่ถูก เขาเข้าใจแต่คนอื่นอาจจะเข้าใจผิดได้จากคำที่เขาพูด เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าอะไรถูกเราก็พูดสิ่งที่ถูกให้คนอื่นเข้าใจถูกต่อไปด้วย เพราะฉะนั้นสัทธรรมมาจากคำว่า สันติ สงบ แต่ถ้าเป็นคำอื่นต่อต้องใช้คำว่า สัทธรรม ไม่ต้องพูดว่า สันติธรรม ก็ได้เพราะว่า สัท คำนั้นมาจากคำว่าสันติ เห็นไหมพอเปลี่ยนเป็นมีคำอื่นต่อภาษาบาลีก็เปลี่ยนไปแล้วแต่ความหมายอย่างเดิม เพราะฉะนั้นสัทธรรมไม่ใช่สัตตธรรมเพราะว่า สัตตะ แปลว่า เจ็ด แต่ถ้าคนไม่รู้แทนที่จะพูดว่า สัทธรรม (สัด-ทำ) ก็พูดว่า (สัด-ทะ-ทำ) แม้นิดเดียวก็ไม่ถูกต้อง
- เพราะฉะนั้นต้องสมบูรณ์ทั้งอรรถความหมายและพยัญชนะด้วยเพราะถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจถูกแต่ถ้าใช้คำผิดก็ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ แต่ที่สำคัญที่สุดภาษาไหนก็ตามเข้าใจธรรมแล้วจะรู้ว่า ภาษาไหนใช้คำไหน เช่น คนไทยอาจจะใช้คำหนึ่งง่ายๆ อะไรๆ ก็ใส่สระอะเข้าไป แต่ทางบาลีไม่ได้จะเป็น ”สัด-ทะ-ทำ-มะ“ ไม่ได้ต้องเป็น ”สัด-ทำ-มะ“ (สัทธรรม) (และยิ่งถ้าเป็นที่อินเดียมีภาษาสันสกฤตด้วยก็มีโอกาสผิดได้มาก) ถูกต้อง นี่เป็นเหตุที่ต้องสมบูรณ์ทั้งพยัญชนะและอรรถ
- เพราะฉะนั้นที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เราต้องมีผู้ที่รู้ภาษาบาลีอย่างดีเพราะเหตุว่า ต้องถูกต้องทั้งพยัญชนะและอรรถหรือเพราะทั้งอรรถความหมายที่ทุกคนเข้าใจได้แต่พยัญชนะก็ต้องสมบูรณ์ด้วยเพราะฉะนั้นคนไทยที่ไม่ได้ศึกษาบาลีจะไม่รู้เลยเช่นคำนี้ สันติ เป็นความสงบแต่จะพูดถึงธรรมที่สงบใช้คำว่า สัทธรรม ไม่ใช้คำว่า สันติธรรม เพราะฉะนั้นสนใจที่จะเข้าใจคำว่า สัตตะ เจ็ด สัตตธรรม หรือ สัทธรรม (อยากฟังเรื่องสัทธรรม)
- ตอนนี้เข้าใจแล้วนะคะ สัตตธรรม ๗ อะไรก็ได้ เจ็ดๆ พูดถึง ๗ ธรรมนี้ ๗ ธรรมนั้น หรือ ๕ ธรรมนี้ ๕ ธรรมนั้นก็ได้ แต่ถ้าเขาสนใจสัทธรรมหมายความถึงธรรมที่สงบของผู้สงบ สนใจสัทธรรมใช่ไหม เพราะฉะนั้นดิฉันจะขอเชิญให้คุณคำปั่นกล่าวถึงสัทธรรม (กราบเท้าท่านอาจารย์ กราบสวัสดีคุณสุขินและทุกท่าน อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงความหมายของ สัทธรรม คือธรรมที่สงบ ธรรมของบุคคลผู้สงบ ธรรมที่ทำให้ถึงความสงบซึ่งคำว่า สัทธรรม จะปรากฏมากมายหลายที่แต่ที่ท่านอาจารย์กำลังจะกล่าวถึงคือ ธรรม ๗ ประการที่เป็นสัทธรรมทั้ง ๗)
- เราจะสรุป ธรรมดาง่ายๆ ไม่ใช่สำหรับคนที่รู้เรื่องภาษาแต่สามารถที่จะเข้าใจได้ สัตต ๗ สานติ สงบ แต่เราไม่พูดว่า สันติธรรม เราพูดว่า สัทธรรม เพราะฉะนั้นจะพูดถึง สัตตธรรม คืออะไรก็ได้ที่เป็นธรรม ๗ เป็นสัตตธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึง สัทธรรม ๗ หมายความว่า เราพูดถึงธรรมที่สงบ ๗ ของผู้สงบ
- ถ้าเราไม่รู้ความหมายของคำว่า สงบ เราสามารถจะเข้าใจสัทธรรม ๗ ได้ไหม (ไม่ได้) นี่คือความละเอียดความลึกซึ้งเพราะสัทธรรมอยู่ไหน
- (อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงนี้เพราะได้ยินว่าถ้าไม่เข้าใจแต่ละคำก็ไปคำต่อไปไม่ได้ เช่นคำว่า วิตก วิจาร ทำให้เน้นเข้าใจพยัญชนะมากกว่าอรรถ ขอคำอธิบายตรงนี้) ธรรมลึกซึ้งไหม (ลึกซึ้งมาก) ธรรมเดี๋ยวนี้เป็นวิตกหรือเปล่า (มี) วิตกอยู่ไหนเมื่อไหร่ (ตอนที่กำลังวิจารณ์อยู่คิดอยู่) นี่แหละไม่รู้จักธรรมเพราะเป็นเราที่วิจารณ์เป็นความคิดของเราทั้งหมด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไรเรื่องวิตกเจตสิก
- (อาช่าตอบว่า วิจาร คือคิด ไม่เหมือนการคิดถึงสัญญา หรือ กำลังโกรธแล้วสงสัยก็คิดถึงโกรธ) เราต้องพูดทีละคำ คิดทีละคำ เพราะฉะนั้นคนไทยเองก็ใช้คำว่า วิจารณ์ พูดถึงเรื่องนั้นอย่างนั้นอย่างนี้เป็นวิจารณ์สิ่งนั้นสิ่งนี้ อะไรเกิดอย่างไร ทำอย่างไร นั่นคือ วิจารณ์ แต่ว่าถ้าเราเข้าใจวิจารแล้วเราไม่ต้องศึกษาคำของพระพุทธเจ้าถูกไหม
- (ขอเปลี่ยนจากคำว่าวิจาร) วิตกก็ได้ อะไรก็ได้ ถ้าเราคิดว่าเป็นสิ่งที่เราเข้าใจอย่างนี้ๆ เราก็ไม่ต้องฟังคำของพระพุทธเจ้าเลย
- เราอยู่ในความมืดทั้งๆ ที่สว่างเพราะเราไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีไม่ว่าจะมืดหรือสว่าง แต่ว่าความไม่รู้มืดสนิทเพราะไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้
- เดี๋ยวนี้มีแสงสว่างเริ่มที่จะเข้าใจวิตกไหม ต้องไม่ลืมเราศึกษาธรรมจากพจนานุกรมไม่ได้ จากคำของคนอื่นไม่ได้ นอกจากคำที่กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีแต่เราไม่เคยรู้มาก่อน
- (การศึกษาธรรมไม่ใช่การศึกษาจากตัวหนังสือหรือมีใครศึกษาแล้วเราจำคำพูดนั้นไว้ แต่ว่าธรรมที่ปรากฏเดี๋ยวนี้คือศึกษาธรรมที่กำลังปรากฏ) เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้าหรือยัง (เริ่มแล้ว) ถ้าคิดว่ารู้จักวิตกแล้วแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร อะไรถูก (พระพุทธองค์ถูก) เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง
- (ทั้งอาคิ่ลอาช่ากล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธองค์แต่ก็ยังไม่ตรงเท่ากับคนที่รู้จริงๆ) เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจธรรม ไม่รู้จักธรรม รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม (ไม่รู้จัก)
- หนทางเดียวที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เคารพพระองค์เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยเมื่อได้เข้าใจธรรมเท่านั้น
- เพราะฉะนั้นเราพูดถึงธรรมที่สงบสัทธรรม ๗ ต้องเข้าใจคำว่า “สัท” หรือ “สัทธรรม” ก่อนว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นต้องศึกษาทีละหนึ่งใช่ไหม ถ้าไม่รู้จักสัทธรรม ๗ จะบอกว่า คนนั้นสงบ คนนี้สงบ ได้ไหม (ไม่ได้)
- คุณอาคิ่ลสงบไหม (ไม่) ทำไมไม่สงบ รู้จักสงบหรือ เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่รู้จัก ไม่สงบเลย เพราะฉะนั้นเมื่อฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงสามารถจะรู้ได้ว่า สงบหรือเปล่าและสงบจริงๆ หรือเปล่า
- (คุณอาช่ายกตัวอย่างนักศึกษาที่เรียนเก่งมาก มีความรู้สูงมาก ถามอะไรตอบได้หมด แต่ว่าไม่ได้เข้าใจอะไร) ลองถามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิคะ ตอบได้ไหม (คุณอาช่ายกตัวอย่างมีมากที่ว่า ผู้ที่อ่านพระไตรปิฎกครบทุกเล่ม ตอบได้หมดทุกอย่าง ก็ยังไม่เข้าใจสักอย่าง คุณอาคิ่ลบอกว่าที่อินเดียเวลานี้มีผู้ที่มีความรู้พุทธศาสนาระดับดอกเตอร์ และลองคิดถึงพระพุทธองค์ระดับความรู้จะสูงขนาดไหน) เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม เพราะเขาเป็น “ดอกเตอร์” (ไม่มีและยังไม่เคยเจอ)
- เพราะฉะนั้นทุกคำ วิตก วิจาร สัทธรรม ฯลฯ ทุกคำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เกินกว่า ๒๕๐๐ ปี ณ ดินแดนชมพูทวีป เมื่อได้ฟังคำและเริ่มเข้าใจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคนเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าไม่มีท่านที่มีความกรุณาเมื่อเข้าใจแล้วอบรมเจริญปัญญาละกิเลสตามลำดับก็ให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย มิฉะนั้นคำนั้นจะไม่มีวันที่จะได้ฟังและเข้าใจอย่างเดี๋ยวนี้เลย เพราะฉะนั้นคุณอาคิ่ล คุณอาช่าและหลายคนที่มีความเข้าใจถูกต้องแล้วก็ทำสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตและในสังสารวัฏฏ์คือ ให้คนอื่นได้เข้าใจธรรมด้วย
- (เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายาม ตัวเองต้องเข้าใจถูก พยายามศึกษาให้ตัวเองเข้าใจถูก จะได้สื่อให้ถูก ไม่ใช่ว่า สื่อผิดๆ ต่อ) นี่เป็นประโยชน์ที่สุดเพราะทั้งวันก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมและเข้าใจ มีอกุศลตลอดมากมายไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ แต่ว่าชาติก่อนๆ ในอดีตมากมายด้วย เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าเราให้เวลากับอกุศลมามากแล้ว เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ให้เวลาที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้นดีไหม เป็นประโยชน์ไหม สูงสุดในชีวิตไหม ให้เวลากับกุศลมากขึ้น
- กำลังเป็นกุศล สนทนาธรรม ศึกษาธรรม คิดถึงธรรมแล้วมีคนบอกว่า “พักผ่อนบ้าง” หมายความว่า เขาพอใจที่จะให้อกุศลเกิดเยอะๆ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ชักชวนให้เราพักเวลาของกุศลและไปเพิ่มเวลาของอกุศล เขาเป็นคนที่เข้าใจธรรมหรือเปล่า
- (คุณอาช่าบอกว่า ท่านอาจารย์พูดถึงเห็นเพื่อให้เราเข้าใจเห็นทุกครั้งที่สนทนากันโดยไม่หยุด ไม่เบื่อ เราก็ไม่ควรจะเบื่อเพราะว่า เห็นเกิดอยู่ตอนนี้ตลอดเวลาก็ไม่มีความเข้าใจ คุณอาคิ่ลเสริมว่า สนทนาเรื่องเห็นกับท่านอาจารย์มา ๓ ปีแล้ว แต่ก็เห็นอยู่ว่า แม้ว่าฟังเรื่องเห็นแต่มีความเปลี่ยนแปลงตลอด มีความเข้าใจเพิ่มทุกครั้ง) ก็เป็นผู้ที่เริ่มเห็นประโยชน์และรู้ว่า ความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้จะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าไม่เพิ่มขึ้นก็ไม่มีวันที่จะรู้ความจริงได้เลย
- เราพูดเรื่องความสงบแต่ลืมว่า เดี๋ยวนี้สงบหรือเปล่า ถ้าเราพูดว่า สัทธรรมเป็นธรรมของผู้สงบ เข้าใจแล้ว พอแล้วหรือยัง (ไม่พอ) เพราะฉะนั้นจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นว่า ทุกคำของพระองค์เพื่อให้รู้สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ที่กำลังเป็นเห็นได้ยิน เป็นต้น
- กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ รู้จักเห็นเดี๋ยวนี้หรือยัง (ยัง) เพราะฉะนั้นบังคับให้รู้จักเห็นได้ไหม (บังคับให้เห็นไม่ได้ หนทางเดียวคือฟังไปเรื่อยๆ ) เพราะฉะนั้นฟังทุกสิ่งทุกอย่างเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะสิ่งเดียว
- ทุกคำมีประโยชน์เมื่อเป็นคำที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ไม่ว่าอะไรทุกขณะ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นสิ่งที่กำลังมีจริงทั้งนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะเห็นเดี๋ยวนี้สงบหรือเปล่า ลองตอบ เห็นเดี๋ยวนี้กำลังสงบหรือเปล่า (ไม่ทราบ) ไม่ทราบใช่ไหมหรือว่าไม่สงบ (ไม่ทราบ) ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า ขณะนี้อะไร ขณะไหนสงบ ขณะไหนไม่สงบ
- เพราะฉะนั้นฟังเรื่องสัทธรรมก็ได้ จะได้เข้าใจถูกว่า สัทธรรมคืออะไร แล้วจึงจะรู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นสัทธรรมหรือเปล่า เพราะฉะนั้นสัทธรรมไม่ใช่ชื่อแต่เป็นภาวะที่มีจริงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ทีละข้อก็ได้จะได้เข้าใจจากการที่ได้ฟังสัทธรรมและสามารถเข้าใจธรรมอื่นๆ ด้วย เชิญคุณคำปั่นกล่าวถึงสัทธรรมข้อที่ ๑ (กราบท่านอาจารย์ สัทธรรมข้อที่ ๑ คือ ศรัทธา)
- เคยได้ยินคำนี้ไหม “ศรัทธา” (เคย) ได้ยินคำนี้ หมายความถึงอะไร (ศรัทธาคือความเชื่อ ในทางพระพุทธศาสนาคือ ความเชื่อในพระรัตนตรัย และเคยได้ยินมาว่ามีความเชื่อที่ถูกกับความเชื่อที่ผิด) ไม่ใช่คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส
- ศรัทธามีจริงเป็นธรรมแต่ธรรมมีหลายอย่าง เราเข้าใจคำว่า จิตเจตสิกแล้ว คุณคำปั่นคะ ภาษาบาลีมีคำว่า “จิตฺต” ไหม (มี) ไม่ใช่ “จิต” เพราะฉะนั้นคนไทยพูดจิตและภาษาอื่นอาจจะใช้คำว่า จิตที่คุณอาช่าเคยพูดถึง แต่ภาษาบาลีต้องป็น ”จิตฺต“ สภาพที่รู้เป็นใหญ่เป็นประธาน ”เจตสิก“ เป็นภาษาบาลีใช่ไหม (ภาษาบาลีออกเสียงว่า “เจ-ตะ-สิ-กะ“) แต่คนไทยก็ออกเสียงว่า ”เจ-ตะ-สิก“ ไม่ทราบว่าภาษาที่คุณอาช่าเคยใช้ก็ใช้ ”เจตสิก“ เหมือนคนไทย แต่เราต้องรู้ว่าในภาษาบาลีจะออกเสียงว่าอย่างไร เพราะฉะนั้น ”เจ-ตะ-สิ-กะ“ หรือ ”เจ-ตะ-สิก“ ในภาษาของคุณอาช่ากับภาษาไทยจะพูดสั้นๆ ว่า ”เจตสิก“ ไม่ใช่จิตแต่เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง
- เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตมีอย่างเดียว ”เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง” เท่านั้น เพราะฉะนั้นสภาพรู้อื่นๆ ทั้งหมดไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิกเพราะเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้นจึงรู้อารมณ์เดียวกับจิต อันนี้ย่อๆ
- เพราะฉะนั้นศรัทธามีจริงใช่ไหม (ใช่) เพราะฉะนั้นศรัทธาเป็นจิตหรือเจตสิก (บอกไปแล้ว) เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกเขาก็จำแต่ถ้าเราถามแล้วเขาคิดแล้วเขาตอบ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้คุณรู้ว่า ศรัทธาเป็นเจตสิกไม่ใช่จิตแต่ว่าเจตสิกมีมากแล้วศรัทธาคือเจตสิกอะไร ศรัทธาเจตสิกไม่ใช่ชื่อ “ศรัทธาเจตสิก” แต่เจตสิกที่เป็น “ศรัทธา” มีจริงๆ (เป็นกุศล)
- กุศลเป็นอย่างไร (กุศลหมายถึงอะไรที่ดี) สภาพที่ดีมีหลายอย่างแล้วศรัทธาดีอย่างไร (คุณอาช่าตอบว่า ศรัทธาเกิดกับปัญญาเพราะฉะนั้นต้องเป็นกุศล คุณอาคิ่ลตอบว่า เกิดกับกุศลจิตทุกชนิดเพราะฉะนั้นต้องเป็นกุศล) แต่ถามว่าศรัทธาคืออะไรเป็นเจตสิกอะไร ไม่ใช่ชื่อศรัทธา (เข้าใจว่าถามว่าศรัทธาเป็นกุศลอย่างไร) ไม่ใช่ กุศลมีหลายอย่างเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ที่ดีงาม แต่ถ้าพูดถึงศรัทธาแล้วจะตอบว่า เป็นกุศล อย่างอื่นก็เป็นกุศลเหมือนกันแต่ศรัทธาต่างจากกุศลอื่นอย่างไร (ทั้งสองตอบว่า ตัวลักษณะไม่รู้ แต่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ฟังธรรมเข้าใจจะมีศรัทธาที่ภาษาอังกฤษแปลว่า ความ…) ไม่ต้องไปภาษาไหน (คือยึดคำนั้น รู้ว่าถ้าฟังไปเข้าใจขึ้นก็มีศรัทธามากขึ้น) แต่ยังไม่รู้จักศรัทธา มีแต่ชื่อศรัทธาจะมากขึ้น
- เพราะฉะนั้นศรัทธาลึกซึ้งไหม (ลึกซึ้ง) ธรรมทั้งหมดลึกซึ้งใช่ไหม (ใช่) เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้าเมื่อเข้าใจศรัทธาขึ้น ภาษาไหนก็ตามเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่สะอาด ผ่องใส ไม่สกปรก เพราะฉะนั้นสภาพที่สะอาดอยู่ที่ไหนจะมีอะไรสกปรกอยู่ด้วยไม่ได้ เริ่มเข้าใจว่า ที่ไหนมีศรัทธาต้องสะอาด
- จิตเปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นขณะใดที่ศรัทธาเกิดกับจิตใด จิตรู้แจ้งอารมณ์และศรัทธาขณะนั้นก็สะอาดในขณะที่รู้อารมณ์ (พูดถูกไหมว่า ขณะที่ศรัทธาเกิดกับจิต ศรัทธาทำหน้าที่ให้จิตผ่องใส) ยังไม่ต้องไปพูดถึงหน้าที่ พูดถึงลักษณะของศรัทธาสะอาด ลักษณะของเขาสะอาด จิตเกิดขึ้นรู้แจ้ง ศรัทธาเกิดขึ้นกับจิต ศรัทธาที่รู้อารมณ์เดียวกับจิต สะอาด
- จิตเห็นมีศรัทธาเกิดขึ้นด้วยหรือเปล่า สะอาดไหมจิตเห็น (ศรัทธาไม่เกิดกับเห็น) เพราะฉะนั้นจิตเห็นสะอาดไหม (สะอาด) จิตเห็นสะอาดได้อย่างไร รู้จักพระพุทธเจ้าขึ้นอีกไหม คิดธรรมเองได้ไหม ถ้าไม่รู้จักความลึกซึ้งของธรรมไม่รู้จักธรรม
- สำหรับวันนี้ก็ยินดีในกุศลของทุกท่านที่ได้เข้าใจธรรมและรู้จักพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้นนะคะ สวัสดีค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลคุณสุขิน คุณอาคิ่ล คุณอาช่า
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลคุณอัญชิสา (พี่สา) ที่ช่วยเหลือตรวจทาน
กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นในกุศลทุกประการครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทานและยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ