สัทธรรม คือธรรมของบุคคลผู้สงบ

 
เมตตา
วันที่  10 มี.ค. 2567
หมายเลข  47599
อ่าน  353

สนทนา ไทย - ฮินดี วันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 129 - 130

บทว่า สทฺธมฺมฏฺิติยา ความว่า สัทธรรมมี ๓ อย่าง คือ ปริยัตติสัทธรรม ปฏิปัตติสัทธรรม อธิคมสัทธรรม. บรรดาสัทธรรม ๓ อย่างนั้น พุทธวจนะแม้ทั้งสิ้น ชื่อว่า ปริยัตติสัทธรรม. สัทธรรมนี้ คือธุดงค์คุณ ๑๓ จาริตศีล วาริตศีล สมาธิ วิปัสสนา ชื่อว่า ปฏิปัตติสัทธรรม. โลกุตรธรรม ๙ ชื่อว่า อธิคมสัทธรรม. สัทธรรมนั้นแม้ทั้งหมด เพราะเหตุที่เมื่อมีบัญญัติสิกขาบท ภิกษุทั้งหลายย่อมเรียนสิกขาบท วิภังค์แห่งสิกบทนั้น และพระพุทธวจนะอื่น เพื่อส่องความสิกขาบทและวิภังค์นั้น และเมื่อปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติ บำเพ็ญข้อปฏิบัติ ย่อมบรรลุโลกุตรธรรมที่พึงบรรลุด้วยข้อปฏิบัติ ฉะนั้น พระสัทธรรมจึง

ดำรงอยู่ยั่งยืนเพราะการบัญญัติสิกขาบท ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า สทฺธมฺมฏฺิติยา เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม.

บทว่า วินยานุคฺคหาย ความว่า เมื่อมีการบัญญัติสิกขาบท ก็เป็นอันอนุเคราะห์อุปถัมภ์ค้ำชูวินัย แม้ทั้ง ๔ อย่าง คือสังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วินยานุคฺคหาย เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย.

จบอรรถกถาปฐมอุปาลิสูตรที่ ๑


[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้า ๒๘๖

[๘๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๗ ประการนี้ ๗ประการเป็นไฉน คือ อสัตบุรุษเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ไม่มีหิริ ๑ไม่มีโอตตัปปะ ๑ ไม่มีสุตะ (ไม่สดับฟังพระธรรม) ๑ เป็นผู้เกียจคร้าน ๑ มีสติหลงลืม ๑ มีปัญญาทราม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๗ ประการนี้แล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัทธรรม ๗ ประการนี้ ๗ ประการนี้เป็นไฉน คือสัตบุรุษเป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสัทธรรม ๗ ประการนี้แล.


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๘

พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นละเอียดโดยนัยต่างๆ ตั้งขึ้นด้วยอัธยาศัยมิใช่น้อย สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกซึ้งโดยธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธ (การตรัสรู้) มาสู่คลองแห่งโสตะครั้งแรก ควรแก่การศึกษาโดยภาษาของตนๆ
แห่งสัตว์ทั้งหมด


ท่านอาจารย์: สนทนาให้เขาเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ดีที่สุด อย่าลืมนะ เราไม่เข้าใจอะไรที่กำลังมีที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เลย แต่เราได้ยินคำไหนในพระไตรปิฎก เราอยากจะรู้คำนั้น แล้วรู้ไหมว่า เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เป็นอะไร?

เมื่อวานนี้คุยกันเรื่องสัทธรรม เดี๋ยวนี้สนใจไหม?

อาคิ่ล: อยากฟังเรื่องสัทธรรม

ท่านอาจารย์: ก่อนอื่นดิฉันต้องขอโทษอย่างมาก ที่ดิฉันออกเสียงผิดจากภาษาบาลี ตั้งต้นใหม่ มีคำ ๒ คำ

สัตะ แปลว่า ๗

สัท + ธรรมะ หมายความถึงธรรมของผู้สงบ

เพราะฉะนั้น ต้องออกเสียงให้ถูกนะ เมื่อวานนี้ดิฉันออกเสียงผิดหมดเลย แทนที่จะพูดว่า สัท + ธรรมะ ดิฉันพูดว่า สัท + ทะ + ธรรมะ ไม่ถูกนะ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดกว่านี้ไหม? การออกเสียงด้วย ในภาษาไทยคนไทยหละหลอมมากในการออกเสียงภาษาบาลี ทำให้เราเข้าใจผิดได้ จนกว่าเราจะค่อยๆ ละเอียด แล้วรู้ว่า

คำว่า สัทธรรม สัท มาจาก สันติ (สงบ)

เพราะฉะนั้น เราพูด คำว่า สันติก็สนติ แต่จะพูด คำว่า สัท คำเดียวก็ไม่ได้ ต้องต่อด้วย คำว่า สัท + ธรรมะ

เข้าใจแล้วนะ เมื่อวานนี้เราพูดถึง สัท + ธรรมะ ที่มีความหมายว่า สันติ ความสงบ ธรรมของผู้สงบ คือธรรมที่สงบ เข้าใจแล้วใช่ไหม

สำหรับเราเข้าใจเมื่อเราได้ศึกษาได้เข้าใจแล้ว แต่สำหรับคนทั่วๆ ไป ไม่ว่าภาษาไหน ภาษาไทย ภาษาสันสกฤต หรือภาษาอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ภาษามคธี จะเข้าใจความหมายผิดได้

อาคิ่ล: ถามแยกระหว่างภาษาบาลี กับมคธีครับ

ท่านอาจารย์: ภาษาบาลีมีไหม หรือมีแต่ภาษามคธี?

อาคิ่ล: ภาษาบาลีเป็นภาษาเขียน แต่ว่าภาษามคธีเป็นภาษาที่เขาพูด ความหมาย ก็คือว่าถ้าเขียนออกมาเป็นตัวอักษรก็เรียกว่าบาลี แต่ถ้าเป็นภาษาพูดก็เป็นภาษามคธี

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ภาษามคธีเป็นภาษาที่ชาวเมืองมคธพูด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในภาษานั้น

เพราะฉะนั้น ภาษาอื่นทั้งหมดต้องเข้าใจความหมายจริงๆ แต่ละคำในภาษาบาลี ซึ่งถ้าไม่ใช่ผู้ที่ศึกษาภาษาบาลีไม่สามารถจะเข้าใจได้ อาจจะพูดผิดเพราะฟังเสียงผิด หรือว่าเพราะภาษาของตัวเองพูดอย่างนั้นบ่อยๆ เขาก็ติดคำนั้น.

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

สัทธรรมปฏิรูปกสูตร ... วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

สัปปุริสสูตร

ฟังแล้วฟังอีก

เบือนหน้าหนีพระสัทธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nui_sudto55
วันที่ 15 มี.ค. 2567

สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ