หนทางเริ่มจากความเข้าใจพระธรรม

 
เมตตา
วันที่  23 มี.ค. 2567
หมายเลข  47637
อ่าน  324

อาช่า: คราวที่แล้วเราสนทนาเรื่องปัจจัย เรื่องรูปที่มีสมุฏฐาน ๔ ว่า แต่ละรูปที่เกิดต้องเกิดจากสมุฏฐานหนึ่ง ก็อยากจะสนทนาเรื่องนั้นต่อค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราศึกษาเพื่ออะไร?

อาช่า: เพื่อเข้าใจความจริง

ท่านอาจารย์: เมื่อไหร่?

อาช่า: ปัจจุบันค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความเข้าใจของเราในสิ่งที่กำลังมีมาก หรือน้อย?

อาช่า: น้อยมาก

ท่านอาจารย์: ถ้าเราพูดถึงสิ่งอื่นที่ไม่มีเดี๋ยวนี้ จะสามารถทำให้เราสนใจ เข้าใจ ความจริงว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่ไปเรียนชื่อปัจจัย เรียนเรื่องปัจจัย แล้วก็ลืม เพราะว่า เดี๋ยวนี้แม้มีปัจจัยก็ยังไม่รู้

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ที่เราจะไปเรียนเรื่องปัจจัยโดยละเอียดทุกปัจจัย แต่เวลาที่กำลังมีสภาพธรรมปรากฏ เราจะต้องคิดถึงปัจจัยไหม หรือสามารถที่จะรู้สิ่งนั้นตามความเป็นจริงที่เราได้เรียน จนกระทั่งสามารถเข้าใจได้ รับรองได้ว่า ขณะที่สภาพธรรมปรากฏไม่ได้คิดถึงปัจจัย แต่เพราะได้เข้าใจปัจจัย ไม่ลืม แต่ไม่ใช่คิดเป็นคำ สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการที่ได้เข้าใจปัจจัยได้

เพราะฉะนั้น ไม่ลืมประโยชน์ยิ่งใหญ่ คือสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยขณะนั้นไม่ใช่เป็นการคิดถึงชื่อเลย แต่สามารถที่จะรู้ความเป็นปัจจัยของสิ่งนั้นได้

เดี๋ยวนี้มีปัจจัยที่ทำให้ เห็น เกิดแน่นอน เข้าใจความจริงอย่างยี้ ก็ยังละการยึดถือเห็นไม่ได้ การที่จะเข้าใจความจริงของเห็นต้องเริ่มทีละน้อยมาก เพราะไม่เคยรู้ความจริงของ เห็น มาก่อนเลย

เริ่มเข้าใจ เห็น เกิดขึ้นแล้วเพราะมีปัจจัยที่จะให้เห็นเกิดขึ้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ และเป็นผู้ที่มั่นคงอย่างนี้ ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะเห็นเท่านั้น ทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดเองไม่ได้เลย

ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงว่า สิ่งที่เกิดไม่ว่าอะไรทั้งหมดต้องมีปัจจัย ก็จะทำให้ไม่ลืมที่จะรู้ว่า ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยแล้วดับเท่านั้น ฟังอย่างนี้ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ก็ไม่สามารถจะละความเป็นเราได้ แต่ฟังอย่างนี้เพียงครั้งเดียวแต่มีความเข้าใจมั่นคง จะค่อยๆ รู้ว่า ไม่ว่า อะไรต่อๆ ไปก็เป็นสิ่งที่มีชั่วคราวที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยเท่านั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของทุกอย่างที่มีจริงถึง ๔๕ พรรษา ไม่ใช่ทรงแสดงให้เข้าใจแล้วจำ ๒๔ ปัจจัยใหญ่ๆ แต่ว่า เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และค่อยๆ เข้าใจปัจจัยที่ทำให้แต่ละอย่างเกิดขึ้น ไม่ใช่รีบร้อนไปจำชื่อจำเรื่องทั้งหมด

การเข้าใจความจริงเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจะทำให้ค่อยๆ รู้ความจริงว่า เป็นธรรมทั้งหมด

จิตแต่ละขณะเกิดตามใจชอบไม่ได้ ต้องเป็นไปเพราะปัจจัยที่ทำให้แต่ละหนึ่งเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้กำลังเห็นมากมายหลายขณะ แต่ต้องรู้ว่า ถ้าไม่มีปัจจัยทำให้เห็นเกิดขึ้นแต่ละขณะ เห็นเกิดขึ้นไม่ได้เลยสักขณะ มีเห็นแน่นอน และมีสิ่งที่ถูกเห็นด้วย รู้จักเห็นเดี๋ยวนี้ แต่ต้องรู้ความจริงก่อนว่าเห็นคืออะไร ไม่สงสัยเลยว่า เห็นกำลังเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิดเห็น ต้องมีปัจจัยให้สิ่งที่ถูกเห็นเกิดขึ้นจึงถูกเห็น

ถ้าไม่เห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรมแม้ขณะหนึ่ง ก็ไม่สามารถที่จะละความเป็นเรา และความไม่รู้ได้

เพราะฉะนั้น เพียงเห็น หนึ่งขณะ ต้องเข้าใจแล้วจึงจะเข้าใจขณะอื่น และสภาพธรรมอื่นๆ ด้วยทีละเล็กทีละน้อย

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม หมายความว่ากำลังศึกษาเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ที่ปรากฏว่ามี มิเช่นนั้นแล้ว จะไม่รู้จุดประสงค์ของการฟังพระธรรมว่า ฟังเพื่ออะไร ไม่ลืมว่าไม่รู้ความจริงของทุกอย่าง แม้แต่เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น จึงต้องฟังความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อค่อยๆ เข้าใจความจริงของเห็น และสิ่งที่ถูกเห็นเพิ่มขึ้น

ฟังเพื่อเข้าใจความจริงที่จะรู้ว่า เห็นจริงๆ คืออะไร และสิ่งที่ถูกเห็นคืออะไร?

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 23 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: คุณอาคิ่ล กับคุณอาช่ากำลังเห็น รู้จักเห็นหรือยัง? เดี๋ยวนี้กำลังเห็น มีเห็นแน่นอน และมีสิ่งที่ถูกเห็นด้วย รู้จักเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะกำลังพูดถึงสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ เพื่อค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ คุณอาคิ่ล คุณอาช่า รู้จักเห็นหรือยัง ตอบเลย?

อาช่า: ไม่รู้จัก

ท่านอาจารย์: ทั้งๆ ที่กำลังเห็นใช่ไหม?

อาช่า: ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ก็ไม่รู้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จึงต้องฟัง ทุกคำ ที่เกี่ยวกับเรื่องเห็นให้เริ่มค่อยๆ เข้าใจความจริงที่เห็นลึกซึ้งมาก ถ้าไม่ได้ฟังตลอดชาติกี่ชาติที่เห็น ก็ไม่รู้ความจริงว่า เห็นคืออะไร? เห็นมีจริงไหม?

อาช่า: มีจริง

ท่านอาจารย์: อาจจะเบื่อที่ถามคำนี้บ่อยๆ เห็นมีจริงไหม ไม่ใช่เป็นเพียงคำถาม แต่ให้รู้ว่า เห็น เดี๋ยวนี้มีจริง จะได้รู้ว่ากำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังเห็น

เพราะฉะนั้น เห็นเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นเห็นอะไร?

อาช่า: เห็น เห็นสิ่งที่เห็นอยู่

ท่านอาจารย์: ถามว่า เห็นเกิดขึ้นเห็นอะไร?

อาช่า: คำตอบคือ เห็นสิ่งที่เห็นเห็นอยู่

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง ทีละน้อยๆ เพื่ออะไร เตือนให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้กำลังเห็น ไม่ต้องไปสนใจอื่น กว่าจะเข้าใจเห็นได้ก็ต้องพูดถึงเห็นอีกนานมากกว่าจะค่อยๆ เริ่มสนใจ และค่อยๆ เข้าใจเห็น แต่ถ้าไม่พูดถึงเลย ไม่มีทาง มีแต่ชื่อทั้งหมด

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: อย่าลืมนะ เห็นมีอยู่ทุกโลก แต่ไม่รู้จักเห็นเลยไม่ว่าจะอยู่โลกไหน จนกว่าจะค่อยๆ ฟัง และกำลังเห็นเท่านั้น จึงจะเริ่มค่อยๆ รู้จักเห็นได้

เพราะฉะนั้น มีคำตอบเมื่อกี๊นี้ ว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น เห็นเกิดขึ้นเห็น หมายความว่าเป็นสภาพที่รู้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ทุกคนตอบได้ว่า จริง แต่รู้จักสภาพที่เห็นไหมว่า เป็นสภาพรู้ที่เกิดขึ้นต้องเห็นเท่านั้น

คนที่ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรื่องเห็นกับเขาเพราะรู้ว่า เขายังไม่รู้ว่าเห็นจริงๆ ชั่วขณะที่แสนสั้นเกิดขึ้นรู้ คือเห็น แล้วก็ดับ

เมื่อวานนี้มีเห็นมากมายใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: ทั้งวัน แล้วรู้จักเห็นไหม?

อาช่า: ไม่รู้จัก

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็เห็นอีกเหมือนเมื่อวานนี้อีก ขึ้นอยู่กับว่าจะเริ่มเข้าใจเห็นบ้างไหม ถ้าเราไม่พูดถึงเห็นวันนี้มีโอกาสที่จะไม่ลืมเห็นที่กำลังเห็น และเริ่มค่อยๆ คิดถึงเห็น และเข้าใจเห็นได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่พูดถึงเห็นดีไหม?

อาช่า: ควรฟังต่อไปควรฟังเรื่องเห็นต่อไป

ท่านอาจารย์: จนกว่าจะรู้จักเห็นตามความเป็นจริง นี่คือการศึกษาธรรมใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: ศึกษาตัวธรรม ไม่ใช่เรื่อง และชื่อของธรรม นี่เป็นการเข้าใจอริยสัจจธรรมที่ ๔ ใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ทุกคนจะไม่พูดถึงหนทางที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเลย เพราะคิดว่า นั่นไม่ใช่หนทางที่จะเริ่มเข้าใจจนกระทั่งประจักษ์แจ้งอริยสัจจ์ทั้ง ๔

เพราะฉะนั้น หนทางที่จะรู้ความจริงของเห็นลึกซึ้งใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะต้องเป็นความเข้าใจในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่เข้าใจอย่างอื่น เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นไหมว่า หนทางลึกซึ้ง ธรรมลึกซึ้ง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 23 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: จะฟังเรื่องเห็นต่อไปดีไหม?

อาช่า: ฟังต่อค่ะ

ท่านอาจารย์: เห็น เกิดขึ้นเองได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: อะไรเป็นปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้น?

คุณสุคิน: คำตอบอาช่าทีแรกพูดถึงสี แต่ก็ต่อไปด้วยเรื่องปัจจัยต่างๆ เช่น อารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ...

ท่านอาจารย์: ถามเขาซิว่า ดิฉันถามอย่างนั้นหรือ?

คุณสุคิน: ผมก็เลยพูดต่อว่า เมื่อกี๊ถาม ก็คือว่านั่นเป็นปัจจัยต่างๆ ตอนที่เห็นเกิดแล้ว แต่ที่ท่านอาจารย์ถามก็คืออะไรเป็นเหตุให้เห็นเกิด ...

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่เลย คุณสุคิน เราต้องการให้เขาคิดเอง เราไม่บอกเขา เขาลืมไปเขาได้แต่นึกถึงชื่อแล้วก็ตอบ แต่หนทางก็คือว่า คำถามของเราขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้เขาได้ไม่ลืม แล้วคิดแล้วตอบตรงคำถามที่ลึกลงไปทุกขณะ เดี๋ยวนี้กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง ให้เขาเริ่มคิดถึงว่า ขณะนี้เห็นเกิดขึ้นเพราะต้องมีปัจจัย และปัจจัยที่ทำให้เห็นเกิดขึ้นคืออะไร ให้เขาเริ่มคิดเริ่มไตร่ตรอง ไม่ใช่บอกเขาหมดเลย ตอบให้ตรงคำถามนั่นคือเริ่มคิด

อาช่า: วิปากปัจจัย ...

ท่านอาจารย์: ตอบเป็นชื่ออีกแล้ว ถามอะไรก็ตอบชื่อมาหมดเลย ตอบให้ตรงคำถามซิ ถามว่า เห็นเดี๋ยวนี้ที่จะเกิดขึ้นได้อาศัยอะไรจึงเกิดขึ้นได้ ตอบให้ตรงไม่ได้ไปถามชื่ออะไรเลย

อาช่า: มี สี ค่ะ

ท่านอาจารย์: ทำไม สี เป็นปัจจัยให้เกิดเห็น?

อาช่า: ถ้ามีเห็นก็ต้องมีอารมณ์

ท่านอาจารย์: ก็ยังไม่ได้ลึกซึ้งอะไรเลย เหมือนเดิม แล้วก็มีชื่อต่างๆ

อาช่า: เริ่มเข้าใจความหมายของคำถามแล้ว ถ้าไม่มีสีกระทบตาก็ไม่มีเห็น

ท่านอาจารย์: ถามว่า เพราะอะไร สี จึงเป็นปัจจัยให้เห็นเกิด?

อาช่า: ไม่ทราบ

ท่านอาจารย์: เพราะว่า ธรรมลึกซึ้ง เพียงเรื่องเดียวคำเดียวเราสามารถที่จะลงไปถึงความลึกซึ้ง ให้เห็นความลึกซึ้งจนกระทั่งเป็นเหตุที่จะไม่ให้ติดข้อง หรือหวังว่า จะประจักษ์แจ้งความจริงโดยที่ไม่ได้เข้าใจความลึกซึ้งเลย เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ลองถามให้เขาคิดเอง ถ้าเขาตอบไม่ได้ เราจะได้ต่อไปได้ ถามว่า ทำไม สี จึงเป็นปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้น?

อาช่า: เพราะเห็นที่เป็นผลของกรรม เห็นได้เฉพาะสี เป็นสิ่งที่เห็นเห็นได้

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่คำตอบเลย ไม่ใช่ให้เขาไปคิดอะไๆ มากมาย แต่ให้คิดให้ตรงคำถาม ถามสั้นตอบสั้นแสดงว่าเขาคิดตรง ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เป็นการตอบคำถาม เพราะฉะนั้้น ถามอีกครั้งหนึ่ง ให้คิดให้ตรงเฉพาะตรงนี้สั้นๆ ทำไมสีสันวรรณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด?

อาช่า: เพราะว่าสีกระทบตา

ท่านอาจารย์: เพราะว่าสีกระทบตา แล้วทำไมสีเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด?

อาช่า: เพราะเห็นก็ต้องเห็นแต่สี

ท่านอาจารย์: ทุกคนรู้อย่างนี้ใช่ไหม?

อาช่า: ทุกคนตอบได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าคิดให้ละเอียดก็จะเห็นความไม่ใช่เรา และเป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่ใครจะรู้ง่ายๆ ว่า เพราะว่าจิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสี และสีทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น แต่ความจริงสิ่งที่เราเรียกว่า สี นั้นเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นทั้งหมดในสภาพธรรมทั้งโลกหรือที่ไหนทั้งหมดเป็นสิ่งเดียวที่สามารถกระทบจักขุปสาทได้

เห็นความอัศจรรย์ เห็นความลึกซึ้งไหม? สภาพธรรมมีมากมายหลายอย่างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น ไม่ว่าจะเป็นรส เป็นแข็ง เป็นความคิด เป็นความจำ เป็นอะไรทั้งหมดที่มี ไม่สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ นอกจากสิ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถกระทบจักขุปสาท เพียงกระทบไม่ได้รู้อะไรเลยแต่เป็นรูปที่กระทบกันได้ จักขุปสาทกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นปัจจัยที่อาศัยทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ แล้วมีปัจจัยหลายปัจจัยที่เราจะค่อยๆ รู้ว่า ที่เราเรียนมาทั้งหมด อะไรเป็นปัจจัยชั่วหนึ่งขณะจิตที่เกิด น่าอัศจรรย์ไหมในความไม่มีเรา และไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงธรรมได้

นี่เป็นความน่าอัศจรรย์ เพียงเห็นชั่วหนึ่งขณะยังเกิดเองไม่ได้ ต้องมีปัจจัยจึงต้องมีสิ่งที่กระทบจักขุปสาทได้ เห็นจึงเกิดขึ้นเห็นเพียงหนึ่งขณะแล้วดับ เพราะฉะนั้น เห็นจะเกิดขึ้นเองไม่ได้เลยต้องมีปัจจัยหลายปัจจัย เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระทบตาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นเกิดขึ้น

ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นเกิดขึ้น แม้เห็นหนึ่งขณะก็เกิดไม่ได้

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 23 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: เห็นเกิดดับทั้งวันทุกวันตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น ความไม่รู้เหมือนความมืดสนิทของคนตาบอด ที่ไม่สามารถจะเข้าใจแม้หนึ่งขณะจิตที่เห็นก็เกิดเองไม่ได้ แต่มีปัจจัยทำให้เกิดต้องเกิด

จิตเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่กำลังปรากฏกระทบตา เห็นจึงเกิดขึ้นเห็นเฉพาะสิ่งที่กระทบตาเท่านั้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระทบตาเป็นสิ่งที่ถูกจิตเห็น จึงใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออารมณ์ในภาษาไทย จิตเห็นเห็นสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ คือเป็นที่จิตเห็นเกิดขึ้นรู้

เพราะฉะนั้น แม้จิตหนึ่งขณะก็หลากหลายตามเหตุตามปัจจัย และสิ่งที่ถูกจิตรู้ ถ้าไม่มีสิ่งที่ถูกรู้จิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกรู้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น จึงใช้คำว่า อารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นสิ่งที่จิตรู้ในขณะนั้น

จิตมีมากมาย เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มเข้าใจจิตที่มีในชีวิตประจำวันก่อน จิตทุกประเภทเกิดขึ้นต้องรู้ สิ่งที่ถูกรู้เป็นปัจจัยหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอารัมมณปัจจัย

เลือกให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ไหม? จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นี้ไม่ให้จิตรู้อารมณ์นี้ได้ไหม ให้รู้อารมณ์อื่น? มีใครเลือกให้จิตรู้อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ได้บ้าง?

เริ่มเข้าใจธรรมทุกอย่าง เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ กว่าจะละความเป็นเราด้วยความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ต้องเป็นความรู้ที่ละเอียดลึกซึ้ง และชัด จึงสามารถที่จะรู้จริง และละความไม่รู้ได้

มีแต่อารัมณณปัจจัยไม่มีธาตุรู้ไม่มีจิตได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่มีอารัมมณะ ไม่มีจิตได้ไหม? นี่เป็นเหตุที่อารัมมณะเป็นปัจจัยหนึ่ง เรียกว่าหรือชื่อว่า อารัมมณปัจจัย เพราะอารัมมณะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิด

อารัมมณปัจจัยเป็นปัจจัยให้ฝนตกได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง ต้องไม่ลืมความหมายของอารัมมณะเป็นสิ่งที่จิตรู้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งเป็นอารัมมณะเท่านั้นสำหรับจิต สิ่งที่ไม่ใช่จิตจะมีอารัมมณะเป็นปัจจัยไม่ได้

มีอะไรบ้างไหมที่ไม่ใช่อารัมมณปัจจัย?

อาช่า: รูปที่จิตไม่รู้ ตอนนั้นรูปอื่นไม่ได้เป็นอารัมมณปัจจัย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดมากเลยนะ เพราะเหตุว่า ถามถึงปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่อารัมมณปัจจัยด้วย ว่า นอกจากอารัมมณปัจจัยแล้ว รูปเป็นปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: นอกจากอารัมมณปัจจัย ยังมีอีกหลายปัจจัย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คำถามอย่างนี้จะตอบว่าอย่างไร?

อาช่า: รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตเป็นสหชาตปัจจัยด้วย ...

ท่านอาจารย์: อะไรคะ เรายังไม่ไปถึงไหนเลย เราแค่ให้มีความมั่นคงในเรื่องปัจจัยก่อน ก่อนที่จะพูดถึงชื่อ ถ้าพูดถึงชื่อแล้วไม่รู้ว่าชื่อนั้นหมายความว่าอะไรก็ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น คำถามกว้างมากสำหรับให้คนที่คิดกว้าง และละเอียด ถ้ายังไม่กว้างพอไม่ละเอียดพอก็ไม่สามารถจะตอบได้ เช่นคำถามว่า รูปเป็นอารัมมณปัจจัยแล้ว รูปเป็นปัจจัยอื่นด้วยหรือเปล่า เพราะปัจจัยมีหลายอย่างใช่ไหม?

คุณสุคิน: ท่านอาจารย์หมายถึงรูปที่กำลังเป็นอารัมมณปัจจัย หรือว่าอย่างไร?

ท่านอาจารย์: เราพูดถึงรูปเป็นอารัมมณปัจจัยเฉพาะของจิตใช่ไหม?

คุณสุคิน: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: รูปที่ไม่เป็นอารัมมณปัจจัยของจิตเป็นปัจจัยได้ไหม รูปที่ไม่เป็นอารัมมณปัจจัยของจิตเป็นปัจจัยได้ไหม?

อาช่า: นอกจากรูปที่เป็นอารมณ์ ก็มีรูปอื่นที่เกิดแล้วดับเกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องมั่นคงว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดจะเกิดเองไม่ได้เลย ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจิต หรือเจตสิก หรือรูปก็ตาม จะเกิดขึ้นเองไม่ได้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก หรือรูป ก็ต้องมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นทั้งนั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 23 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าเราสนใจไปจำชื่อเรียนชื่อ แต่ไม่รู้ความจริงว่า ขณะนี้ที่จะเกิดเพียงหนึ่งยังเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิด

เพราะฉะนั้นการที่จะไม่มีเรา สิ่งที่มีไม่ใช่เราได้ ต้องอาศัยความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นมั่นคงขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่จำเรื่องปัจจัย ก็คิดว่า ขณะนั้น ละความเป็นเรา

เพราะฉะนั้น เราพูดเรื่องอารัมมณปัจจัย ก็ต้องรู้ว่าหมายความว่าต้องมีธาตุรู้ สิ่งที่ถูกรู้ จึงเป็นอารัมมณปัจจัยได้

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ไม่มีจิต มีรูปได้ไหม?

อาช่า: ถ้าไม่มีจิตรู้ แต่ก็มีรูปที่จิตไม่รู้ก็มีจริงก็มีอยู่

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถามว่าไม่มีจิต มีรูปได้ไหม?

อาช่า: ถ้าไม่มีจิตมีรูปได้

ท่านอาจารย์: ไม่มีจิต ไม่มีอารมณ์ได้ไหม?

อาช่า: ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอารมณ์

ท่านอาจารย์: แล้วมีรูปได้ไหม?

อาช่า: ได้

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง นี่คือความต่างกันของธาตุรู้จิต เจตสิก กับรูปซึ่งไม่รู้อารมณ์

เพราะฉะนั้น เรื่องรูปไม่มีข้อสงสัยแล้ว เรื่องอารัมมณะไม่มีข้อสงสัยแล้ว ต่อไปนี้เราจะพูดเพื่อเข้าใจจิตเพิ่มขึ้น เฉพาะจิต (ไม่พูดถึงอารมณ์ พูดถึงจิต)

ถ้าไม่มีปัจจัย จิตเกิดได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น นอกจากอารมณ์ เราไม่พูดถึงแล้วนะ เราพูดถึงเฉพาะจิต เพราะฉะนั้น อะไรเป็นปัจจัยให้จิตเกิด?

อาช่า: เจตสิกที่เป็นธรรมที่เกิดพร้อมจิต ถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้

ท่านอาจารย์: เจตสิกเกิดพร้อมจิตเกิดพร้อมเจตสิก อาศัยกันและกันหรือเปล่า?

อาช่า: จิต และเจตสิกอาศัยกันและกันค่ะ

ท่านอาจารย์: โดยปัจจัยอะไร?

อาช่า: สหชาตปัจจัย กับสัมปยุตตปัจจัย

ท่านอาจารย์: อาศัยกันและกันเป็นปัจจัยอะไร?

อาช่า: สหชาตปัจจัย

ท่านอาจารย์: สหชาตปัจจัย คืออะไร?

อาช่า: เกิดพร้อมกัน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถามว่า จิตอาศัยเจตสิก เจตสิกอาศัยจิตหรือเปล่า?

อาช่า: เข้าใจความหมาย แต่จำชื่อไม่ได้ แต่ไม่ใช่สหชาตปัจจัยต้องเป็นปัจจัยอื่น

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ ไม่ใช่จำชื่อ แต่ความที่จิตต้องอาศัยเจตสิก และเจตสิกก็ต้องอาศัยจิตเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตปัจจัย สามารถที่จะเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น แยกไม่ออก เพราะรู้สิ่งเดียวกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันด้วยก็เป็นสัมปยุตตปัจจัย แต่การที่ต่างอาศัยซึ่งกันและกันเป็นปัจจัยอีกหนึ่งซึ่งต่างจากนั้น คืออัญญมัญญปัจจัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 23 มี.ค. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราทบทวน จิตเกิดขึ้นมีปัจจัยอะไรบ้าง?

อาช่า: มีอารัมมณปัจจัย สหชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย

ท่านอาจารย์: นี่เพียงชั่วหนึ่งขณะจิต ถ้าขาดปัจจัยเหล่านี้ เกิดไม่ได้เลยที่จะเห็น เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตาชัดเจนว่า ไม่มีใครเลย แต่มีธรรมคือจิต เจตสิก รูป ซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดต้องเกิดเมื่อมีปัจจัยเฉพาะที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระทบตาได้เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเห็นเกิด ไม่เป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิด

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เริ่มเห็นปัจจัยซึ่งทำให้มีสภาพธรรมที่เกิดได้ปรากฏแล้วก็ดับไปเร็วสุดที่จะประมาณได้ เริ่มรู้ว่าธรรมลึกซึ้งแค่ไหนใช่ไหม แม้เกิดดับก็ไม่รู้?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: มีอะไรเป็นเราไหม?

อาช่า: ไม่มี

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจความหมายที่ว่า มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพราะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ค่อยๆ ออกจากความมืดสนิท และเพราะมีแสงสว่างนำไป

หนทางเริ่มจากความเข้าใจพระธรรม รู้ว่า มีธรรมทุกขณะ แต่ไม่เคยคิดว่า เป็นธรรม จนกว่าจะฟังอีก เข้าใจอีก จึงรู้ว่า มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งสูงสุดทำให้รู้ความจริง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มี.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ