ความสุข ... ... อยู่ที่ไหน
ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย มีความสุขได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ไม่ปฏิเสธเพราะยังยินดีพอใจในความสุข แต่ก็ไม่หลงไหลถึงกับตะเกียกตะกายต้องให้ได้มาซึ่งความ
สุขนั้นๆ ตามแต่อัตภาพ เพราะเป็นเรื่องของกรรม กิเลสและวิบาก ... ไม่ใช่เรา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ความสุข เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นโสมนัสเวทนา เกิดกับอกุศลก็ได้ เกิดกับกุศลก็ได้ เมื่อยังมีโลภะ ก็ยังแสวงหาความสุข ยินดีในความสุขใน รูป เสียง ... ..เป็นต้น และก็ต้องทุกข์ เพราะความสุขที่ได้มาด้วย เพราะสิ่งต่างๆ ก็ต้องแปรปรวนไป เมื่อติดในความสุขในสิ่งนั้น ก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น โลภะติดแม้กระทั่งความสุข ที่เกิดจากการทำกุศล จะกล่าวไปใยถึงความสุข ที่เกิดจากอกุศล ดังนั้น ที่สำคัญจึงไม่ใช่อยู่เพื่อหาความสุข แต่รู้จักโลกตามความเป็นจริงว่า ความสุขที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดกับอกุศล หรือกุศลนั้นคืออะไร เรายึดถือว่าเป็นเรา ที่มีความสุข ทั้งทางกุศลและอกุศล แต่เราไม่เคยรู้ความจริงเลยว่า ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา นี่แหละเป็นประเด็นสำคัญ ในการอบรมปัญญา เพื่อดับกิเลสคือเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพื่อดับความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน ดังนั้น จะสุขมากอย่างไร แม้ในทางกุศลก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เลย ตราบใดยังไม่เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม แม้ความสุข และก็คงรับความจริงว่า จะต้องทุกข์ เพราะเราติดข้องในความสุขที่เกิดขึ้น แต่ก็พร้อมๆ กับ อบรมปัญญา เพื่อสักวันหนึ่งเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม (แม้ความสุข) เมื่อนั้น ความทุกข์ก็น้อยลง เพราะเข้าใจความจริง และคงถึงสุขสูงสุดคือ พระนิพพาน แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น ก็ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานและบารมีในชีวิตประจำวัน ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เรื่อง ความสุข
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ -หน้าที่ 360
ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้สงบระงับละความชนะและความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 74
สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่สุข บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน, แต่เบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยท่อนไม้ บุคคลนั้นละไปแล้วย่อมไม่ได้สุข. สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่สุข, บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน, ไม่เบียดเบียน (ผู้อื่น) ด้วยท่อนไม้, บุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ -หน้าที่ 360
ไฟเสมอด้วยราคะย่อมไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ย่อมไม่มี สุขอื่นจากความสงบ (พระนิพพาน) ย่อมไม่มี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ -หน้าที่ 360
ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง บัณฑิตทราบเนื้อความนั้นตามความจริงแล้ว (กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน) เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ -หน้าที่ 316
บุคคลผู้เอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข, บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ. ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ศึกษาพระธรรมด้วยความเห็นถูก และไม่ควรหวัง เพื่อจะให้เป็นความสุขของเราเพราะอานิสงฆ์ของกุศล จะให้ผลเองตามเหตุปัจจัย เพียงเข้าใจ ... ..สุข ก็เกิดได้ ส่วนการประจักษ์แจ้งแทงตลอด ในธรรมตามความเป็นจริง เป็นเรื่องของปัญญาในขั้นที่สูงขึ้นไป จนกว่าจะถึง นิพพาน เมื่อนั้น ย่อมดื่มด่ำกับสุขแท้ยิ่งกว่าสุขใด
ความสุขเกิดจากการได้ทำความดี การให้ความไม่มีเวร ไม่เป็นภัยกับใคร เป็นมหาทาน คือการรักษาศีล ๕ ฯลฯ ให้ความช่วยเหลือคนอื่น การได้รับใช้งานศาสนา รับใช้ผู้มีพระคุณ ฯลฯ และที่สำคัญ ขณะที่ปัญญาเกิด มีความสุขค่ะ
ข้อความข้างต้นดีทุกๆ ข้อความค่ะ เห็นด้วย กับทุกคนค่ะ ข้าพเจ้าก็เช่นกันค่ะ ความสุขทางโลกนั้น ไม่เห็นจะเที่ยงเลย สู้ความสุขที่ได้ฟังพระธรรมและพิจารณาธรรม นั่นคือสุขของข้าพเจ้าค่ะ
ความสุข ที่เกิดจากความสงบจากกิเลส เป็นความสุขเย็นจริงๆ แต่เกิดไม่ได้ตลอด ต้องเพียรพยายามสะสมเหตุปัจจัย เพื่อเจริญปัญญา ถ้าเห็นโทษของกิเลส แล้วละได้ ก็มีความสุข