เพราะสิ่งนั้นกำลังเป็นจริงที่กำลังปรากฏ

 
เมตตา
วันที่  27 มี.ค. 2567
หมายเลข  47656
อ่าน  637

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 413

๘. จินตสูตร

ว่าด้วยการคิดในอริยสัจ ๔

[๑๖๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าคิดถึงอกุศลจิตอันลามกว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความคิดนี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพานก็เมื่อเธอทั้งหลายจะคิด พึงคิดว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความคิดนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบจินตสูตรที่ ๘

พึงทราบอธิบายในจินตสูตร แห่งปปาตวรรคที่ ๕.

คำว่า คิดเรื่องโลก ความว่า นั่งคิดเรื่องโลกอย่างนี้ว่า ใครหนอแลสร้างดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ใครสร้างแผ่นดินใหญ่ ใครสร้างมหาสมุทร ใครสร้างสัตว์ผู้อุปปาติกะ ใครสร้างภูเขา ใครสร้างมะม่วง ตาลและมะพร้าวเป็นต้น คำว่า เพราะฉะนั้น ความว่า เพราะเมื่อคิดเรื่องโลก ก็เป็นคนบ้า.


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 281
๔. สัจจวิภังค์

สุตตันตภาชนีย์

[๑๔๔] อริยสัจ ๔ คือ

๑. ทุกขอริยสัจ

๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ

๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ทุกขอริยสัจ

[๑๔๕] ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจ เป็นไฉน

ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โลกปริเทว ทุกข โทมนัสส อุปายาส ทุกข์อัปปีเยหิสัมปโยคทุกข์ ปีเยหิวิปปโยคทุกข์ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

[๑๔๖] ในทุกขอริยสัจนั้น ชาติ เป็นไฉน

ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งถึง ความเกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้เฉพาะอายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า ชาติ

ฯลฯ

[๑๕๗] โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน

รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ สภาวธรรมนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 295

เพราะพระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมแทงตลอดสัจจะเหล่านั้นฉะนั้น สัจจะเหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า อริยสัจจะ เหมือนอย่างพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า จตฺตาริมานิ ภิกฺขเว อริสจฺจานิ กตมานิ ฯ เป ฯ อิมานิโข ภิกฺขเว จตฺตาริ อริสจฺจานิ อริยา อิมานิ ปฏิวิชฺฌนฺติตสฺมายดี อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺติ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการเหล่านี้แล พระอริยะทั้งหลายย่อมแทงตลอดอริยสัจเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อริยสัจดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะ ดังนี้บ้าง เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า สเทวเก ภิกฺขเว โลเก ฯ เป ฯ สเทวมนุสฺสาย ตถาคโต อริโย ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอริยะในโลกพร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัจจะของพระอริยะ ๒.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจเหล่านั้นอันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง เพราะความสำเร็จโดยความเป็นอริยะบ้างเหมือนอย่างที่ตรัสว่า อิ เมสํ โข ภิกฺขเว จตุนฺนํ อริยสจฺจานํยถาภูตํ อภิสมฺพุทฺธตฺตา ตถาคโต อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อริโยติวุจฺจติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าชาวโลกเรียกว่า อริยะ เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ เหล่านี้แลตามความจริง.

อีกอย่างหนึ่งแล ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะอันประเสริฐ คำว่า อริยะ นี้มีอธิบายว่า เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นของคลาดเคลื่อน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า อิมานิ โข ภิกฺขเวจตฺตาริ อริสจฺจานิ ตถานิ อวิตถานิ อนญฺญกานิ ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เป็นของแท้ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อริยสัจ (สัจจะอันประเสริฐ) ดังนี้


ท่านอาจารย์: เริ่มรู้จักสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ว่า แท้จริงคิออะไร มีสิ่งที่เป็นวิญญาณเกิดขึ้นรู้ทั้งวัน แต่ไม่รู้ความจริงเลย จนกว่าจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้ เพราะสิ่งนั้นกำลังเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ที่เกิดแล้วดับด้วย เพราะก่อนเห็นไม่มีเห็น ก่อนได้ยินไม่มีได้ยิน พอเห็นเกิดขึ้นดับ ได้ยินเกิดขึ้นดับ ก็เป็นความจริงที่ถึงที่สุด อริยสัจจธรรมรอบที่ ๑ ปริยัติในอริยสัจจ์ ๔ เกี่ยวข้องกันหมด เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วแต่พระองค์จะทรงแสดงความจริงในลักษณะใด ด้วยคำอะไร ก็ให้เข้าใจคำนั้นว่า ไม่ได้ไกลจากสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้เลย แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยคิด พอรู้พอคิด ก็คือไม่มีเรา แต่ความเป็นไปของธรรมที่เป็นธาตุรู้ก็เป็นอย่างนี่

อ.วิชัย: ตามที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวมาก็พอเข้าใจว่า จากความรู้ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นจากการได้ฟัง และไตร่ตรองก็เป็นความรู้ขึ้นครับ

มีข้อความในจริยานานัตตญาณนิเทศ ซึ่งท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงญาณจริยา ท่านมุ่งหมายถึงวิปัสสนา และมรรคผลครับ ทำไมถึงมุ่งหมายถึงความรู้ในระดับนั้นครับ เพราะว่าความรู้ก็ต้องมีการเจริญขึ้นตามลำดับ แต่ว่า ถ้ากล่าวถึงจริยานานัตตญาณนิเทศ ท่านจะมุ่งถึงวิปัสสนาและมรรคผลเลยครับ

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้ เห็น เกิดแล้วเปล่า?

อ.วิชัย: เห็นเกิดครับ

ท่านอาจารย์: รู้แล้วยัง?

อ.วิชัย: ยังไม่รู้ครับ

ท่านอาจารย์: จนกว่าจะถึงวิปัสสนาใช่ไหม?

อ.วิชัย: ใช่ครับ ถึงจะรู้ได้ต้องเป็นวิปัสสนา แสดงว่าความรู้ที่ค่อยๆ สะสมขึ้นยังไม่ต้องกล่าวถึงใช่ไหมครับ

ท่านอาจารย์: กล่าวถึงแต่ไม่รู้ เพียงเข้าใจขึ้นตามลำดับ จึงเป็นอริยสัจจธรรมรอบที่ ๑

อ.วิชัย: เข้าใจขึ้นครับท่านอาจารย์ ว่า เหตุใดท่านมุ่งหมายอย่างนี้ครับ เป็นการเริ่มเข้าใจ แต่ยังไม่รู้ในความเป็นจริงของสิ่งนั้นครับ

ท่านอาจารย์: นี่แหละ คือการสนทนากันเพื่อเข้าใจขึ้นในสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ตั้งแต่เบื้องต้น คือต้องฟัง และก็ต้องไตร่ตรองเห็นถูกต้อง หรือว่ายังไม่ได้เข้าใจ ก็แล้วแต่ผู้ฟังว่ามีความเข้าใจระดับไหน เป็นการสะสมเพราะว่าธรรมลึกซึ้ง จึงได้ฟังครั้งแรกเข้าใจอย่างนี้ แต่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ก่อนเห็นไม่มีเห็น เห็นเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป จริงถึงที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ระดับที่ปัญญาถึงขั้นวิปัสสนาประจักษ์แจ้งความจริงตามลำดับขึ้น แสดงว่าความจริงจะลึกซึ้งแค่ไหน ระดับไหนประจักษ์แจ้งความจริงตามลำดับขั้น แต่ละขั้นลึกซึ้งละเอียดยิ่งขึ้นทุกอย่างทุกขั้น

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

รอบ ๓ อาการ ๑๒

ไม่ต้องปริยัติ ปฏิบัติเลย!! ผู้ที่กล่าวคำนี้ ไม่นับถือพระพุทธเจ้า แน่นอน!!

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Wiyada
วันที่ 5 เม.ย. 2567

เพราะจิตเกิดขึ้นรู้ทุกอย่างที่มีจริงจึงปรากฏ

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ