ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธตรัสเป็นคำจริง

 
เมตตา
วันที่  29 มี.ค. 2567
หมายเลข  47665
อ่าน  391

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๙๖

[๑๖๙] ญาณจริยาเป็นไฉน?

กิริยาคือ ความนึกเพื่อต้องการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง อันเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นญาณจริยา กิริยาคือ ความนึกเพื่อต้องการพิจารณาเห็นความทุกข์อันเป็นอัพยา-กฤต เป็นวิญญาณจริยา การพิจารณาเห็นทุกข์ เป็นญาณจริยา กิริยาคือ ความนึกเพื่อต้องการพิจารณาเห็นอนัตตา อันเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา การพิจารณาเป็นอนัตตา เป็นญาณจริยา กิริยาคือ ความนึกเพื่อต้องการพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย ฯลฯ เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความคลายกำหนัด เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความดับ เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความสละคืน เพื่อต้องการพิจารณา เห็นความสิ้นไป เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความเสื่อมไป เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความแปรปรวน เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความไม่มีนิมิต เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความไม่มีที่ตั้ง เพื่อต้องการพิจารณาเห็นความสูญ เพื่อต้องการพิจารณาเห็นธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เพื่อต้องการพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อต้องการพิจารณาเห็นโทษ เพื่อต้องการพิจารณาหาทาง อันเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา การพิจารณาหาทาง เป็นญาณจริยา การพิจารณาเห็นความคลายออก คือนิพพาน เป็นญาณจริยา โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลาสมาบัติ สกทาคามิมรรค สกทาคามิผลสมาบัติ อนาคามิมรรค อนาคามิผลสมาบัติ อรหัตตมรรค อรหัตตผลสมาบัติ เป็นญาณจริยา.


[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๙๙ - ๘๐๐

[๑๗๐] คำว่า ญาณจริยา ความว่า ชื่อว่าญาณจริยา เพราะอรรถว่ากระไร?

ชื่อว่าญาณจริยา เพราะอรรถว่าประพฤติไม่มีราคะ ประพฤติไม่มีโทสะ ฯลฯ ประพฤติไม่มีอนุสัย ประพฤติไม่ประกอบด้วยราคะ ประพฤติไม่ประกอบด้วยโทสะ ประพฤติไม่ประกอบด้วยโมหะ ประพฤติไม่ประกอบด้วยมานะ ฯลฯ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ ไม่ประกอบด้วยอุทธัจจะ ไม่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา ไม่ประกอบด้วยอนุสัย ประกอบด้วยกุศลกรรม ไม่ประกอบด้วยอกุศลกรรม ไม่ประกอบด้วยกรรมมีโทษ ประกอบด้วยกรรมไม่มีโทษ ไม่ประกอบด้วยกรรมดำ ประกอบด้วยกรรมขาว ประกอบด้วยกรรมมีสุขเป็นกำไร ไม่ประกอบด้วยกรรมมีทุกข์เป็นกำไร ประพฤติประกอบด้วยกรรมมีสุขเป็นวิบาก ประพฤติไม่ประกอบด้วยธรรมมีทุกข์เป็นวิบาก ประพฤติในญาณ ญาณมีจริยาเห็นปานนี้ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ญาณจริยา นี้ชื่อว่าญาณจริยา วิญญาณจริยา อัญญาณจริยา ญาณจริยา ชื่อว่า เพราะอรรถว่า รู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดจริยา เป็นจริยานานัตตญาณ.


อ.อรรณพ: กราบเท้าท่านอาจารย์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง มิเช่นนั้นเราก็จะมีแต่วิญญาณจริยา แล้วก็มีอัญญาณจริยาสืบต่ออย่างรวดเร็วอยู่อย่างนี้ แม้จะได้ยินได้ฟังเรื่องจริยา ๓ ในขณะที่คิดว่ารู้เรื่องนี้แล้ว หรือไปคิดด้วยความอยากรู้ ขณะนั้นก็เป็นอัญญาณจริยาที่เป็นไปในเรื่องของจริยา ๓ ซ้อนขึ้นไปอีก แล้วเมื่อวานท่านอาจารย์ปรารถสนทนากับชาวต่างประเทศที่เขาเห็นประโยชน์ที่จะเห็นในความลึกซึ้ง ซึ่งท่านอาจารย์วันนี้ก็ได้ถ่ายทอดให้พวกเรา เพราะว่า ก็มีความประพฤติเป็นไปในการรู้อารมณืของจิตนี้อยู่เสมอๆ ในการที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือในความละเอียด ท่านก็แสดงไว้เมื่อได้อ่านข้อความในจริยานานัตตญาณนิเทศ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ที่ท่านแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเห็น หลังเห็นดับไปแล้ว จะมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ก็เป็นธรรมที่ท่านแสดงว่า ไม่ประกอบฝ่ายดำ ฝ่ายขาว ก็คือเป็นพวกอเหตุกจิตที่เราเรียนเรื่องกันมาก็มีความประพฤติเป็นไป และท่านก็ยังกล่าวละเอียด เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ศึกษาจะคิดว่าพระสูตรเป็นพระสูตร แต่พระสูตรนี่เป็นพระอภิธรรมหมดเลย โดยเฉพาะในปฏิสัมภิทามรรคจะเห็นชัดเลยว่า จะมีความเป็นไปของจิตที่เป็นวิบาก เห็น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ แล้วก็ถึงโวฏฐัพพนะ ท่านจะไม่ใช้คำว่าโวฏฐัพพนะ ท่านก็ใช้ความเป็นจริยาอัพยากฤตต่างๆ ซึ่งก็ยังเป็นวิญญาณจริยา แต่พอดับไปเมื่อแล่นไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ โดยสาระที่ในข้อความพระสูตรนั่นก็เป็นอัญญาณจริยา เร็วมากเลย

เพราะฉะนั้น ชีวิตน่าสลด ท่านอาจารย์ว่า มีแต่วิญญาณจริยา แล้วก็ตามด้วยอัญญาณจริยาเสมอๆ ก็เตือนมากเลย

และ ที่ อ.วิชัย กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ทำไมญาณจริยา ท่านถึงมุ่งเอาวิปัสสนาญาณ ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวตรงมากๆ กับในข้อความที่ท่านแสดงไว้ว่า ในเรื่องของจริยาต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นญาณจริยา ชื่อว่า ญาณจริยา เพราะอรรถว่ากระไร ท่านก็แสดงว่า เพราะประพฤติไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ และท่านก็มีอธิบายละเอียดตอนที่เป็นอัพยากฤต ก็คือตอนที่หลังเห็น สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ แล้วโวฏฐัพพนจิตเกิดซึ่งเป็นกิริยาจิตซึ่งไม่มีเหตุอะไรเลย อัพยากตะ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่มีธรรมฝ่ายดำ ไม่มีธรรมฝ่ายขาว ที่ท่านอธิบายไว้อย่างดี กราบบูชาพระคุณท่านพระสารีบุตรมากๆ เราก็เข้าใจได้นิดหน่อย

ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็น่าอัศจรรย์ ท่านอาจารย์ว่า เมื่อมีวิญญาณจริยาเกิดแล้ว วิญญาณจริยาดวงที่ติดกันเลย ก็คือตอนที่มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาอัพยากฤตเกิดขึ้นกระทำทางให้ชวนะเกิด อันนั้นเป็นวิญญาณจริยา ไม่ว่าจะเป็นโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร หรือว่าอาวัชชนกิจทางมโนทวาร พอเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตต่อไปทำพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่แหละ ขณะนั้นจึงเป็นญาณจริยา เมื่อมีปํญญาที่รู้ในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทางมโนทวารที่เกิดสืบต่อมโนทวาราวัชชนจิต ความประพฤติไม่มีอนุสัยอย่างนี้ ท่านอาจารย์ให้ความละเอียด ขอกราบเท้าท่านอาจารย์จะเพิ่มเติมที่สนทนากับ อ.วิชัย ว่า วันๆ เป็นไปด้วย จริยาของจิต ๒ อย่าง ก็คือวิญญาณจริยา พวกจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหลาย แล้วก็ตามทันทีด้วยอัญญาณจริยา จนกว่าจะอบรมอย่างไรที่เมื่อวิญญาณจริยาดับไป จะตามด้วยญาณจริยาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ต้องอาศัยเหตุเกื้อกูลอย่างไรบ้างครับ

ท่านอาจารย์: ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นคำจริง ทุกคนได้ยินเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่า การจะเข้าถึงความละเอียดของธรรมได้แค่ไหน เพราะบางคนเพียงแต่ได้ยินชื่อ รู้คำแปล รู้ความหมาย เข้าใจคิดว่าพอแล้ว แต่ผู้ที่ได้สะสมมา พอได้ยินทุกคำ ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เห็นความไม่รู้มากมายมหาศาล

เริ่มรู้สึกอย่างไร? ปัญญามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ความไม่รู้มีมากมายอย่างนี้ และก็ไม่ใช่ใครเลย เป็นธรรมซึ่งมีแต่สะสมพอกพูนลึกลงไปทุกทีในความเป็นเรา

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นโทษอย่างนี้ ก็จะเข้าใจแต่ละคำว่า หมายความถึงการที่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็ควรที่จะได้รู้ความจริง ซึ่งการรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่กว่าจะตรัสรู้ คนที่ฟังก็ต้องเห็นว่า เพราะธรรมลึกซึ้งอย่างนี้ จึงไม่ประมาทที่จะรู้ว่า ทุกอย่างไม่เว้นเลย ไม่ต้องไปทำ เพราะเหตุว่าเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนไม่ได้ เพียงแต่ว่า เริ่มระลึกถึงสิ่งที่ได้ฟังเพื่อที่ขณะนั้นก็จะได้ไม่ลืมว่า ขญะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอะไร

เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็ต้องผ่านการที่จะต้องเข้าใจขึ้นในความไม่ใช่ตัวตน เห็นประโยชน์มากขึ้น รู้ว่าแม้ระยะเวลาจะนานสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ความค่อยๆ เข้าใจขึ้น หนทางเดียวที่จะทำให้สามารถละความไม่รู้ และประจักษ์แจ้งความจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกคำ ไม่รีบร้อนเลย เป็นปกติอย่างนี้เอง แต่ความเข้าใจในความละเอียดเพิ่มขึ้น จึงละการที่จะไปขวนขวายผิดๆ เพราะเหตุว่า ต้องการที่จะรู้นิพพาน ต้องการที่จะละกิเลสโดยไม่รู้ว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้เป็นอะไร

เพราะฉะนั้น จึงเริ่มเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม และเห็นพระคุณสูงสุด แม้ลึกซึ้งอย่างไรพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้ความจริง จนแสดงความลึกซึ้งตลอด ๔๕ พรรษา

เพราะฉะนั้น คนที่ได้ฟัง ไม่ใช่หวังที่จะได้รู้ หวังที่จะได้เข้าใจ แต่ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้ง นั่นแหละ เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามที่ได้ฟังตั้งแต่ต้นว่า ไม่ใช่เรา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา อริยสัจจะที่ ๑ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา ทุกขณะเดี๋ยวนี้ปกปิดไว้ด้วยความรวดเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะนี่คือ ความลึกซึ้ง จะเปลี่ยนไม่ได้ เดี๋ยวนี้ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏเหมือนพร้อมกันทันที ไม่เคยขาดไปเลย ไม่เห็นการเกิดดับของอะไรเลย เพราะความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ปรมัตถธรรมเป็นอนัตตา

ความลึกซึ้ง ความละเอียดของการละเป็นอย่างไร

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ