อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์จำแนกได้อย่างไร? [ปัญจราชสูตร]

 
wittawat
วันที่  30 มี.ค. 2567
หมายเลข  47668
อ่าน  282

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์จำแนกได้อย่างไร?

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 460

เรื่องของราชา๕คนที่อิ่มเอิบด้วยกามคุณเข้าไปถามปัญหากับพระพุทธเจ้าดังนี้

[๓๖๐] ... ร ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.

[๓๖๑] ... ภ ... ที่สุดแห่งความพอใจนั่นแหละ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นยอดในเบญจกามคุณ ... รูปเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน รูปเหล่านั้นไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน เขาดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยรูปเหล่าใด รูปอื่นจากรูปเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า เขาก็ไม่ปรารถนา รูปเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา รูปเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา ... (เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ก็นัยเดียวกันที่แสดง)


สรุปอรรถกถา หน้า 462

บทว่า มนาปปริยนฺตํ ได้แก่ ทำอารมณ์ที่น่าพอใจให้เสร็จชื่อว่าเป็นยอดอารมณ์ที่น่าพอใจ.

ในคำว่า มนาปปริยนฺตํ นั้น อารมณ์ที่น่าพอใจมี ๒ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจของบุคคล อารมณ์ที่น่าพอใจโดยสมมติ ...

ไส้เดือน ย่อมเป็นของที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ของชาวปัจจันตประเทศ แต่ชาวมัชฌิมประเทศเกลียดนัก. ส่วนเนื้อนกยูง เป็นต้น เป็นที่น่าปรารถนาของชาวมัชฌิมประเทศเหล่านั้น แต่สำหรับชาวปัจจันตประเทศนอกนี้เกลียดนัก.นี้คือสิ่งที่น่าพอใจของบุคคล.

สิ่งที่น่าพอใจโดยสมมติเป็นอย่างไร. ชื่อว่า อิฏฐารมณ์ (น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์ (ที่ไม่น่าปรารถนา) ที่แยกกันในโลกไม่มีเลย แต่ก็พึงจำแนกแสดง ...

จริงอยู่ อารมณ์แม้สำเร็จจากทิพย์ ก็ปรากฏว่า ไม่สมพระทัยของกษัตริย์ ...

จริงอยู่ คนเข็ญใจอย่างยิ่งเหล่านั้น เมล็ดข้าวสวยปลายเกวียนก็ดี รสเนื้อเน่าก็ดี ก็มีรสอร่อยเหลือเกิน เสมือนอมฤตรส ...

วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 37

- จำแนกอารมณ์น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ... ด้วยสัตว์บุคคล.

ถามว่า พระองค์ทรงจำแนกด้วยอำนาจใคร?

ตอบว่า ด้วยอำนาจของสัตว์ผู้ปานกลาง ...

เช่นหัวหน้าหมู่มหาอำมาตย์ เศรษฐี กุฏุมภี และพ่อค้าเป็นต้น บางคราวได้อยู่ซึ่งอิฏฐารมณ์บางคราวก็ได้อนิฏฐารมณ์ เพราะชนชั้นกลางเห็นปานนี้ย่อมอาจเพื่อกำหนดอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ได้.


วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 3 ขันธวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ รูปขันธ์

[๖] รูปทราม เป็นไฉน?

รูปใด ของสัตว์นั้นๆ ที่น่าดูหมิ่น น่าเหยียดหยาม น่าเกลียด น่าตำหนิ ไม่น่ายกย่อง ทราม รู้กันว่าทราม สมมติกันว่าทราม ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารัก ไม่น่าชอบใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้เรียกว่า รูปทราม.

รูปประณีต เป็นไฉน?

รูปใด ของสัตว์นั้นๆ ที่ไม่น่าดูหมิ่น ไม่น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเกลียด ไม่น่าตำหนิ น่ายกย่อง ประณีต รู้กันว่าประณีต สมมติกันว่าประณีต น่าปรารถนา น่ารัก น่าชอบใจ ได้แก่ รูป เสียง กล่น รส โผฏฐัพพะ นี้เรียกว่า รูปประณีต.

หรือพึงทราบรูปทรามรูปประณีต โดยอาศัยเทียบเคียงรูปนั้นๆ เป็นชั้นๆ ไป.


วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 37 อรรถกถาสัมโมหวิโนทนี

- จำแนกอารมณ์น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ... ด้วยชาติของจิต.

พระจุฬาภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกกล่าวว่า "ธรรมดาว่าอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์กำหนดได้ด้วยอำนาจวิบากเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดด้วยอำนาจชวนจิต แต่ชวนจิตย่อมยินดี ... ยินร้ายในอิฏฐารมณ์ ย่อมยินดี ... ยินร้ายในอนิฏฐารมณ์ ... ด้วยสัญญาวิปลาสดังนี้." ก็อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์นี้ย่อมกำหนดด้วยอำนาจแห่งวิบากโดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะใครๆ ไม่อาจลวงวิบากจิตได้ ถ้าอารมณ์เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา กุศลวิบากย่อมเกิดขึ้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา อกุศลวิบากก็ย่อมเกิดขึ้น.

จริงอยู่ พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นพระพุทธเจ้า ... ย่อมถึงโทมนัส ฟังเสียงแสดงธรรมก็ย่อมอุดหูเสีย ... ถึงอย่างนั้น วิญญาณทั้งหลายมีจักขุวิญญาณ และโสตวิญญาณเป็นต้นของพวกมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเป็นกุศลวิบากเท่านั้น ...

สุกรกินคูถเป็นต้น ได้กลิ่นคูถก็เกิดความดีใจว่า เราจักกินคูถดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นจักขุวิญญาณของมันในการเห็นคูถ ฆานวิญญาณในการดมกลิ่นคูถนั้น และชิวหาวิญญาณในการลิ้มรส ย่อมเป็นอกุศลวิบากโดยแท้ ...

สุกรที่ถูกมัดให้นอนบนที่นอนอันประเสริฐย่อมส่งเสียงร้องดัง แต่โทมนัสของมันย่อมเกิดในชวนจิตเท่านั้นด้วยสัญญาวิปลาส กายวิญญาณของมันย่อมเป็นกุศลวิบากเท่านั้น ... เพราะเหตุไร? ... เพราะความที่อารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์.


-จำแนกอารมณ์น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ... ด้วยอำนาจทวาร.

วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 38 อรรถกถาสัมโมหวิโนทนี

กองคูถที่เป็นดังโคลนเลนมีสัมผัสเป็นสุข เป็นอนิฏฐารมณ์ในจักขุทวารและฆานทวาร เป็นอิฏฐารมณ์ในกายทวาร

พระเจ้าจักรพรรดิ ... ถูกทำให้สะดุ้งบนหลาวทองคำ ... หลาวทองคำเป็นอิฏฐารมณ์ในจักขุทวาร เป็นอนิฏฐารมณ์ในกายทวาร.เพราะเหตุไร? เพราะการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ใหญ่. อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ... ย่อมกำหนดด้วยวิบากเท่านั้นโดยส่วนเดียว.


[สรุป]

อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์จำแนกได้อย่างไร?

ตอบ โดยนัยแห่งเบญจกามคุณ ๕ คือ รูป ๕ ประเภท

อารมณ์ หมายถึง บรรดาธรรมที่มีรูป ... เรียกว่ารูปารมณ์ ... เสียง ... เรียกว่าสัททารมณ์ ... กลิ่น ... เรียกว่า คันธารมณ์ ... รส ... เรียกว่า รสารมณ์ ... โผฏฐัพพะ ... เรียกว่าโผฏฐัพพารมณ์ ... ธรรมทั้งหลายนั่นแหละกล่าวคือ โคจร (อารมณ์) ของจิต ... ทั้งธรรมที่ไม่พึงกล่าวและที่เหลือจากธรรมที่กล่าวแล้ว เรียกว่า ธรรมารมณ์.

โดยสรุป คือ อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่ท่องเที่ยวไปมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งมาสู่คลองในปัญจทวาร และคลองในมโนทวาร คือ เป็นสิ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้ (ศึกษาโดยละเอียดได้จาก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 241 เป็นต้นไป)

อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาที่เป็นอารมณ์ของจิต ถ้าเป็นรูป ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา ซึ่งรูปที่น่าปรารถนา หรือรูปปราณีต (ปณีตํ) จะมีกุศลกรรมเป็นสมุฏฐานโดยส่วนเดียว

อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาที่เป็นอารมณ์ของจิต ถ้าเป็นรูป ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่น่าปรารถนา ซึ่งรูปที่ไม่น่าปรารถนา หรือรูปทราม (หีนํ) มีอกุศลกรรมเป็นสมุฏฐานโดยส่วนเดียว (วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 34)

พึงทราบว่า รูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานอื่น เช่น อุตุ จิต เป็นต้น ก็มีทั้งรูปที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา เช่นกัน

- จำแนกด้วยอำนาจของสัตว์ผู้ปานกลาง เพราะเป็นผู้ที่บางคราวได้อารมณ์ที่น่าพอใจ และบางคราวได้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งต่างจากกษัตริย์ที่ได้อารมณ์ที่น่าพอใจอย่างเดียว หรือคนยากจนที่ได้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจอย่างเดียว จนกระทั่งแยกไม่ออกว่าสิ่งใดเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์

- จำแนกด้วยวิบากจิต โดยอิฏฐารมณ์ย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก อนิฏฐารมณ์ย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก

- จำแนกด้วยวิบากจิตที่เกิดแต่ละทวาร เพราะแม้มาจากสัตว์ บุคคล หรือวัตถุประเภทเดียวกัน แต่รูปทางตา และรูปทางกายไม่เหมือนกัน ให้วิบากที่แตกต่างกัน เช่น เข็มทำจากทองคำ โซฟานั่งสบายสีไม่สวย เป็นต้น

(วิสุทธิมรรคภาค ๓ เล่ม ๑ แปล หน้า ๑๐๔) รูปทราม-รูปประณีต นั้นท่านยังแสดงโดยแบบแยกชั้น (ปริยาย) ๑ และแบบไม่แยกชั้น (นิปปริยาย) ๑

- จำแนกแบบแยกชั้น รูปของเทพเหล่าสุทัสสีเลวกว่ารูปของเทพเหล่าอกนิฏฐา ... ดังนี้จนกระทั่งรูปของสัตว์นรก

- จำแนกแบบไม่แยกชั้น พึงทราบว่าอกุศลวิบากวิญญาณเกิดขึ้นในรูปใด รูปนั้นเลว กุศลวิบากวิญญาณเกิดขึ้นในรูปใด รูปนั้นก็เป็นรูปประณีต

พึงทราบว่าทางมโนทวาร แม้นิพพานก็เป็นอิฏฐารมณ์ (วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 36) เพราะปรมัตถธรรมอื่นที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ก็เป็นอารมณ์ได้เช่นกัน แม้นามธรรมก็มีทั้งทรามและประณีตด้วยเช่นกัน (ศึกษาได้จากสัมโมหวิโนทนี อรรถกถาขันธวิภังค์)

กราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 4 เม.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ