ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๕๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๕๗
~ ทุกคนเหมือนกันหมด รักสุข เกลียดทุกข์ ทุกคนอยากจะได้สิ่งที่ดี อยากจะเห็น อยากจะได้ยิน อยากจะได้กลิ่น อยากจะลิ้มรส อยากจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี เราอย่างไร เขาก็อย่างนั้น พอที่จะแบ่งปันให้ได้ เราก็แบ่งปันไปเลยทันที ก็ทำให้กุศลจิตของเราเกิดได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ศีลเป็นเรื่องของกาย วาจา ใครที่เคยพูดไม่ดีบ่อยๆ คนอื่นฟังแล้วไม่สบายใจ ถ้าเราเป็นคนนั้นที่ได้ยิน จะเป็นอย่างไร เราก็อาจจะเปลี่ยนเสียง เปลี่ยนคำพูด ก็เป็นกุศลในขณะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าเข้าใจ มีกุศลได้มาก เพราะแม้แต่เมตตา ความเป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยบุคคลอื่น ก็เป็นกุศลที่เจริญได้ แต่กุศลที่ประเสริฐสุด คือการเข้าใจพระธรรม
~ เมื่อสะสมมาที่จะสนใจที่จะฟังที่จะเข้าใจ เวลาที่ได้ยินได้ฟังธรรม เราก็สนใจอีก ฟังอีก สะสมต่อไปอีก เป็นลาภที่ประเสริฐกว่าลาภอย่างอื่น เรียกว่า ลาภานุตริยะ ลาภ คือ ศรัทธาในพระรัตนตรัย หายากกว่าลาภอื่น ต้องเป็นการสะสมของแต่ละคน ถ้าเรามีความเข้าใจธรรมจริงๆ แล้วเอาอย่างอื่นมาแลก ยอมไหม? ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง สรรเสริญ ไม่มีความหมายเลย เทียบกันไม่ได้เลย ที่จะกลับไปไม่รู้อีก ไม่เข้าใจอีก ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น นามธรรม รูปธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่รู้ คงไม่มีใครยอม ก็แสดงว่ามีความมั่นคงขึ้นในศรัทธาในพระรัตนตรัย
~ ถ้าศึกษาธรรมก็รู้ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ธรรมเป็นอย่างนี้หรือเปล่า? มีจริงๆ เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมได้เลย แต่เมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ คือ ตรัสรู้ความจริงของธรรม เพราะฉะนั้น ใช้คำว่าทรงแสดงธรรมคือทรงแสดงความจริงของธรรม ให้คนอื่นได้เข้าใจถูกได้รู้ตาม จนกระทั่งสามารถที่จะดับความไม่รู้ เป็นผู้ที่สามารถที่จะละอกุศลทั้งหลายได้ อกุศลทั้งหลายเกิดจากความไม่รู้
~ จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) ที่ดับไป ก็ไม่ได้พบเห็นกับจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้เลย ฉะนั้น ชีวิตจึงชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีกิจน้อยอย่างนี้ คือ เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวและดับไป เกิดขึ้นกระทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งและดับไป ไม่ว่าจะเป็นกิจเห็น กิจได้ยิน กิจได้กลิ่น กิจลิ้มรส กิจรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส กิจคิดนึก ก็ดับหมดสิ้นไป แต่ละขันธ์ๆ ที่เกิดร่วมกัน ก็ดับไปพร้อมกัน และอย่าลืมที่จะพิจารณาว่าขันธ์ที่เกิดก่อนก็ดี ขันธ์ที่เกิดในภายหลังก็ดี มิได้เห็นกันและกันในกาลไหนๆ เพราะฉะนั้น ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง
~ ต้องอาศัยการฟังพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จนกว่าปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะเกิดขึ้นจึงจะดับกิเลสได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะพยายามดับกิเลสด้วยวิธีอื่นโดยไม่อบรมเจริญปัญญา
~ สภาพธรรมทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นก็เป็นเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่ปัญญาตามลำดับขั้น ก็จะต้องอาศัยการอบรมเจริญตามลำดับขั้นซึ่งเริ่มจากการฟังให้เข้าใจจริงๆ
~ การลบล้างคุณของผู้อื่นเกิดขึ้นขณะใด ควรระลึกถึงสภาพของจิตของผู้ที่กำลังลบล้างคุณของผู้อื่นในขณะนั้นว่า เป็นอกุศลกรรมของตนเอง ซึ่งจะต้องให้ผล ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นคิดที่จะลบล้างคุณของคนอื่น แต่จิตที่กำลังคิดอย่างนั้นเป็นอกุศล และเมื่อได้กระทำกรรมนั้นแล้วก็เป็นอกุศลกรรม ซึ่งตนเองจะต้องเป็นทายาท คือ เป็นผู้ที่รับผลของกรรมนั้น
~ ต้องเห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะตราบใดที่ยังไม่เห็นว่าอกุศลนั้นๆ เป็นโทษ ก็จะไม่มีการพากเพียรที่จะละอกุศลนั้นๆ
~ วันหนึ่งๆ โลภะเกิดขึ้นในอารมณ์ต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้เลย ทั้งทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส กำลังซัดส่ายไปหาทุกข์แท้ๆ ถ้ารู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของทุกข์ ให้ทราบว่าในขณะใดที่กำลังแสวงหาสุข ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นกำลังซัดส่ายไปหาทุกข์ เพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีสิ่งที่พอใจเกิดขึ้นขณะใด ให้ทราบว่า เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตใดๆ ก็ตาม ถ้าพลัดพรากจากสิ่งนั้น ขณะนั้นย่อมเป็นทุกข์ เพราะถ้ามีความพอใจแสวงหาอารมณ์นั้น ก็ไม่ต้องการที่จะให้อารมณ์นั้นพลัดพรากจากไป แต่ให้ระลึกว่า เมื่อความพอใจมีอยู่ในที่ใด ย่อมมีทุกข์ซึ่งจะเกิดเพราะสิ่งนั้นในภายหลัง
~ การฟังพระธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นตลอดชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว บางท่านอาจถามว่าจะต้องฟังนานสักเท่าไร คำตอบ คือ ตลอดชีวิต และไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียวด้วย อีกกี่กัปป์ก็ตามแต่ที่มีโอกาสจะได้ฟัง
~ น่ากลัวไหมอกุศล เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย ดูไม่น่าเป็นโทษเป็นภัยเลย เพียงความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ซึ่งทุกคนก็มี เหมือนๆ กัน แต่ใครจะมีมากจนกระทั่งสามารถมีวาจาที่ผิดหรือมีกายกรรมที่ผิด มีความประพฤติที่ผิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งวันใดถ้ากิเลสเหล่านั้นยังไม่ดับ แต่ละบุคคลก็อาจทำกายกรรมและวจีกรรมที่ผิดอย่างนั้นได้
~ เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร สภาพธรรมมีจริงๆ เกิดขึ้น ถ้ารู้ว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่เดือดร้อนในขณะนั้นได้ กิเลสมีมาก ใครก็บังคับไม่ได้ ไม่มีชื่อด้วย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะมีการกระทำทางกายวาจาอย่างไร ก็เป็นไปด้วยกำลังของกิเลสนั้นๆ ที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับ ต้องมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอีก แต่เมื่อมีหิริ ความละอาย ความรังเกียจ มีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็จะทำให้มีความเพียรที่จะขัดเกลา
~ พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำ สนทนากันได้ให้มีความเข้าใจที่แจ่มแจ้ง ให้เป็นผู้ที่ตรง สิ่งใดถูกก็ถูก สิ่งที่ผิดต้องผิด จะเอาสิ่งที่ผิดมาถูกไม่ได้ และถ้ามีความมั่นคง สามารถที่จะทิ้งสิ่งที่ผิดได้เลย เพราะไร้ประโยชน์และเป็นโทษด้วย
~ ถ้าไม่มีความเห็นชอบ อกุศลธรรมย่อมเกิดอยู่เรื่อยๆ มีความติด มีความยึดมั่น เหนียวแน่นในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล ในเรา ในเขา อย่างเต็มที่ทีเดียวตามความเห็นผิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น แล้วเจริญพอกพูนขึ้น อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็ย่อมไม่เกิด เพราะมีความเห็นถูกเกิดขึ้นแล้ว หรือแม้อกุศลธรรมที่เกิดแล้ว ย่อมเสื่อมไป
~ มีแต่ธรรมทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ข้างนอกตัวก็ธรรมอีก เจอแต่ธรรม ซึ่งบางคนเขาไปหาธรรม ไปตั้งไกล ขึ้นเขาลงห้วย เหนือ ใต้ ไปหาธรรม แต่ถ้ารู้ว่าธรรมคืออะไร ต้องไปหาไหม?
~ ความไม่ดี ไม่ใช่มีแต่เฉพาะชาตินี้ ที่ว่าไม่ดีมากก็แค่ปรากฏในชาตินี้ แต่ไม่ดีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ นานแสนนานมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังด้วยความเข้าใจในความถูกต้องตามความเป็นจริง รู้เพียงแค่นี้คิดว่าไม่ดีมากแล้ว แต่ความจริง ตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์มาไม่ดีเท่าไหร่?
~ กำลังของปัญญาต่างหากที่จะทำให้ชีวิตประจำวัน ค่อยๆ เป็นไปในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๕๗
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...