เดี๋ยวนี้อะไรมีจริง?_สนทนาธรรมไทย - ฮินดี วันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๗

 
เมตตา
วันที่  20 เม.ย. 2567
หมายเลข  47700
อ่าน  432

สนทนา ไทย -ฮินดี วันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๗

มานิช: อะไรติดสินว่า เด็กที่อยู่ในครรค์ คือปฏิสนธิเกิดเป็นผู้ชายผู้หญิง หรือว่าที่เป็นสองเพศครับ

ท่านอาจารย์: ทุกอย่างที่เกิดจะเกิดได้ต่อเมื่อมีเหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น กรรม คืออะไร?

มานิช: กรรมคือกุศลกรรม และอกุศลกรรม

ท่านอาจารย์: เป็นอะไร?

มานิช: ไม่ทราบครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าไม่พูดถึงกรรมให้เข้าใจกรรม แล้วพูดเรื่องอื่นจะเข้าใจไหม ไม่ใช่ต้องการรู้เรื่อง ไม่ใช่ต้องการคำตอบ แต่ต้องรู้ความจริง เดี๋ยวนี้ คืออะไร?

มานิช: ครับ

ท่านอาจารย์: การฟังธรรมต้องรู้ว่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐสูงสุดในชีวิตที่มีโอกาสได้ฟังคำของผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง ตั้งแต่เกิดมาแล้วกี่ชาติ ไม่เคยรู้ความจริงเดี๋ยวนี้คืออะไร ทุกๆ ขณะมาจากเดี๋ยวนี้ๆ ๆ แต่ละอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตอบคำถามทุกคำถาม แต่ให้คนนั้นมีโอกาสที่จะรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ แล้วก็จะเข้าใจสิ่งที่เขาถาม

เขาต้องการคำตอบ หรือเขาต้องการฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

มานิช: คำตอบไม่สำคัญ เข้าใจสิ่งที่มีจริงสำคัญกว่า

ท่านอาจารย์: เพราะถ้าไม่มีโอกาสเข้าใจความจริงเดี๋ยวนี้ ไม่มีโอกาสอีกเลยที่จะเข้าใจความจริงในสังสารวัฏฏ์

เพราะฉะนั้น กรรมคืออะไร ต้องคิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมคืออะไร?

มานิช: ไม่เคยได้ยินกรรมคืออะไรครับ

ท่านอาจารย์: ได้ยินคำว่า กรรมไหม?

อาคิ่ล: สับสนที่ใช้คำว่า กรรม ภาษาฮินดีใช้คำว่า กา+รัม แต่ไม่ใช่ภาษาบาลีอย่างที่เราใช้ภาษาบาลีว่า กรรม (กัม+มะ) ก็เลยคิดว่าไม่ควรใช้คำนี้เลย

ท่านอาจารย์: ขอทราบว่าไม่ควรใช้คำอะไร?

อาคิ่ล: กา+รัม เป็นศัพท์ที่ศาสนาฮินดู และศาสนาซิกใช้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ควรใช้ครับ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 20 เม.ย. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนัั้น ต่อไปนี้เราไม่ได้พูดฮินดี เราไม่ได้พูดซิก แต่เรากำลังพูดคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสซึ่งเป็นภาษามคธีเป็นภาษาบาลี

ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาไทยใช้คำอะไรไม่สำคัญ แต่ คำนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสหมายความถึงอะไร ลืมภาษาของตน แต่ฟังภาษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ทีละคำ

เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส คำว่า กรรม ไม่ต้องคิดถึงฮินดี ไม่ต้องคิดถึงซิก ไม่ต้องคิดถึงไทย ไม่ต้องคิดถึงภาษาอังกฤษ กรรม (กัม+มะ) คืออะไร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส?

อาคิ่ล: เป็นการกระทำครับ

ท่านอาจารย์: มีจริงไหม?

อาคิ่ล: มีจริงครับ

ท่านอาจารย์: เป็นเรา เป็นเขา เป็นโซฮาน เป็นไทยหรือเปล่า?

อาคิ่ล: ไม่ได้เป็นเราครับ

ท่านอาจารย์: แล้วเป็นอะไร?

อาคิ่ล: เป็นความจริงอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงครับ

ท่านอาจารย์: สิ่งที่มีจริงมีหลายอย่าง ความจริงทั้งหมดจริง แต่ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ

สภาพหนึ่งเกิดขึ้น แข็ง หวาน เสียง มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เดี๋ยวนี้มีธรรมมีสภาพที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไรใช่ไหม?

อาคิ่ล: ครับ

ท่านอาจารย์: สภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่รู้อะไร มีอะไรบ้าง?

อาช่า: มีสี เสียง รส แข็ง มีอ่อน มีร้อน มีกลิ่น เป็นต้น

ท่านอาจารย์: ขณะที่เย็น มีสภาพที่รู้เย็นไหม?

อาช่า: มีค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น มีสภาพที่ต่างกันใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: ในขณะที่กำลังรู้เย็น มีอะไรที่ต่างกัน?

อาช่า: ตอนที่รู้เย็นมีสภาพที่รู้เย็น และสภาพต่างๆ ที่เกิดพร้อมสภาพนั้น และมีความเย็น

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต่างกันตรงไหน?

อาช่า: ต่างกัน คือมีสิ่งที่เกิดขึ้นต้องรู้ อีกอย่างเกิดไม่รู้อะไร

ท่านอาจารย์: เปลี่ยนสภาพที่เกิดขึ้นรู้ให้ไม่รู้ได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เปลี่ยนสภาพที่แข็งให้เป็นสภาพที่รู้ได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง พระองค์ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดมีจริงๆ เป็นธรรม อะไรก็ตามที่มีจริงเป็นธรรม

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ไม่ต้องคิดถึงฮินดี ไม่ต้องคิดถึงซิก ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย

เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม เป็นคำของพระองค์ที่ทุกภาษาต้องเข้าใจในภาษาของตนๆ แต่เปลี่ยนคำว่า ธรรมไม่ได้เพราะเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสในภาษานั้น

เพราะฉะนั้น ทุกคนเข้าใจธรรมแล้ว ไม่ใช่ฮินดี ไม่ใช่ซิก ไม่ใช่อังกฤษ ไม่ใช่ไทย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เปลี่ยน คำว่า ธรรม ให้เป็นภาษาฮินดี แต่ทุกภาษา ฮินดี ซิก ต้องเข้าใจคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส คำว่า ธรรม

เดี๋ยวนี้อะไรมีจริง?

อาช่า: เสียง

ท่านอาจารย์: อะไรอีก?

อาช่า: สี มีเห็น มีได้ยิน

ท่านอาจารย์: เห็น ได้ยินเป็นธรรมอะไร?

อาช่า: เป็นจิต

ท่านอาจารย์: จิตคืออะไร?

อาช่า: เป็นธรรมที่รู้ค่ะ

ท่านอาจารย์: ชอบเป็นจิตหรือเปล่า?

อาช่า: ไม่ใช่จิต

ท่านอาจารย์: ทำไมไม่ใช่จิต?

อาช่า: เพราะว่าไม่ได้เป็นใหญ่ในการรู้

ท่านอาจารย์: ชอบเป็นโกรธได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น โกรธกับชอบเป็นอะไร?

อาช่า: เป็นเจตสิก

ท่านอาจารย์: เจตสิกคืออะไร?

อาช่า: เจตสิกเป็นธรรมที่เกิดกับจิต เกิดแล้วดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง

ท่านอาจารย์: นามธรรมคืออะไร?

อาช่า: เป็นธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้อะไรเป็นนามธรรม?

อาช่า: มีเห็น มีได้ยิน

ท่านอาจารย์: อะไรอีก?

อาช่า: มีคิด มีได้กลิ่น มีลิ้มรส

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีอะไรบ้าง?

อาช่า: มีจิต และรูปที่จิตรู้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อะไรเป็นจิตบ้าง เดี๋ยวนี้?

อาช่า: มีเห็น มีได้ยิน มีคิด มีสัมผัสทางกาย มีได้กลิ่น มีลิ้มรส

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่สัมผัส เป็นการรู้

อาช่า: การรู้ทางกาย เป็นการรู้

ท่านอาจารย์: รู้ทางกาย หรือทางใจ?

อาช่า: ทางกายค่ะ

ท่านอาจารย์: ครบหรือยัง?

อาช่า: ครบแล้ว

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ต่างกับสภาพที่ไม่รู้อย่างไร?

อาช่า: ต่างกันตรงที่รู้เกิดแล้วรู้ อีกอย่างเกิดแล้วไม่รู้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น มีคำ ๒ คำ ที่แสดงถึงความต่าง สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วรู้อะไรๆ ก็ตามใช้คำว่า นามธรรม

ถามว่า นามธรรมมีอะไรบ้าง?

อาช่า: มีจิต ๑ และเจตสิก ๑

ท่านอาจารย์: จิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร?

อาช่า: ความต่างของจิต เจตสิกอยู่ที่ว่า จิตเป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ไม่รู้แจ้งเหมือนจิตค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นจิต อะไรเป็นเจตสิกเดี๋ยวนี้?

อาช่า: อย่างเช่น ได้ยินเป็นจิต ได้ยินแล้วชอบ ไม่ชอบ เป็นเจตสิก

ท่านอาจารย์: ๒ อย่าง ชอบ กับไม่ชอบต่างกันอย่างไร?

อาช่า: ต่างกันที่ว่า มีลักษณะต่างกัน อันหนึ่งชอบ อีกอันไม่ชอบ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ตอนนี้มีธรรม หรือไม่มีธรรม?

อาช่า: มีธรรมค่ะ

ท่านอาจารย์: มีเราไหม?

อาช่า: ไม่มี

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มีธรรมจริงๆ แต่ธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด พระองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น ทำไมเป็นอนัตตา?

อาช่า: เป็นเพราะว่า ธรรมที่เกิด ดับอยู่ตลอดเวลา ในชีวิตเรานี้เกิดโดยไม่มีใครควบคุมได้ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และที่เกิดในชีวิตเราก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์บุคคลที่ไหน ไม่มีใครบังคับบัญชาได้

ท่านอาจารย์: มีคุณอาช่าไหม?

อาช่า: ไม่มี

ท่านอาจารย์: แล้วมีอะไรที่ไม่ใช่อาช่า?

อาช่า: จิต เจตสิก และรูป

ท่านอาจารย์: ชื่อค่ะ ชื่อ แต่อะไรที่มีจริงๆ ที่ไม่ใช่อาช่า?

อาช่า: มีเห็น มีได้ยิน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เห็น เห็นเป็นอะไร?

อาช่า: จิตค่ะ

ท่านอาจารย์: เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า?

อาช่า: เป็นธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 20 เม.ย. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีเห็น เห็นเป็นอะไร?

อาช่า: จิต

ท่านอาจารย์: เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า?

อาช่า: เป็นธรรมค่ะ

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้รู้หรือยังว่า เห็น ไม่ใช่อาช่า?

อาช่า: ยังค่ะ รู้แค่จากการฟัง แล้วก็จำได้ แต่ยังไม่รู้จริงค่ะ

ท่านอาจารย์: มั่นคงไหม จากการฟัง ไม่มีอาช่า แต่มีเห็น?

อาช่า: มั่นคงค่ะ

ท่านอาจารย์: พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?

อาช่า: ตรัสรู้นาม และรูป

ท่านอาจารย์: นามรูปอะไร?

อาช่า: จิต เจตสิก รูป

ท่านอาจารย์: จิตอะไร?

อาช่า: เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส คิด จุติ ปฏิสนธิ

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ เห็น ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้หรือเปล่า?

อาช่า: ตรัสรู้ เห็น ที่เห็นอยู่

ท่านอาจารย์: พระองค์สอนให้คนอื่นรู้ความจริงจนรู้แจ้งเห็นหรือเปล่า?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: พระองค์ตรัสรู้ให้ทุกคนรู้ว่า เห็น ขณะนี้เกิดแล้วดับหรือเปล่า?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ก่อนเห็นไม่มีเห็น แล้วเห็นเกิดขึ้นแล้วดับไปหรือเปล่า?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า เห็นเดี๋ยวนี้เกิดดับเพราะอะไรหรือเปล่า?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ก่อนเห็นไม่มีเห็น แล้วเห็นเกิดเพราะอะไร ทรงแสดงหรือเปล่าว่าเห็นเดี๋ยวนี้ ก่อนเห็นไม่มีเห็น แล้วอะไรเป็นปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้น?

อาช่า: ทรงแสดงค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง จะรู้ไหมว่า เห็น ก่อนเห็นไม่เห็น แล้วมีปัจจัยทำให้เห็นเกิดขึ้น

อาช่า: ไม่ทราบค่ะถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดง

ท่านอาจารย์: เห็นเกิดขึ้นกี่ขณะ?

อาช่า: ๑ ขณะ

ท่านอาจารย์: ก่อนเห็นไม่มีเห็น แล้วมีอะไร?

อาช่า: ปัญจทวาราวัชชนจิตค่ะ

ท่านอาจารย์: ไม่เรียกชื่อได้ไหม?

อาช่า: ได้

ท่านอาจารย์: แต่เป็นจิตที่เกิดก่อนเห็นใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ธาตุรู้เกิดขึ้นครั้งแรกตอนเกิด เห็นหรือเปล่า?

อาช่า: เป็นไปไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อะไรเป็นเป็นปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้น?

อาช่า: เป็นเพราะกรรมทำให้เกิดเห็น

ท่านอาจารย์: กรรมก็ยังไม่รู้จัก อะไรๆ ก็ยังไม่รู้จัก เราต้องการให้เขารู้จัก ธรรม หลากหลายมาก เราพูดถึงธรรมทีละอย่าง ไม่ได้พูดถึงอย่างอื่นเลย ถ้าเราพูดทุกอย่างทั้งหมด สับสน แต่ถ้าเราถึงพูดทีละอย่าง เราเริ่มเข้าใจความลึกซึ้งของธรรมทีละอย่าง

ให้เขาเข้าใจความจริงแม้จิตเห็น ๑ ขณะ ก็ต่างกับจิตอื่นๆ ถ้าเรียนชื่อ วัน สองวัน ก็จบแล้ว แต่ไม่รู้ความจริงของอะไรเลย มีแต่ชื่อ ตอบได้ ปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต แต่เราพูดถึงจิต แม้ขณะเดียวเช่น จิตเห็น ให้เขารู้ความจริงว่า ยากที่จะรู้ได้

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 20 เม.ย. 2567

ท่านอาจารย์: ถ้าบอกว่า จิตเห็น เป็นจักขุวิญญาณ จบ ไม่มีความเข้าใจอะไร แต่การที่จะค่อยๆ เข้าใจ จิตเห็น เดี๋ยวนี้ ต้องพูดถึงบ่อยๆ

ตั้งแต่เช้ามาคิดถึงเห็นบ้างหรือเปล่า?

อาช่า: ...

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่เข้าใจ เห็น ทีละเล็กๆ จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เห็นทุกวัน ไม่คิดถึงความจริงของเห็น ได้แต่ฟังชื่อจักขุวิญญาณ แล้วจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

ต้องไม่ลืมว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี ตรัสรู้ความจริงของเห็น เมื่อประจักษ์แจ้งความจริงของเห็นแล้ว ก็แสดงให้คนอื่นได้เริ่มเข้าใจเห็น

ถ้าไม่เริ่มคิดถึงเห็น เข้าใจเห็น จะมีวันไหนที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของเห็นที่เกิดดับ เห็นทั้งวัน รู้จักเห็นบ้างไหม?

๔๕ พรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงที่มีทุกขณะได้ แต่เราฟังชื่อ เราจำได้ เราเข้าใจ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่า เราจำชื่อทุกขณะในทุกชาติเท่านั้น ไม่รู้ความจริงที่สูงยิ่งที่ประเสริฐสุดที่สามารถรู้ได้

เราฟังชื่อของ ธรรม เพื่อให้รู้ว่า เราหมายความถึงธรรมอะไร? เพื่อรู้ว่า เรากำลังพูดถึงอะไร เพื่อให้รู้ความจริงว่า เรารู้แค่ไหน? ทุกคำที่ได้ฟัง เป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงความจริงของสิ่งที่มี กำลังมี

เพราะฉะนั้น เราพูดถึงเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะมีเห็นที่กำลังเห็นจริงๆ เพื่อค่อยๆ เข้าใจเห็น มิเช่นนั้น ก็มีแต่ชื่อตลอดทั้งหมดตลอดชีวิต

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่ออะไร? เพื่อจำชื่อ รู้จักชื่อ แต่ไม่รู้ตัวธรรม เห็น ที่กำลังเห็น อย่างนั้นหรือ? ถ้าไม่เข้าใจ จำแต่ชื่อ จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้เพื่อให้เราจำคำต่างๆ แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่พูดถึงเห็น ประโยชน์คือเพื่อไม่ลืมว่า เห็นเดี๋ยวนี้เกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เรา ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมไม่มีใครเลยทั้งสิ้นนอกจากธรรม

ถ้ารู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กล่าวถึงความจริงที่กำลังมีให้เข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเราเก่งเราจำได้ ธรรม ความจริงเป็นความจริง ไม่ใช่เราเก่ง คนอื่นไม่รู้ ขณะนั้น ไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อรู้ความจริงที่มีทุกขณะ ถ้ารู้จักธรรม จะรู้จักว่า ที่เป็นเราที่คิดว่าเป็นเราเป็นกุศลธรรมเท่าไหร่ เป็นอกุศลธรรมเท่าไหร่

รู้จักธรรมที่เป็นคนอื่นได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เริ่มเป็นคนตรง ถ้าไม่ฟังคำของพระพุทธเจ้า จะไม่รู้จักธรรมที่มีเดี๋ยวนี้ที่เคยเข้าใจว่าเป็นเราได้เลย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 20 เม.ย. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น กำลังเห็น เราจะพูดถึงเรื่องเห็น แม้แต่คำตอบที่ว่า เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นจิต ไม่ใช่เพียงแค่จำ แต่เป็นการเตือนว่า ยังไม่ละเอียดที่จะเข้าใจแต่ละคำที่พูด เช่นคำว่า ธาตุรู้ เดี๋ยวนี้อะไรกำลังปรากฏ?

อาช่า: เห็นค่ะ

ท่านอาจารย์: เห็น ธาตุเห็นปรากฏ หรืออะไรปรากฏ?

อาช่า: เห็นไม่ปรากฏ แต่สีปรากฏ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จะรู้จักเห็นที่ไม่ปรากฏได้ไหม?

อาช่า: จะรู้เห็นต่อเมื่อความเข้าใจเจริญขึ้นระดับสมควร

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่เรียกว่า จักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น อีกครั้งหนึ่ง เดี๋ยวนี้อะไรปรากฏ?

อาช่า: เห็นสิ่งที่เห็นค่ะ

ท่านอาจารย์: ฟัง เดี๋ยวนี้อะไรปรากฏ?

อาช่า: สีปรากฏ

ท่านอาจารย์: รู้จักสีแล้วหรือยัง?

อาช่า: ยังไม่รู้จัก

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สีปรากฏยังไม่รู้สี แล้วเห็นปรากฏหรือยัง?

อาช่า: เห็น ยังไม่ปรากฏค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ขณะนี้จะรู้ความจริงของอะไรได้?

อาช่า: สามารถเข้าใจสีได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มรู้ว่า จะต้องเข้าใจอะไร ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ค่ะ หมายความว่าอะไร?

อาช่า: ก็รู้ว่า ก็เริ่มรู้สิ่งที่ปรากฏได้

ท่านอาจารย์: เริ่มหรือยัง?

อาช่า: เริ่มแล้วค่ะ

ท่านอาจารย์: เริ่มอย่างไร?

อาช่า: เริ่มมีความเข้าใจ

ท่านอาจารย์: เข้าใจ ว่า?

อาช่า: เริ่มรู้ว่า ที่มีขณะนี้ ก็คือจิต เจตสิก รูป

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่ ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ สี กำลังปรากฏ เริ่มรู้หรือยัง?

อาช่า: ก็รู้ว่า สีเกิดแล้วดับ แต่ว่า ...

ท่านอาจารย์: ยังไม่รู้เลย ยังไม่รู้เลย ได้ฟังมา แต่เดี๋ยวนี้กำลังปรากฏ เกิดดับหรือยังปรากฏหรือยัง?

อาช่า: เท่าที่ฟังมา สีที่ปรากฏตอนนี้เกิดแล้วดับ ก็รู้แค่นี้ได้ฟังมาค่ะ

ท่านอาจารย์: แล้วเมื่อไหร่จะรู้จริงๆ?

อาช่า: ไม่ทราบ แต่รู้ว่าต้องใช้เวลานานมากค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังคำ เข้าใจความหมายของคำ แต่ต้องรู้ลักษณะที่เป็นจริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ

เริ่มรู้ความจริงว่า ความจริงมีตลอดทุกขณะ แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นเลย เพิ่งเริ่มรู้ว่า ขณะนี้มีอะไรจริงๆ เริ่มเข้าใจความหมายของ คำว่า ธรรม เริ่มรู้ว่ามีธรรมอะไรบ้าง เริ่มฟังว่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เรา

เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่เราเห็น นกเห็น ปลาเห็น ถ้าไม่เริ่มฟังอย่างนี้จะเข้าใจความต่างของ ธาตุรู้ กับ ธาตุที่ไม่รู้อะไรไหม?

ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ก็เข้าใจว่า เป็นคน เป็นนก เป็นปลา เป็นงู

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คำถามทั้งหมด ไม่ว่าเกิดมาเป็นอะไร ต่างกันอย่างไร แต่ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ได้

เพราะฉะนั้น ทุกคำถาม ไม่ใช่เพื่อให้เขาได้คำตอบ แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย

เพราะฉะนั้น ทบทวนคำถามของมานิชอีกครั้ง

มานิช: ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นเพศบุรุษ เพศสตรี เป็นสองเพศ อะไรเป็นเหตุครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ก่อนจะรู้ว่า อะไรเป็นเหตุ ขณะเกิด อะไรเกิด?

อาช่า: เป็นจิตอย่างหนึ่งค่ะ

ท่านอาจารย์: แล้วทำไมถามถึงคน ผู้หญิง ผู้ชาย กระเทย?

อาช่า: ไม่สำคัญค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ เย็น ร้อนก็มี รูปที่เกิดจากอาหารก็มี แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ก็เป็นเรา เป็นบุรุษ เป็นสตรี เป็นกระเทย

เพราะฉะนั้น คนที่อยากเป็นผู้ชาย แต่เป็นผู้หญิงมีไหม?

อาช่า: มีเยอะค่ะ

ท่านอาจารย์: และความต่างกัน คือผู้ชายกับผู้หญิงอะไรดีกว่ากัน?

อาช่า: ไม่มีอันไหนดีกว่ากัน ก็คือพูดไม่ได้ว่า อันหนึ่งจะดีกว่าอีกอันหนึ่ง

ท่านอาจารย์: ผู้หญิงจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม?

อาช่า: ไม่ทราบค่ะ

ท่านอาจารย์: ผู้หญิงจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม มีไหมที่ผู้หญิงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า?

อาช่า: ไม่เคยได้ยินว่า ผู้หญิงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เป็นไม่ได้ค่ะ เพราะฉะนั้น เราต้องค่อยๆ ฟังเหตุผล ค่อยๆ เข้าใจ เกิดเป็นผู้หญิงชาตินี้ พระมารดาเป็นชาติต่อไปเป็นอะไร เป็นหญิงหรือชาย ทุกคนเปลี่ยนได้หมดใช่ไหม ไม่ใช่ว่าเป็นผู้หญิงตลอดไป เป็นผู้ชายตลอดไป

ทุกคนอยากร่ำรวย อยากมีความสุขมีสมบัติมากๆ แล้วเป็นได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุที่จะให้เกิดตามที่จะต้องเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น เป็นผู้หญิงที่เข้าใจธรรมได้กับเป็นผู้ชายที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจธรรมเลย อะไรดีกว่ากัน

อาช่า: จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แต่สาระสำคัญมีความเข้าใจธรรมก็ดีกว่า

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 20 เม.ย. 2567

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือความเข้าใจถูกความเห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น พูดอย่างนี้หมายความว่าอะไร?

อาช่า: เข้าใจว่า ไม่มีอะไรสูงกว่า มากกว่าการเจริญความเข้าใจ

ท่านอาจารย์: หมายความว่า ยังไม่รู้อย่างนั้นใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังธรรมไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นทั้งสิ้น เป็นคนจนไม่มีอะไรเลยแต่เข้าใจธรรม กับเป็นเศรษฐีมหาศาลแต่ไม่เข้าใจธรรม มีเกียรติยศมากมายแต่ไม่เข้าใจธรรม จะเป็นอะไรดี?

อาช่า: เกิดมาไม่มีอะไรไม่มีทรัพย์สินชีวิตลำบาก แต่เข้าใจธรรมดีกว่า

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะอะไรขณะนี้ แต่ว่าสามารถที่จะรู้ความจริงขณะนี้ประเสริฐที่สุด

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อรู้ว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม การรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นผู้ตรงต่อธรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ไม่ใช่ฟังเพื่อจำชื่อ

เพราะฉะนั้น ต้องตรง ฟังธรรมเพื่อรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ซึ่งไม่ใช่เรา ถ้าไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นนามธรรม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นรูปธรรม จะละความเป็นเราได้ไหม? พูดว่า ธรรมเป็นอนัตตา แต่ไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้เห็นเป็นอะไร ถูกต้องไหม?

อาช่า: ถูกต้องค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงเป็นอะไร ไม่รู้ว่าธรรมเป็นอะไร เป็นธรรมอะไร

อาช่า: เป็นเจตสิก

ท่านอาจารย์: เป็นของใคร?

อาช่า: เจตสิกนี้เกิดกับจิต เวลานี้เป็นของเรา

ท่านอาจารย์: ถูกหรือผิด?

อาช่า: ถ้าเข้าใจผิดว่าเป็นของเรา ก็ผิดค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่มีเราที่จะไปเข้าใจว่า แต่ถามว่า ไม่รู้เป็นเรา ของเราหรือเปล่า?

อาช่า: ไม่รู้ว่า ไม่ได้เป็นเราเป็นของเรา

ท่านอาจารย์: นี่คือ หนทางที่จะค่อยๆ ตรงต่อความเป็นจริง คนโน้นไม่รู้ คนนี้ไม่รู้ แต่เรารู้ เป็นอะไร?

อาช่า: ความไม่รู้

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่ใคร

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: นี่คือ เริ่มเข้าใจธรรม ค่อยๆ ละความเป็นเราเป็นเขาเป็นคนโน้นเป็นคนนี้

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ตอนนี้มีคำถามอะไรก็เชิญนะ

อาช่า: มีคำถามหนึ่งที่เราสนทนากันแต่ยังไม่เข้าใจยังค้างอยู่ค่ะ เราสนทนาเรื่องเห็นว่า ปฏิสนธิไม่เห็น แล้วเห็นเกิดอะไรเป็นปัจจัยซึ่งอาช่าตอบว่า กรรม

ท่านอาจารย์: ถ้าอาช่าตอบว่ากรรม ต้องให้รู้ว่า กรรมคืออะไร?

อาช่า: รู้แต่คำตอบ แต่ไม่เข้าใจว่ากรรมคืออะไร

ท่านอาจารย์: กรรมมีจริงไหม?

อาช่า: มีจริง

ท่านอาจารย์: เป็นอะไร?

อาช่า: กรรมเป็นการกระทำ อย่างเช่น หลังจากเห็น ได้ยินอะไร แล้วก็มีใครด่าเรา เราก็ไปตบหน้าเขา กรรมคือตอนที่เราไปตบหน้าเขา

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ธรรมมีเท่าไหร่?

อาช่า: มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น กรรมเป็นธรรมอะไร เมื่อกรรมเป็นธรรม?

อาช่า: จิต

ท่านอาจารย์: แสดงว่ายังไม่ละเอียด

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: จิต เจตสิก ต่างกันอย่างไร?

อาช่า: จิตทำหน้าที่รู้อารมณ์อย่างชัด รู้ทั่ว เจตสิกไม่รู้อารมณ์อย่างจิต

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น กรรม เป็นจิตหรือเจตสิก?

อาช่า: การชอบหรือไม่ชอบเป็นเจตสิก แต่ถามว่า กรรม เป็นจิตหรือเจตสิก ตอบไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: จิตไม่ทำอะไรเลยนอกจากรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏที่เป็นอารัมมณะ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: จิตโลภได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: จิตรู้สึกได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: จิตจำได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: จิตเป็นกรรมได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น กรรมไม่ใช่จิต แต่เป็นอะไร?

อาช่า: เจตสิก

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น กรรมเป็นเจตสิกที่ไม่ใช่ความรู้สึก

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: กรรมไม่ใช่จำ กรรมเป็นความตั้งใจ จงใจ เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมเป็นเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจ ก็ทำสิ่งที่จงใจ ตั้งใจ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: อาช่าตั้งใจ จงใจจะทำอะไรบ้าง?

อาช่า: เวลานี้จงใจ ตั้งใจฟังเพื่อเข้าใจธรรมค่ะ

ท่านอาจารย์: แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมละเอียดยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า กรรม คือสภาพที่จงใจ ตั้งใจ เป็นภาษาบาลีว่า เจตนา

เพราะฉะนั้น เราเข้าใจว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเองโดยลำพังไม่ได้ต้องอาศัยหลายอย่างร่วมกัน ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น สภาพรู้ที่เกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นจิต ต้องมีสภาพรู้ซึ่งเป็นเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดด้วย ธาตุรู้ที่เกิด อาศัยกันและกันเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ขณะที่พูดถึงจิต ต้องรู้ว่า มีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือเจตสิกเกิดพร้อมกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ปรุงแต่งให้เกิดร่วมไม่ได้ เจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตเกิดด้วยไม่ได้ จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่จิตไม่ใช่เจตสิก จิตเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้แจ้งเท่านั้น รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตรู้

เดี๋ยวนี้จิตเห็นเกิดขึ้น รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น สีเขียว สีเหลือง สีดำ เป็นต้น ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้แจ้งทีละหนึ่ง จะไม่รู้ว่าต่างกันอย่างไร แต่ละหนึ่งที่ปรากฏ

จิตเกิดขึ้น ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม จิตเห็นเกิดไม่มีเจตสิกเกิดร่วมกับจิตเห็นได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกเกิดกับจิต แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ของจิต แต่ทำหน้าที่ของตน เพราะฉะนั้น จิตเป็นเจตสิกได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เจตสิกเป็นจิตได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น บางครั้งเราพูดว่า นามธรรมทั้งหมด ๕๓ เพราะฉะนั้น เจตสิกไม่ใช่จิต ทำหน้าที่ของจิตไม่ได้ มีลักษณะของตน ทำหน้าที่ของตน

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีจิตไหม?

อาช่า: มีค่ะ

ท่านอาจารย์: มีเจตสิกไหม?

อาช่า: มีค่ะ

ท่านอาจารย์: มีจิตไม่มีเจตสิกได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: มีเจตสิกไม่มีจิตได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คราวหน้าเราจะพูดถึงธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ยังไม่รู้จักธรรมทุกอย่าง เริ่มเข้าใจความหมายของ ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา เพราะเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูปเท่านั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
swanjariya
วันที่ 5 พ.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน คุณอาช่า คุณอาคิลและสหายธรรมชาวอินเดีย

ยินดียิ่งในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ