ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๖๐] ทิฏฺฐิสลฺล

 
Sudhipong.U
วันที่  23 เม.ย. 2567
หมายเลข  47704
อ่าน  213

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทิฏฺฐิสลฺล”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ทิฏฺฐิสลฺล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง ทิด – ถิ - สัน - ละ มาจากคำว่า ทิฏฺฐิ (ความเห็น ซึ่งในที่นี้มุ่งหมายถึง ความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด) กับคำว่า สลฺล (ลูกศร) รวมกันเป็น ทิฏฺฐิสลฺล เขียนเป็นไทยได้ว่า ทิฏฐิสัลละ หมายถึง ลูกศรคือทิฏฐิความเห็นผิด เป็นอีกหนึ่งคำที่แสดงถึงความเป็นจริงของอกุศลธรรมประเภทหนึ่งคือมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ซึ่งเป็นสภาพที่มีโทษมาก เสียบแทงลงในจิตของเหล่าสัตว์และยังเป็นสิ่งที่นำออกได้ยากด้วย เมื่อมีความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างผิดไปหมด กายก็ผิด วาจาก็ผิด ความประพฤติเป็นไป ผิดทั้งหมด คล้อยตามความเห็นผิดที่เกิดขึ้น ย่อมมีแต่ความวิบัติหรือความเสื่อมเท่านั้น เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ หาความเจริญมิได้ และเป็นความเสื่อมมิใช่เฉพาะชาตินี้เท่านั้นยังสะสมสืบต่ออยู่ในจิตเป็นโทษในชาติต่อๆ ไปอีกด้วย

ข้อความในสัทธรรมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความเป็นจริงของทิฏฐิสัลละ ลูกศรคือทิฏฐิความเห็นผิด ดังนี้

“ชื่อว่า ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นลูกศร เพราะทิฏฐินั่นแล ชื่อว่า เป็นลูกศร เพราะอรรถว่าเจาะเข้าไปในภายใน และเพราะอรรถว่านำออกได้ยาก”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง ทุกคำของพระองค์แสดงถึงสิ่งที่มีจริง โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง แม้แต่ในเรื่องของกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้มากทีเดียว ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ด้วยข้ออุปมาเปรียบเทียบมากมาย เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา และเพื่อให้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลสในชีวิตประจำวัน ไม่ควรเลยที่จะเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสต่อไป เพราะกิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงได้เลย ทุกคำของพระองค์ เป็นคำหวังดี เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังผู้ศึกษาอย่างแท้จริง กิเลสที่มีโทษมากอย่างยิ่ง อันตรายอย่างยิ่ง คือ มิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิด

มิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิดนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ประพฤติปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้ตนเองยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น คือ ตกไปสู่อบายภูมิ ยากที่จะข้ามพ้นได้ ทั้งหมดล้วนสืบเนื่องมาจากความเห็นผิดทั้งนั้น ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรมที่อันตรายและมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง ถอนได้ยากอย่างยิ่ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก จึงทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงได้แสดงหนทางคือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นแก่สัตว์โลก ตลอด ๔๕ พรรษา นับคำประมาณไม่ได้ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งผู้ที่เป็นมนุษย์ เทวดาและพรหมบุคคล

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงตรัสรู้ โดยทรงประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้ เมื่อไม่สามารถดับกิเลสได้ ก็ย่อมจะถูกลูกศรคือกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น เสียบแทงจิตใจอยู่ตลอดเวลา อยู่ไม่ผาสุก ทำให้จมอยู่ในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น ไม่พ้นไปจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความเห็นที่ผิดได้ในที่สุด แต่ละคนไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่าเวลาที่เราจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ จะเหลืออยู่อีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้วเวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะทำให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ด้วยการไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะขณะที่เข้าใจ ปัญญาเกิด ก็คุ้มครองไม่ให้เกิดความเห็นผิดแล้ว ป้องกันต้านทานไม่ให้ตกไปในทางฝ่ายที่ผิดโดยประการทั้งปวง

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 พ.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ