Thai-Hindi 27 April 2024

 
prinwut
วันที่  27 เม.ย. 2567
หมายเลข  47711
อ่าน  368

Thai-Hindi 27 April 2024


- (คุณอาช่าบอกว่าเรากำลังสนทนาเรื่องจิต เจตสิก รูปอยู่และคราวที่แล้วมีการพูดถึงอุปนิสสยปัจจัย คุณอาช่ายังไม่เข้าใจตรงนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ท่านอาจารย์พูดเรื่องนี้)
- เราไม่เลือกว่าเราจะพูดเรื่องอะไร (ในเมื่อเราศึกษาธรรมก็ไม่เลือกอยู่แล้ว จะเลือกได้อย่างไรเพราะว่าทุกอย่างเราไม่รู้ ในเมื่อได้ยินคำว่าอุปนิสสยปัจจัยแล้วยังไม่เข้าใจก็ควรจะรู้อย่างน้อยว่าคืออะไร)

- เราจะไม่รู้เลยว่าเรากำลังเลือกหรือเปล่า (เห็นด้วยว่าเรามาศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ จะมาพยายามจะเข้าใจอย่างหนื่งหรืออีกอย่างหนึ่งก็ไม่สมควร แต่ในเมื่ออุปนิสสยปัจจัยมีอยู่ตอนนี้ก็ควรจะได้ฟัง ถ้าจะถามก็เป็นเหตุผลที่ดีที่จะถาม) กำลังเลือกใช่ไหม (เลือกอยู่) เพราะฉะนั้นต้องตรงต่อธรรมเพราะธรรมละเอียดลึกซึ้งยากที่จะรู้ได้

- การที่จะเข้าใจธรรมต้องรู้ว่า ไม่ใช่เราเพราะเป็นธรรมหนึ่งๆ ๆ จนกว่าจะเป็นธรรมทั้งหมด ทุกธรรมแต่ละ ๑ ต้องอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นฟังธรรมไม่ใช่อยากเข้าใจเรื่องนั้นอยากเข้าใจเรื่องนี้แต่รู้ว่า ธรรมลึกซึ้ง

- ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมไม่ใช่เพื่อมุ่งจะให้เข้าใจปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้ธรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการฟังธรรมไม่ใช่ไปหาปัจจัยต่างๆ เพื่อที่จะรู้ธรรม ต้องฟังดีๆ ไม่ใช่ฟังธรรม ๑ แล้วพยายามไปหาปัจจัยมาเพื่อที่จะเข้าใจธรรม

- ปัจจัยก็เป็นธรรมเพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้จักธรรมก็ไม่สามารถจะเข้าใจความเป็นปัจจัยของธรรมนั้น กว่าเราจะเริ่มเข้าถึงความจริงที่ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของธรรมต้องตรงที่สุด

- ถ้าไม่ฟังด้วยความเคารพในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อละความไม่รู้และความเป็นเรา กิเลสที่สะสมมามากมายก็จะนำไปสู่การสนใจในเรื่องของธรรมและปัจจัยโดยไม่รู้ว่าการฟังเรื่องปัจจัย เรื่องอายตนะ เรื่องอินทรีย์ ฯลฯ เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นธรรม

- เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ที่จะได้จากการที่มีโอกาสได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องตรงเพื่อเข้าใจ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความเป็นเราและกิเลสทั้งหลาย

- เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อ ”ละกิเลส“ มิฉะนั้นแล้วการรู้คำของพระพุทธเจ้าไม่มีประโยชน์เลย ทุกคนมีกิเลสมากแต่ไม่รู้ถ้าฟังธรรมด้วยกิเลสไม่มีการจะรู้ความจริงของธรรมเลย เพราะฉะนั้นฟังธรรมด้วยกิเลสผลก็คือว่า มีกิเลสต่อไปมากขึ้นๆ เหมือนไม่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้า

- เพราะฉะนั้นการเข้าใจปัจจัยก็คือ พูดถึงธรรมจนเข้าใจลักษณะของธรรมเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งถึงปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดไม่ใช่เรื่องปัจจัยทั้งหมดมาเรียนกัน

- เพราะฉะนั้นฟังธรรมอย่าเพิ่งคิดว่ารู้แล้ว แต่ต้องพูดถึงธรรม ๑ ที่คิดว่ารู้แล้วให้รู้ว่า ความจริงยังไม่ได้รู้แล้วเลย ต้องเข้าใจความจริงของธรรม ฟังแล้วฟังอีกเพื่อจะเข้าใจทีละน้อยทีละนิดเพิ่มขึ้นว่าไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องไม่ลืมแม้แต่คำว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดแต่ละหนึ่งๆ เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งต่างกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 27 เม.ย. 2567

- คนมีปัญญาไม่ใช่ฟังแล้วผ่านไปคิดว่ารู้แล้ว แต่เริ่มตรงว่าความไม่รู้มีมาก สิ่งที่กำลังมีเป็นธรรมแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงฟังว่า ธรรมเป็นธรรมแล้วคิดว่าเป็นธรรมแล้ว

- ทุกอย่างเป็นธรรมแต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นจริงของแต่ละ ๑ ธรรมด้วย วันนี้ทุกอย่างเป็นธรรมแล้วหรือยัง (ยังไม่เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม) เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปไหนเลย ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้

- ต้องตรงกับธรรมตามความเป็นจริงว่า ถ้าขณะนี้ไม่เข้าใจว่าอะไรกำลังปรากฏก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ใช่เป็นธรรม ไม่ใช่รีบร้อนจำว่าเป็นจิตเจตสิกรูป แล้วก็อยากรู้เรื่องปัจจัยต่างๆ แต่ต้องตรงต่อความเข้าใจถูก

- ทำไมจึงต้องรู้ว่าเป็นธรรม (เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ และทุกอย่างที่เราเคยได้ยินมาเคยพูดมาทุกอย่างเป็นธรรมว่าจริงๆ แล้วเป็นธรรม)

- ถ้ารู้จักธรรมจริงๆ ประโยชน์อยู่ที่ไหน (อยู่ที่กิเลสจะลดลง) เพราะฉะนั้นขณะที่เข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรมเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อะไรจะสำคัญที่สุด ลาภ ยศ สรรเสริญกับความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีอะไรไม่ว่าจะเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญก็เกิดขึ้นแล้วดับไปไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น (สำคัญก็คือความเข้าใจธรรม) เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความติดข้อง เพื่อละที่คิดว่าทุกอย่างสำคัญ

- ลาภคืออะไร ยศคืออะไร สรรเสริญคืออะไร (เป็นธรรม) รู้จักธรรมหรือยัง (ยัง) เพราะฉะนั้นเมื่อรู้จักจะไม่ตอบว่า ”ธรรมๆ “ แต่รู้ว่า แต่ละ ๑ ธรรมคืออะไร ถ้าเพียงตอบว่า ”เป็นธรรมๆ “ ละอะไรไม่ได้เพราะไม่รู้ความละเอียดความลึกซึ้งของธรรมแต่ละ ๑ แล้วจะละความติดข้องในธรรมนั้นได้อย่างไร

- อะไรเป็นประโยชน์ มีลาภ มียศ มีสักการะ มีสรรเสริญแต่ไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นเพียงเกิดขึ้นแล้วดับไปไม่เหลือเลย ถ้าคิดว่าลาภ ยศ สรรเสริญทุกอย่างสำคัญมีประโยชน์จะไม่ละและไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและจะไม่เห็นประโยชน์เลยว่า ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพราะได้ตรัสรู้แล้วให้ทุกคนได้รู้ความจริงเป็นคุณประโชน์มหาศาลแค่ไหน เพราะสามารถเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอะไรก็ตามเป็นการที่จะติดข้องถ้าไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเพียงเกิดแล้วดับแล้วก็ไม่มีอีกต่อไป

- เพราะฉะนั้นถ้าไม่ไตร่ตรองจะไม่รู้ความต่างของคนที่ศึกษาธรรมว่า มี ๒ จำพวก พวก ๑ ศึกษาเพื่อต้องการเข้าใจเป็นเราต้องการเข้าใจเพื่อตัวเรา อีกพวก ๑ ศึกษาธรรมมีความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย

- เริ่มเข้าใจปัจจัยที่ทำให้แต่ละ ๑ เกิดขึ้นว่า ต้องมีปัจจัยเท่านั้นที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดได้ ถ้าหมดปัจจัยสิ่งนั้นเกิดไม่ได้ ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไม่กลับมาอีกเลยแต่ว่าสิ่งที่เกิดแล้วบ่อยๆ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ เพียงเข้าใจอย่างนี้มั่นคงก็ทำให้ค่อยๆ ละความเป็นเรา

- ”ฟังเพื่อเข้าใจ“ ประโยชน์คือความลึกซึ้งของความจริงของธรรมที่เกิดดับแล้วไม่กลับมาอีก ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะรู้ปัจจัยเพิ่มขึ้นๆ

- ธรรมหลากหลายปัจจัยก็หลากหลายเพราะฉะนั้นถ้าสามารถจะเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าไม่มีปัจจัยเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นยังต้องเกิดต่อไปเพราะยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิด เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรียนชื่อของปัจจัยแต่เรียนความจริงว่า ปัจจัยก็ไม่พ้นจากธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 27 เม.ย. 2567

- เข้าใจความจริงลักษณะของธรรมก่อนที่จะคิดถึงชื่อหรือพยายามจะรู้จักชื่อแต่ต้องไม่ลืมว่า รู้ปัจจัยเพื่อละความติดข้องความไม่รู้ว่า ขณะนั้นสิ่งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ดีกว่าอยากรู้ชื่อเยอะๆ แต่ไม่รู้ประโยชน์ของการที่เริ่มรู้ว่า แม้ขณะนี้ก็เกิดไม่ได้ที่จะเป็นอย่างนี้หลากหลายแต่ละคนต่างๆ กันเพราะมีปัจจัยที่ต่างกัน

- เดี๋ยวนี้กำลังคิด ทำไมคิดอย่างนี้ไม่คิดอย่างอื่น แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ทำไมคิดต่างกัน ค่อยๆ เข้าใจแต่ละคนว่า เป็นธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเคยคิดว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นใครก็เป็นธรรมแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดเพราะปัจจัยแล้วก็ดับไปตลอดเวลา

- ธรรมที่ดีเกิดแล้วดับ ธรรมที่ไม่ดีเกิดแล้วดับ เริ่มเห็นความต่างกันเพราะเกิดบ่อยๆ แล้วก็สะสมต่างๆ กัน ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงความจริงจะคิดเองได้ไหมว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใครแต่เป็นธรรมทั้งหมดแต่ละหนึ่งๆ หลากหลายตามปัจจัย

- เพราะฉะนั้นทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริงที่พระองค์ทรงแสดงตามลำดับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีค่าที่สุดประเสริฐที่สุดไม่ใช่ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่เป็นความเข้าใจธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง

- เห็นประโยชน์มหาศาลที่มีโอกาสได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมีความเข้าใจถูกความเห็นถูก ตลอดทุกชาติประโยชน์สูงสุดคือ ได้มีโอกาสได้ฟังคำที่เข้าใจความจริงแล้วสะสมความเห็นถูกจนกว่าจะรู้ความจริง

- ถ้าเป็นปัญญาที่เข้าใจถูกจะเห็นประโยชน์ที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจถูกอย่่างนี้ด้วยบ้างไหม เพราะฉะนั้นก็มีธรรมที่เป็นธรรมที่ดีและมีธรรมที่เป็นธรรมที่ไม่ดี

- เพราะฉะนั้นธรรมที่ไม่ดีคือ เห็นว่าคนอื่นไม่ดีไม่ช่วยให้เขาเข้าใจดีขึ้นที่เขาจะได้ละความไม่ดี เพราะฉะนั้น ธรรมที่ดีเมื่อเข้าใจธรรมแล้วก็รู้ว่า ประโยชน์ที่สุดก็คือให้คนอื่นเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณมหาศาลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ให้เข้าใจความจริงว่า อะไรดี อะไรชั่ว

- ก่อนฟังเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า (กุศลต่างๆ ที่เกิดก่อนที่จะฟังธรรมก็มีหลายอย่างแล้วแต่อุปนิสัยแต่ละคน แต่เข้าใจว่า ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นทำทานก็ยังเป็นเราอยู่ แต่เข้าใจว่าไม่มีอะไรสูงกว่าธรรมทาน)

- ก่อนฟังธรรมคุณอาช่าเข้าใจธรรมหรือเปล่า (พอจะเข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นกุศลอะไรเป็นอกุศล) ถามว่า ก่อนฟังธรรมคุณอาช่าเข้าใจธรรมหรือเปล่า (ไม่) เพราะฉะนั้นฟังแล้วเข้าใจไหม (เริ่มนิดๆ หน่อยๆ) บางคนไม่เข้าใจเลยใช่ไหม (บางคนไม่เข้าใจเลย บางคนฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ) เพราะอะไร (เพราะยังไม่มีเหตุปัจจัยพอแม้ว่าฟังแล้วแต่ว่าต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความเข้าใจเกิด)

- ถ้าไม่รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยจะเข้าใจไหม ถ้าไม่รู้ว่าปัจจัยที่ทำให้เข้าใจคืออะไร และปัจจัยที่ทำให้ไม่เข้าใจคืออะไร จะรู้ไหมว่าทุกอย่างเกิดเพราะปัจจัยเป็นธรรมทั้งหมด (ถ้าไม่เข้าใจปัจจัยก็ไม่ได้) เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงว่า ”เพราะปัจจัย“ ไม่พอแต่ต้องรู้ว่า อะไรเป็นปัจจัยให้เข้าใจและอะไรเป็นปัจจัยให้ไม่เข้าใจ

- ไม่ใช่เพียงเรียกชื่อปัจจัยต่างๆ แต่ให้รู้ความจริงว่า แม้ฟังแล้วบางคนเข้าใจ บางคนไม่เข้าใจ ตอบได้ว่า ปัจจัยแต่อะไรเป็นปัจจัยให้เข้าใจ อะไรเป็นปัจจัยให้ไม่เข้าใจ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prinwut
วันที่ 27 เม.ย. 2567

- เพราะฉะนั้นอะไรเป็นปัจจัยให้เข้าใจ (การสะสมของผู้ฟังและกรรมที่เคยทำมา) การสะสมมาเป็นปัจจัยและอะไรเป็นปัจจัยให้เข้าใจ เห็นไหมปัจจัยทั้งนั้นแต่เราไม่ใช่รีบร้อนไปจำชื่อ แต่เราต้องเข้าใจความเป็นปัจจัย ส่วนชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำอะไรในภาษาบาลีภาษามคธีซึ่งหมายความถึงที่เรากำลังพูดนี้แหละแต่ถ้าเราพูดแต่ชื่อเราไม่เข้าใจเลย

- (คำถามเมื่อกี้หมายถึงว่าในการสะสมปัจจัยใดเฉพาะที่ทำให้เกิดใช่ไหม) เดี๋ยวก่อนนะคะ บางคนฟังธรรมแล้วเข้าใจ บางคนฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจ ต้องมีปัจจัยที่ทำให้เข้าใจและไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นอะไรเป็นปัจจัยให้เข้าใจ ไม่ใช่ถามชื่อว่าปัจจัยอะไร แต่ถามว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เข้าใจ (เป็นปัจจัยที่ดีที่เป็นกุศล)

- อะไรเป็นกุศล จะเป็นกุศลก็ต้องมีปัจจัย ศึกษาธรรมเพื่อรู้จักธรรมจริงๆ ว่าลึกซึ้ง (ดูเหมือนว่าต้องกลับไปให้เข้าใจใหม่ คุณอาช่าตอบว่า กรรมทำให้เข้าใจ)

- คนที่มีกรรมไม่ฟังธรรมเลย เข้าใจไหม (ก็มีหลายคนที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ) เพราะอะไร (เพราะปฏิสนธิด้วย ๒ เหตุไม่ใช่ ๓ เหตุ) และถ้าปฏิสนธิด้วยปัญญา เข้าใจธรรมไหม (ถ้าได้โอกาสฟังก็ต้องเข้าใจ) เพราะฉะนั้นกำลังฟัง เข้าใจเพราะอะไร (ดูเหมือนต้องย้อนกลับไปเยอะเลย) ถูกต้อง

- (ท่านอาจารย์เริ่มใหม่ดีกว่า) เพราะฉะนั้นคุณสุขินเห็นไหมว่า ยากลึกซึ้ง ถามเขาว่าพระเทวทัตปฏิสนธิด้วยจิตอะไร (ปฏิสนธิของท่านเทวทัตไม่มีปัญญา) พระเทวทัตได้ฌานสมาบัติมีปัญญาไหม

- (คุณอาช่าไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ฌานเกิด) ถ้าไม่มีปัญญาฌานเกิดไม่ได้ บอกเขา (ถ้าเกิดด้วยปัญญาจริงทำไมทำชั่วขนาดนี้ เป็นไปไม่ได้ว่าคนที่ทำชั่วขนาดนี้จะมีปัญญา) ปัญญาของพระเทวทัตรู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือยัง (สับสนว่า ถ้ามีปัญญาถึงขนาดได้ฌาน ถ้าไม่ได้บรรลุหรือไม่ได้เข้าใจอริยสัจ ๔ เพราะฉะนั้นเป็นอย่างไร)

- เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น คิดว่าคนที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจกับคนที่ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจเพราะอะไร ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องฟังธรรมนี้แหละ (คนที่เข้าใจเป็นเพราะกุศลสูงกว่าคนที่ไม่เข้าใจ) ไม่ใช่เลย ดิฉันถามถึงฟังธรรมไม่ได้ถามถึงกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้น ฟังธรรมแล้วเข้าใจกับฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจเพราะอะไร (อาช่าตอบแล้ว…) ไม่ได้ค่ะ บอกเขาว่า นั่นไม่ใช่คำตอบ

- (ตอนนี้ตอบว่าคนที่เข้าใจเพราะปัญญาเกิด คนที่ไม่เข้าใจเพราะปัญญาไม่เกิด) ฟังแล้วปัญญาเกิดเลยหรือ ฟังแล้วเข้าใจทันที ฟังแล้วปัญญาเกิดทันทีหรือ (อาจจะฟังคำถามผิด ยกตัวอย่างองคุลีมารฟังนิดเดียวก็เข้าใจตามการสะสม)

- ถูกต้อง แต่ฟังคำถามดีๆ คนฟังธรรมแล้วเข้าใจ เข้าใจคือปัญญาเหมือนกันจะใช้คำว่าปัญญาเกิดหรือเข้าใจเกิดก็ได้ คนที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจเพราะอะไร คนที่ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจเพราะอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร (พระพุทธองค์สอนว่า ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัยถ้าไม่มีเหตุปัจจัยปัญญาเกิดไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นแต่ละ ๑ ต่างกันหลากหลายมาก ปัจจัยมากไหม (มาก) เพราะฉะนั้นจะตอบว่าปัจจัยแต่ไม่รู้ว่าปัจจัยอะไร ถ้าตอบว่าปัจจัยแต่ไม่รู้ว่าปัจจัยอะไร ไม่ใช่ตอบเพียงชื่อแต่มีความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ปัจจัยอะไรทำให้ไม่เข้าใจ อะไรเป็นปัจจัยให้ไม่เข้าใจในขณะที่ฟัง หรือว่าในขณะที่ฟังคนนี้เข้าใจคนนั้นไม่เข้าใจ เป็นปัจจัยแน่นอนแต่ว่า อะไรเป็นปัจจัย

- (แค่รู้ว่าปัจจัยต่างกันแต่ไม่รู้ว่าปัจจัยอะไร บุคคล ๒ คน คนหนึ่งฟังแล้วเข้าใจอีกคนหนึ่งฟังแล้วไม่เข้าใจ เหตุผลคือปัจจัยต่างกันแต่ไม่รู้ว่าปัจจัยอะไร เดาว่าคนหนึ่งกิเลสมาก อีกคนหนึ่งกิเลสน้อย) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หรือปล่าว่า เพราะอะไร (ไม่รู้ตรงนี้ว่าพระพุทธองค์ตรัสว่าอะไร)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prinwut
วันที่ 27 เม.ย. 2567

- เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ได้ยินแล้วต้องรู้ว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ฟังคือได้ยินและถ้าไม่ไตร่ตรองให้ละเอียดให้ลึกซึ้งก็ไม่เข้าใจความหมายของคำนั้น

- พระองค์ทรงแสดงทุกคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงที่ต่างๆ กันให้รู้ว่าต่างกัน ไม่รู้กับรู้ต่างกัน ไม่เข้าใจกับเข้าใจต่างกันเพราะขณะที่ฟังไม่ไตร่ตรองให้เข้าใจคำทั้งที่เป็นคำถามและที่เป็นคำตอบ ตัวอย่างเช่น ปัจจัยมีจริงแต่ปัจจัยคืออะไร (เป็นตัวอย่างว่าฟังคำถามไม่ถูก ตอนแรกพยายามตอบว่าปัจจัยอะไร ตอนนี้คำตอบคือเพราะสิ่งนี้เกิด)

- อะไรเป็นปัจจัยบ้าง (จิตเจตสิกรูป) จิตเป็นปัจจัยอะไร (โดยนัยปัจจัยต่างๆ จิตเป็นกัมมปัจจัย วิปากปัจจัย…) เดี๋ยวก่อนนะคะ จิตเป็นกัมมปัจจัยหรือ (ไม่ใช่กัมมปัจจัยเปลี่ยนใหม่เป็นวิปากปัจจัย)

- วิปากปัจจัยคืออะไร (ธรรมที่เกิดเพราะกรรมเป็นเหตุ) เพราะฉะนั้นธรรมที่เกิดเพราะกรรมเป็นเหตุของอะไร เพราะฉะนั้นต้องรู้ความต่างของกัมมปัจจัยกับวิปากปัจจัย

- เพราะฉะนั้นกัมมปัจจัยคืออะไร (กรรมในอดีตที่ทำให้เกิดวิบาก) ถามว่ากัมมปัจจัย อะไรเป็นกัมมปัจจัย (เป็นเจตนา) กัมมปัจจัยเป็นปัจจัยแก่อะไร ถ้าเป็นปัจจัยแล้วต้องมีสิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยใช่ไหม เพราะฉะนั้นมีคำใหม่ ๒ คำ เราค่อยๆ พูดถึงธรรมทีละนิดทีละหน่อยแต่ต้องมีความเข้าใจขึ้น

- เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัจจัยก็ต้องมีสิ่งที่อาศัยปัจจัยนั้นเกิดหรือปล่า อะไร มีคำว่าปัจจัยสิ่งที่เป็นที่อาศัยให้เกิดและสิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยใช้คำว่า “ปัจจยุบบันธรรม”

- ปัจจยุบบันคืออะไร (สิ่งที่ถูกปัจจัยทำให้เกิดนั้นเป็นปัจจยุบบัน) เพราะฉะนั้นอะไรเป็นปัจจยุบบันของกัมมปัจจัย (คำตอบเบื้องต้นคือ เจตสิกที่เกิดพร้อมกัน) เช่นอะไร (โทสะ) กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะหรือ (เป็นปัจจยุบบัน) โทสะเป็นปัจจยุบบันของกรรมหรือ คิดดีๆ เห็นไหมนี่เป็นเหตุที่ฟังแล้วเข้าใจฟังแล้วไม่เข้าใจเพราะอะไร (เป็น)

- โทสะเป็นปัจจยุบบันของอะไร (เป็นของเจตนาที่เกิดพร้อมกันได้) ที่เกิดพร้อมกันโดยฐานะอะไรของเจตนา (คุณอาช่าพูดหลายอย่างแต่ดูเหมือนไม่เข้าใจ)

- แน่นอน เพราะฉะนั้นเราถามทีละคำเขาต้องตอบ เขาบอกว่าโทสะมีกรรมเป็นปัจจัยใช่ไหม (ใช่) โดยเป็นปัจจัยอะไร ปัจจัยมีหลายอย่าง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าแต่ละ ๑ ปัจจัยหมายความถึงอะไร (ท่านอาจารย์ถามถึงเจตนาเป็นปัจจัยอะไรหรือโทสะเป็นปัจจัยอะไร)

- เขาบอกว่า โทสะเกิดเพราะเจตนาใช่ไหม (โดยปัจจัยอะไรใช่ไหม) ถูกต้อง (ไม่ทราบว่าโทสะเป็นปัจจัยอะไร) เพราะฉะนั้นที่เขาตอบ เขาตอบถูกไหมถ้าไม่เข้าใจ (ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าที่ตอบไปถูกหรือผิด)

- เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสดงความจริงให้เข้าใจความจริงจนกว่าจะรู้ว่า ไม่มีเรา เป็นธรรมทั้งหมดเพราะถ้าไม่พูดถึงปัจจัยไม่พูดถึงธรรมก็ยังเป็นเราทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prinwut
วันที่ 27 เม.ย. 2567

- เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อเห็นประโยชน์สูงสุดในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ฟังด้วยความเคารพที่จะเข้าใจ ไม่ใช่จำชื่อ จำปัจจัย จำปัจจยุบบัน แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้อะไรเป็นปัจจัย อะไรเป็นธรรมก็จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและไม่เป็นประโยชน์เพราะว่าไม่ละกิเลส

- ขณะนี้เป็นธรรมที่ละเอียดแต่ละ ๑ ขณะมากมายหลายอย่าง ถ้าไม่ฟังเพื่อเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม ต้องการรู้ชื่อ ต้องการจำ ต้องการตอบ ไม่สามารถรู้จักธรรมได้เลย

- เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้กำลังเห็น ต้องฟังเรื่องเห็นอีกใช่ไหม ในเมื่อฟังแล้วต้องฟังอีกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเห็นประโยชน์อย่างยิ่งของทุกคำทุกขณะไม่ว่าจะยามใดทั้งสิ้นที่สามารถจะได้ฟังได้เข้าใจธรรม

- ทุกคำที่ได้ฟังที่เป็นความจริงเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ๔๕ พรรษา ฟังทุกคำต้องสนใจใส่ใจไตร่ตรองพิจารณาจนรู้ว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร และเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า และเริ่มเห็นประโยชน์ของทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส

- ถ้าฟังแล้วผ่านไปเหมือนไม่ได้ยิน ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าฟังแล้วไม่คิดไม่ไตร่ตรองจะเข้าใจคำนั้นที่กล่าวถึงธรรมได้ไหม (ไม่มีประโยชน์) ถามว่า ถ้าฟังแล้วไม่คิดไม่ไตร่ตรองเพราะฉะนั้นฟังแล้วก็เหมือนไม่ได้ยินใช่ไหมเพราะไม่สนใจ นี่คือคำตอบใช่ไหมว่า ฟังแล้วทำไมบางคนเข้าใจบางคนไม่เข้าใจ ความจริงเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

- ในพระไตรปิฎกทรงแสดงถึงการฟังแล้วเข้าใจและไม่เข้าใจเพราะอะไร (เพื่อที่จะให้เราเข้าใจว่า การฟังถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เข้าใจ) เพราะฉะนั้นต้อง ”มนสิการ” ใส่ใจในคำและความหมายและความจริงของคำที่แสดงถึงธรรมแต่ละ ๑

- การใส่ใจในสิ่งที่ได้ฟังมีจริงไหม (มีจริง) เป็นธรรมหรือเปล่า (เป็น) เป็นธรรมอะไร (ก็คือมนสิการ) ถามว่าเป็นธรรมอะไร ไม่ใช่ชื่ออะไรแต่ถามว่าเป็นธรรมอะไร (เจตสิก) เป็นเจตสิก เป็นวิบากผลของกรรมหรือว่าเป็นกุศลกรรมอกุศลกรรม (การใส่ใจตรงนี้จะเป็นกุศลก็ได้อกุศลก็ได้) ไม่ได้ถามว่าตรงนี้

- การใส่ใจเป็นธรรมหรือเปล่า (เป็นธรรม) เป็นธรรมอะไร ประเภทไหน (เป็นเจตสิก) เจตสิกเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่เป็นเหตุ หรือว่าเป็นวิบาก หรือว่าเป็นกิริยา (เป็นกุศล)

- ได้ยินคำว่า “มนสิการเจตสิก” ใช่ไหม (ใช่) มนสิการเจตสิกเกิดเป็นกุศล อกุศล วิบากหรือกิริยา (ทั้ง ๔) พร้อมกันได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นต้องเกิดเป็นกุศล ๑ พร้อมกับกุศลเจตสิกอื่นๆ ต้องเป็นอกุศล ๑ พร้อมกับเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นอกุศล เกิดพร้อมกับวิบากเมื่อเจตสิกอื่นๆ และจิตเป็นวิบาก เกิดกับกิริยาจิตเมื่อขณะนั้นไม่ใช่กุศล อกุศล วิบาก นี้เป็นสื่งที่เราจะรู้ได้ว่าลึกซึ้งเพราะเราไม่สามารถจะรู้ตรงลักษณะนั้นเพียงขั้นการฟัง

- เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้วเข้าใจแล้วจะไม่ลืม เพราะฉะนั้นที่เราพูดกันบ่อยๆ มีเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกขณะ และมีจิต ๑๐ ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภท ถ้าเพียงจำก็ลืมแต่ถ้าเข้าใจก็จะไม่ลืม

- วันนี้ก็ยินดีในกุศลของทุกคนที่เริ่มพิจารณาความละเอียดลึกซึ้งของธรรม มิฉะนั้นแล้วแม้ได้ยินได้ฟังคำของพระพุทธเจ้าก็เหมือนไม่ได้ฟัง สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prinwut
วันที่ 27 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบยินดีในกุศลคุณสุขินผู้แปลภาษาฮินดี และอนุโมทนาผู้ร่วมสนทนาทุกท่าน

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นและคณะอาจารย์ มศพ ในคุณความดีทุกประการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 27 เม.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 28 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ