ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๖๑] พาหุสจฺจ

 
Sudhipong.U
วันที่  27 เม.ย. 2567
หมายเลข  47712
อ่าน  669

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “พาหุสจฺจ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

พาหุสจฺจ อ่านตามภาษาบาลีว่า พา - หุ - สัด - จะ มีวิเคราะห์ศัพท์ว่า พหุสุตสฺส ภาโว พาหุสจฺจํ แปลว่า ความเป็นแห่งบุคคลผู้สดับตรับฟังพระธรรมมาก ชื่อว่า พาหุสัจจะ ซึ่งมุ่งหมายถึงเฉพาะการสดับตรับฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เท่านั้น

ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต มงคลสูตร แสดงความเป็นจริงของคำว่า พาหุสัจจะ ไว้ดังนี้

ที่ชื่อว่า พาหุสจฺจํ ได้แก่ การทรงไว้ซึ่งคำสอนของพระศาสดา ที่ท่านพรรณนาไว้โดยนัยว่า ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมไว้ซึ่งสุตะดังนี้เป็นต้น และโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สดับมาก คือทรงไว้ซึ่งสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น พาหุสัจจะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ละอกุศลธรรม และบรรลุกุศลธรรม และเพราะเป็นเหตุทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ โดยลำดับสมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสาวกได้สดับแล้วแล ย่อมละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์อยู่ ดังนี้เป็นต้น.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา และสะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับอย่างแท้จริง เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตที่สั้นแสนสั้น เป็นความจริงที่ว่า ในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตอยู่นั้น มักจะตกไปจากกุศล กล่าวคือ พลาดให้กับอกุศลเป็นส่วนใหญ่ มีกุศลจิตเกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น เทียบส่วนไม่ได้เลยกับอกุศลที่มีเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน จึงเป็นการให้อาหาร (คือ ให้เหตุ) ของอวิชชาความไม่รู้เป็นอย่างมาก เพราะเหตุว่าในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น มีอวิชชาคือโมหะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ทำให้มีการสะสมอวิชชาเพิ่มมากขึ้น จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่สำหรับบุคคลผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา เป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาตั้งแต่ชาติปางก่อน เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ย่อมมีศรัทธาที่จะเข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีปัญญา เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจากสัตบุรุษดังกล่าว เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการให้อาหารของปัญญา เพราะจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถทำให้พ้นจากความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด

ตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ด้วยการฟังพระธรรมเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งเท่านั้น ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลในคำที่ได้ยินได้ฟัง ขณะที่สามารถทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐของชีวิต เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ส่วนมากจะเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่นำคุณประโยชน์อะไรมาให้เลย แต่บางครั้งบางเวลาก็มีเหตุปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะสละเวลาจากที่เป็นอกุศล มาเพื่อฟังพระธรรม ซึ่งหาฟังได้ยากอย่างยิ่ง เพราะบุคคลที่จะแสดงในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น หายาก และผู้นั้นก็ต้องได้เป็นผู้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง มีศรัทธาที่จะฟัง จึงจะได้ฟัง และจากการฟังในแต่ละครั้งความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐจริงๆ เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลาความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย

ขณะนี้ซึ่งแต่ละคนมีโอกาสได้ฟังพระธรรมนั้น จะเข้าใจมากน้อยเท่าใด ก็ต้องฟังต่อไปอีกเรื่อยๆ ชาตินี้ได้สะสมเหตุที่ดี เห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้ว ก็ย่อมจะมีเหตุให้ได้ฟังได้ศึกษาต่อไปอีก สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นขณะที่หายาก

ถ้าจะพิจารณาดูแต่ละชีวิตในโลก ที่จะได้ขณะที่ประเสริฐ คือ ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑ ขณะที่ได้เกิดขึ้นในถิ่นที่สมควร คือในถิ่นที่มีพระพุทธศาสนา ๑ ขณะที่ได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูก ๑ และ ขณะที่อวัยวะทั้ง ๖ ไม่บกพร่อง ๑ จะยากเพียงใด นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แต่ละบุคคลที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยขณะเหล่านี้แล้ว ก็ขอขณะเหล่านี้อย่าได้ล่วงเลยไปเสีย เพราะเหตุว่าขณะนี้ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งได้เกิดในถิ่นที่ยังมีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงอยู่ และในขณะเดียวกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่บกพร่อง พร้อมที่จะรองรับพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกได้ ก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเพื่อรู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

ถึงแม้ว่าในชีวิตประจำวันกุศลจิตจะเกิดมาก แต่ก็ไม่เป็นเครื่องกั้นในการอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมเจริญปัญญาท่ามกลางอกุศลจริงๆ สิ่งสำคัญคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะปัญญาจะเจริญมากยิ่งขึ้นได้ ก็มาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ขาดการให้อาหารของปัญญา คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของความเป็นพหูสูต ที่จะมีปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมถึงขั้นที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 พ.ค. 2567

อนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ