เมื่อร่วมเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ ประเทศเนปาล ครั้งที่ 1

 
kanchana.c
วันที่  2 พ.ค. 2567
หมายเลข  47718
อ่าน  856

เมื่อร่วมเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา

กับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ มศพ.

ณ ประเทศเนปาล ครั้งที่ 1

11 เม.ย. 2567 – 17 เม.ย. 2567

เมื่อเพื่อนชาวเนปาลทราบว่า จะเดินทางไปเนปาลในเดือนเมษายน ก็ถามว่าไปทำไมเดือนนี้ เนปาลร้อนมาก ไม่สนุกหรอก ก็เลยบอกว่า ไม่ได้ไปเที่ยว แต่ไปร่วมเผยแพร่พระธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และสหายธรรมจาก มศพ. และคิดว่า ท่านอาจารย์อายุ 98 ปีแล้ว ยังไม่ห่วงกังวลกับความร้อนหนาว เราจะเดือดร้อนทำไม ลืมคิดไปว่า ท่านอาจารย์อยู่ด้วยปีติเมื่อได้แสดงธรรม ท่านมีปีติเป็นภักษา ส่วนเรามีขยะเป็นภักษา หลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสก็เป็นขยะทันที คือ ไม่เป็นโลภะ ก็โทสะ ไปคราวนี้อากาศร้อน คงมีขยะประเภทโทสะมากกว่าโลภะ ความติดข้อง แน่นอน

กลับมาจากเนปาล ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. พร้อมกับขยะในใจและขยะในกาย คือ ติดเชื้อโควิดกลับมาด้วย โชคดีที่มีอาการในวันเดินทางกลับ ก็เลยไม่ทรมานเท่าไรนัก เป็นไข้สูง อาเจียนเล็กน้อย วันรุ่งขึ้นรีบไปหาหมอ เมื่อตรวจ ATK พบว่าขึ้น 2 ขีดทั้ง 2 คน (อ.สงบเป็นก่อน 2 วัน) เลยให้กินยาโมลโนพิราเวียร์คนละ 40 เม็ด หมอบอกว่า อายุมากแล้วควรกินยาฆ่าเชื้อ กินยาแล้วนอนยาวเกือบ 10 วันจึงเบาตัว เหงื่อออกเป็นน้ำ เพราะอากาศร้อนและพิษไข้ด้วย ตอนนี้หายสนิท พร้อมจะเล่าเรื่องการเดินทางไปเนปาลแล้ว แต่ปัญหาคือ ลืมเสียส่วนใหญ่ ตามประสาคนขี้เกียจไม่เคยจดบันทึกอะไร นอกจากจำเอา คราวนี้ทิ้งเวลานานเกินไป จำไม่ค่อยได้ เรื่องประทับใจก็ไม่ค่อยมี เป็นอันว่า ถ้าเล่าผิด คนที่รู้เรื่องจริงช่วยแก้ไขต่อเติมมาในความคิดเห็นได้เลยค่ะ

วันแรกพวกเราเกือบ 70 ชีวิตนัดพบกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตอน 7.00 น. เครื่องออกเวลา 10.30 น. เราขอวีลแชร์พร้อมกับท่านอาจารย์ และคุณแก้วตา ปรากฏว่าต้องรอวีลแชร์อยู่หลายชั่วโมง เพราะวีลแชร์ไม่พอ ถ้าพอเดินไหว เดินไปจะดีกว่า จากสุวรรณภูมิไป กาฐมาณฑุ ใช้เวลาเดินทาง 3.30 ชม. เวลาช้ากว่าประเทศไทย 1.15 นาที เราไปถึง สนามบินตรีภูวัน ตอนประมาณบ่ายสอง เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็เห็นท่านภันเตสุมังคโลมาคอยรับอยู่ แสดงถึงความกว้างขวางของท่านในเนปาล แล้วพวกเราก็พากันนั่งรถแวน รถบัส รวม 3 คันไปโรงแรมวนสุทธิ์ (Vanasut) กลางเมืองกาฐมาณฑุ โรงแรมนี้เป็นของคนไทย ท่านภันเตรับรองว่ามีอาหารไทย

หลายท่านคงไม่ทราบที่มาของท่านภันเตสุมังคโลและการเดินทางไปเผยแพร่พระธรรมที่เนปาล ขอเล่าตามที่ได้ยินได้ฟังมา ไม่ได้สัมภาษณ์ใครแต่อย่างใด ถ้าผิดพลาดตรงไหน ขอความกรุณาช่วยแก้ไขด้วยค่ะ

ท่านภันเตสุมังคโล เป็นสามเณรชาวเนปาลอายุประมาณ 30 – 40 ปี ที่มาศึกษาพระพุทธศาสนาที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เดิมท่านศึกษาเภสัชศาสตร์ที่ประเทศเนปาล แต่เมื่อสนใจพระพุทธศาสนาแล้วก็มาศึกษาที่ประเทศไทย จนพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ท่านไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ เพราะเห็นว่า การเป็นภิกษุที่บริสุทธิ์ในสมัยนี้นั้นยาก เพราะมีศีลให้รักษาถึง 227 ข้อ การเดินทางไปเผยแพร่พระธรรมตามสถานที่ต่างๆ ในฐานะสามเณรที่ต้องรักษาศีลเพียง 10 ข้อ จะสะดวกกับท่านมากกว่า

คุณแป๋ว วสุธิดา ไชยสำแดง คุณแขก จรรยา ดวงแก้ว และคุณเล็ก พนมวรรณ คาดพันโน แกนนำสมาชิก มศพ.อิสานไทยลาว ที่คร่ำหวอดอยู่กับสำนักปฏิบัติ นั่งสมาธิ เดินจงกรมมาหลายสิบปี จนคิดว่า ที่จะสำเร็จมรรคผลนั้นต้องออกบวช ทั้ง 3 คนเตรียมบวชชี บางคนก็โกนผมแล้ว แต่เมื่อได้ฟังยูทูปที่ท่านอาจารย์แสดงถึงความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย ก็เข้าใจแล้วติดตามฟังเรื่อยมา พร้อมกับชักชวนกับเพื่อนๆ มาฟังธรรมด้วย จนเดินทางไปอินเดียกับท่านอาจารย์ เมื่อเดินทางไปถึงลุมพินี สถานที่ประสูติ ณ ประเทศเนปาล คุณแป๋วซึ่งเป็นเพื่อนกับท่านภันเตสุมังคโลที่อยู่ที่กาฐมาณฑุ จึงติดต่อให้ท่านมาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ เพราะท่านภันเตสอนสมาธิอยู่ที่วัดป่ามหาวัน ลุมพินี เนปาล มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านจึงบินจากกาฐมาณฑุมาลุมพินีและได้สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ เกิดความเลื่อมใส และได้มาสนทนาธรรมต่อที่ มศพ. พร้อมกับนำคณะรัฐมนตรีของเมืองลุมพินีมาด้วย และต่อมาได้เรียนเชิญท่านอาจารย์ไปเผยแพร่พระธรรมที่เนปาลครั้งที่ 1 (แสดงว่าต้องมีครั้งต่อไป)

พวกเราเลยโชคดีได้ติดตามท่านไปด้วย พร้อมจะช่วยเหลือทุกอย่างที่ทำได้ แต่ก็เป็นแค่คนติดตามห่างๆ เพราะท่านอาจารย์มีคนติดตามมากอยู่แล้ว

เมื่อถึงโรงแรมวนสุทธิ์ ก็มีการสนทนาธรรมที่ชั้น 4 ของโรงแรม ได้มีการขอร้องให้คนไทยไปเที่ยวชมเมือง เพราะห้องประชุมเล็ก พอสำหรับคนเนปาลที่จะมาฟังธรรมเท่านั้น เราจึงไม่ได้ขึ้นไปชั้น 4 แต่นั่งรถบัสไปเที่ยววัดกุมารี ซึ่งเขาปิด 4 โมงเย็น เราไปเลยเวลาแล้ว ได้ข่าวจากผู้พาไปว่า ท่านภันเตบอกให้เปิด แล้วยังได้ไปชมกุมารีด้วย ซึ่งตามธรรมดาจะมีเวลาให้ได้ชม แต่เมื่อได้ชมแล้วก็เกิดความรู้สึกสงสารเด็กน้อยที่หน้าตาไม่มีความสุขเลย ไม่ได้ใช้ชีวิตตามวัย ลืมอีกแล้วว่า สงสารก็เป็นอกุศล ควรวางอุเบกขาว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมใดก็ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น แต่สงสารก็มีจริง เกิดแล้วด้วย เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อกลับมาถึงโรงแรมจึงทราบว่า คนไทยไปร่วมฟังการสนทนากันมาก เพราะคนเนปาลมาน้อย โดยมีท่านสุมังคโลเป็นล่ามแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาเนปาลี

วันรุ่งขึ้นมีการสนทนาธรรมที่ห้องจัดเลี้ยงใกล้ๆ โรงแรม ได้ข่าวว่าจะมีคนเนปาลมามาก แต่ก็ค่อยๆ ทยอยมา คนที่ไปอินเดียมาแล้ว บอกว่า ที่อินเดียก็เหมือนกัน ไม่เหมือนคนไทยต้องไปก่อนเวลา มีการสนทนาธรรมทั้งเช้าและบ่าย มีคำถามจากคนเนปาลหลายคน จำไม่ได้แล้วว่า ถามอะไรบ้าง น้องตู่ ปริญญ์วุฒิคงรวบรวมไว้ในกระดานสนทนาแล้ว ป้าแก่แล้วจำอะไรไม่ค่อยได้ จำได้แต่เรื่องขยะ ตอนบ่ายมีกำหนดการบินไปลุมพินี ท่านภันเตบอก อ.สงบให้เตือนท่านตั้งแต่บ่ายสองครึ่ง ไปเตือนหลายครั้ง จนในที่สุดเลิกเตือน ออกจากห้องสนทนาเกือบ 4 โมง จึงทราบว่า เป็นเครื่องบินเหมาลำ มีแต่พวกเราจึงเลื่อนเวลาได้ตามต้องการ รู้สึกว่า ท่านภันเตเป็นผู้มีอิทธิพลในเนปาลนะ

ไปถึงลุมพินีก็ค่ำแล้ว เข้าโรงแรม Zambara ที่ตั้งอยู่หน้าสถานที่ประสูติที่เราจะไปสนทนาธรรมในวันรุ่งขึ้น ทราบว่า วันที่ 13 เม.ย. เป็นวันปีใหม่ของคนเนปาล จะมีคนมาที่สถานที่ประสูติมากมาย ไกด์ชาวฮินดูบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระนารายณ์ จึงนับถือพระพุทธเจ้าเช่นกัน

หลังอาหารเช้า รถบัสพาเข้าไปในสถานที่ประสูติ ซึ่งต่างจากเมื่อไปครั้งสุดท้ายเมื่อ 13 ปีก่อน ตอนนั้นต้องเดินจากโรงแรมไปตามถนนฝุ่นฟุ้งตลบ ตอนนี้เป็นถนนคอนกรีตสวยงาม เห็นว่าเป็นศรัทธาของคนไทยที่รวบรวมเงินมาสร้าง มีศาลาที่ประชุมให้ทานที่มีภาษาไทยบอกว่า เป็นคนไทยสร้าง มีคลองที่ขุดขึ้นมีเรือให้นั่งเล่น ดูเหมือนสวนสนุกที่สวยงามกว่าเดิมจนจำไม่ได้ แต่สถานที่ประสูติยังเป็นอาคารสีขาวเหมือนเดิม ใกล้ๆ ก็ยังมีเสาพระเจ้าอโศก และมีสระน้ำ พร้อมกับต้นโพธิ์ที่มีสาธุ พระฮินดูที่ห่มเหลืองคล้ายๆ พระภิกษุในพระพุทธศาสนานั่งรอรับทานอยู่รอบต้นโพธิ์

พวกเราเลือกนั่งใต้ต้นโพธิ์ มองดูใบโพธิ์อ่อนพัดด้วยแรงลมกระทบกับแสงพระอาทิตย์จนดูเหมือนใบไม้สีทองสวยงาม เป็นภาพที่เกิดจากจินตนาการล้วนๆ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่มีเรื่องราวมากมายจนเป็นใบไม้สีทอง ตามเคยที่จำไม่ได้ว่า ท่านบรรยายธรรมเรื่องอะไร เพราะคนเนปาลเดินผ่านไปมามากมาย ยากที่จะสนใจกับเสียงที่ได้ยิน (ไกลๆ) เพราะอยู่รอบนอก แม้จะใส่ใจด้วยดีแล้วก็ตาม

ก่อนจะเดินทางกลับไปทานอาหารกลางวันที่โรงแรม พบท่านภันเตที่ประตูทางออก ท่านยืนแจกหนังสือพุทธประวัติที่พิมพ์อย่างสวยงามพร้อมภาพวาดและคำบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด มีจนถึงการจารึกพระไตรปิฎกบนหินที่ประเทศพม่า พบว่าพิมพ์โดยมูลนิธิสารีบุตร ที่ท่านภันเตตั้งขึ้น ท่านบอกว่า ให้ผู้ที่เข้ามาสักการะสถานที่ประสูติได้รู้จักพุทธประวัติด้วย ไม่ใช่เหมือนมาเที่ยวสวนสนุก ที่กลับไปแล้วไม่รู้อะไรเลย มีบางท่านแย้งว่า คำบรรยายบางตอนไม่ถูกต้อง เช่น พระโพธิสัตว์ทรงนั่งสมาธิจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นไปตามความเข้าใจในขณะนั้นของท่าน ถ้ามีการศึกษาเข้าใจมากขึ้นก็คงมีการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

วันรุ่งขึ้นเดินทางไปวัดป่ามหาวัน ที่อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ เป็นวัดที่ภันเตดูแลอยู่ พวกเราคนไทยได้ช่วยกันบริจาคเงินทำห้องน้ำ 8 ห้องไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะสำหรับคนไทยห้องน้ำสำคัญที่สุด ขอยินดีในกุศลที่ทุกท่านร่วมกันสร้างห้องน้ำอย่างดี สำหรับทุกคนทั้งไทยและเนปาล เดินทางจากลุมพินีมาที่วัดป่ามหาวัน ระยะทาง 19 กม. แต่เดินทางนานมากเกือบ 2 ชั่วโมงเพราะถนนหลังจากลุมพินีแล้วก็เป็นถนนลูกรัง ฝุ่นฟุ้ง ผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน มีโรงเก็บไม้ที่เลื่อยแล้ว อ่านป้ายไม่ออกว่าเป็นของเอกชนหรือรัฐบาล ต้นไม้จึงเหลือน้อย ต้นที่เหลืออยู่ก็มีแต่ใบแห้งๆ มองดูแล้วหดหู่ เพราะอากาศก็ร้อนมากและเต็มไปด้วยฝุ่น มีชาวบ้านมาเข้าแถวมอบดอกไม้ที่เก็บจากแถวนั้น เป็นดอกเฟื่องฟ้ามาต้อนรับ

ศาลาที่เป็นที่สนทนาธรรม เป็นศาลาใหญ่มีหลังคารูปโค้งที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ฝาผนังมีแต่กรอบหน้าต่าง พื้นปูนก็ยังไม่เรียบร้อย ได้ทราบทีหลังว่า รีบสร้างหลังคาก่อนให้ทันการสนทนาธรรม เพราะศาลาหลังเก่าที่เสร็จแล้วนั้นใช้เป็นที่รักษาโรคจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของไทยซึ่งมีคุณหมอตุ๊ก คุณเอ็กซ์ คุณน้อย พยาบาล คุณหมอเนปาล และอาสาสมัครหลายคนร่วมกันให้การรักษาคนป่วยชาวเนปาลที่มากันมืดฟ้ามัวดิน นับได้เกือบ 500 คน รักษาทั้งเช้า ทั้งบ่าย คนเนปาลก็เหมือนคนอื่นๆ ทั่วโลกที่สนใจรักษาโรคกายมากกว่าโรคใจ คนมาฟังธรรมจึงน้อยกว่าคนมาหาหมอขอยา

สนทนาธรรมจนถึงเวลาอาหารกลางวัน ยังนึกไม่ออกว่าจะทานอาหารกลางวันอย่างไร ต่อมาจึงทราบว่า ให้นั่งรถบัสออกไปรีสอร์ทข้างนอกหมู่บ้านซึ่งเตรียมอาหารกลางวันแบบบุฟเฟต์ในห้องปรับอากาศเย็นฉ่ำ พวกเราได้นั่งพักจากความร้อนจนถึงบ่ายสามโมงเย็น และกลับไปที่วัดสนทนาธรรมต่อ ขณะที่พวกเรารับประทานอาหารกลางวันกันในบรรยากาศเย็นฉ่ำนั้น คณะทีมแพทย์ยังทำการรักษาต่อ ขอยินดีในกุศลที่ท่านทั้งหลายได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มากันอย่างล้นหลาม พวกเราอยู่สนทนากันจนได้เวลาอันสมควร มีการมอบของให้แก่โรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ หลังจากนั้น ผู้มีศรัทธาก็ได้นำของจากเมืองไทย เช่น คุณกอบแก้ว สากิยะ นำเสื้อผ้าเด็กมาแจก คุณสมนึกแจกเงินเด็กคนละ 1 ดอลลาร์ คุณพฤติ บุญญาสัยและคุณแม่เดซี่ เหมาไอศครีมเลี้ยงเด็กๆ และอีกมากมาย ที่ตาและหูไม่สามารถสอดส่ายไปรู้ไปเห็นได้ ถ้าใครมีรายละเอียดช่วยกรุณาเพิ่มเติมเพื่อจะได้อนุโมทนาให้เกิดกุศลยิ่งขึ้น

ขากลับก็มืดแล้ว ผู้จัดกรุณาจัดให้ชมกรุงกบิลพัสดุ์ กรุงเทวทหะ และสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 (?) ตอนนี้ก็ยังงงๆ อยู่ว่า เห็นอะไรบ้าง เพราะมีแต่ความมืด

กลับถึงโรงแรมแชมบาราก็ค่ำมากแล้ว รับประทานอาหารเย็น แล้วเตรียมเดินทางจากลุมพินีไปโพคาราในวันรุ่งขึ้น โดยทางรถยนต์ เพราะอยากชมธรรมชาติที่เขาบอกว่า เป็นป่าหิมพานต์ แม้จะต้องเดินทางถึง 9 ชม. ก็ตาม (ในรายการบอกว่า 6 ชม.) ความจริงแล้วอยากประหยัดเงินด้วย

ออกเดินทางประมาณ 9 โมงเช้า เพราะรอกันไปมา ผ่านสวนลุมพินีที่กำลังทำเป็นพุทธอุทยาน จะมีวัดนานาชาติมาสร้างในบริเวณดังกล่าว 9 ประเทศ (ถ้าจำไม่ผิด) หลังจากรถบัสแล่นออกจากถนนหลักก็เป็นแนวป่า มีต้นไม้เขียวขจีให้เห็น แล้วรถก็แล่นขึ้นเขาไปเรื่อยๆ สองข้างทางเป็นเหวลึก มองเห็นลำธารมีน้ำไหลอยู่ข้างล่าง บนยอดเขามีหมู่บ้านที่ทำนาขั้นบันได จากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้นมีสะพานแขวนให้เห็นระยะ ดูแล้วก็แปลกตาสวยงามดี ถนนคดเคี้ยวตลอดทาง หาถนนตรงสัก 100 เมตรก็ยังยาก โค้งไปโค้งมา โชคดีที่คุณสมนึกและ อ.วิชัย สละที่ข้างหน้าให้นั่ง เลยไม่เมารถ แต่มีหลายคนเมา รวมทั้ง อ.วิชัยด้วย คนใกล้ตัวเลยใช้ตำราจีนนวดให้หายเมา รวมทั้งนวดแผนเวียดนามของคุณฮั่งด้วย ยินดีในกุศลค่ะ พวกเราร้องว้าวกับความสวยงามของทิวทัศน์ข้างทางได้พักเดียว ทั้งรถก็เงียบสงบ เพราะหลับหนีความโค้งของถนน เห็นไซต์งานของประเทศจีนกำลังขุดอุโมงค์ทะลุภูเขา อีกไม่นานถนนคงคดเคี้ยวน้อยกว่านี้ ระหว่างหลับหัวก็โขกกระแทกกระจกข้างรถ เพราะรถวิ่งคดเคี้ยว ขอบคุณมิสฮาที่ช่วยจับหัวไว้ให้ ไม่อย่างนั้นมีหัวโนแน่นอน ส่วนคนข้างตัวก็ปวดเอวปวดไหล่เพราะนั่งไหลไปตามรถที่เลี้ยว ต้องทายาแก้ปวด กว่าจะถึงสะบักสะบอม นั่งรถไปเกือบ 9 ชั่วโมง ทางคดเคี้ยวก็หายไป เป็นถนนกว้างใหญ่บนที่ราบ ได้เข้าเมืองโพคาราแล้ว เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของเนปาล มีทะเลสาบกว้างใหญ่ เห็นภูเขาสูงล้อมรอบ คิดว่าจะถึงโรงแรมหิมาลายาฟร้อนท์ หมดที่สูงแล้ว ที่ไหนได้ รถแล่นขึ้นเขาสูงผ่านโค้งหักศอกหลายโค้ง และในที่สุดก็ถึงโรงแรม คณะที่มาเครื่องบินถึงก่อนแล้ว เห็นคุณนภาสาวสวยมาโบกมือจากหน้าต่างชั้น 2 ต้อนรับ โรงแรมสวยงามจริงๆ มีสระว่ายน้ำอยู่ข้างหน้า จากหน้าต่างมองเห็นทิวเขาไกลๆ ได้ขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 6 ของโรงแรม เพื่อไปซ้อมดูพระอาทิตย์ขึ้นเหนือยอดเขาอันนาปุระและมัจฉาปูชเรตอนตีห้าครึ่ง ตอนนั้นได้เห็นแต่แสงไฟของหมู่บ้านข้างล่าง และแสงไฟจากโรงแรมที่อยู่สูงกว่า สวยงามดี อากาศเย็นกำลังสบาย หลังรับประทานอาหารเย็นแสนอร่อย ก็นอนหลับสนิท ตื่นมา 6 โมงเช้า พระอาทิตย์ขึ้นอยู่ตรงหน้าต่างห้องชั้น 2 แล้ว เห็นความเป็นอนัตตาไหม เลือกไม่ได้ว่า จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร แม้จะตั้งใจจะเห็นอย่างไรก็ตาม แต่คนที่ขึ้นไปดูก็บอกว่า เห็นไม่ชัดเพราะอากาศไม่เปิด เหมือนมีหมอกหรือควัน

วันนี้แบ่งคณะเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งไปเที่ยวทะเลสาบและชมเมือง อีกพวกหนึ่งอยู่สนทนาธรรม เราอยู่สนทนาธรรม เพราะจะอยู่เนปาลต่ออีก 2 วัน ได้เห็นชนพื้นเมือง ได้ทราบว่าเป็นชาวพุทธธิเบต แต่งตัวสวยงามด้วยผ้ากำมะหยี่สีแดง ใส่เครื่องประดับเต็มที่ ส่วนมากเป็นผู้หญิงวัยกลางคน เมื่อเริ่มสนทนามีคนถามปัญหามากมาย แต่ละคนอยากแสดงออก ไม่เชินอายเลย มีผู้หญิงหน้าตาสวยมากคนหนึ่งพูดว่า เรารู้แต่ว่า ทำชั่วเป็นบาป ทำดีเป็นบุญ แต่ไม่รู้เลยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าอย่างไร พวกเราก็อยากจะรู้ แต่ไม่มีใครสอนเรา ขอให้ท่านมาอีก เพื่อแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่พวกเรา พวกเราจะได้รู้ว่า คำสอนนั้นคืออะไร ฟังแล้วน่าเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ท่านเหล่านี้จริงๆ

หลังอาหารกลางวัน ไปกราบลาอาจารย์ เพราะท่านและคณะจะนั่งเครื่องไปกาฐมาณฑุ ค้าง 1 คืน และบินกลับโดยการบินไทยในวันรุ่งขึ้น ส่วนพวกเรา 7 คนจะอยู่เที่ยวต่อ เพราะไม่ได้เห็นอะไรในเนปาลเท่าไรเลย ไหนๆ ฟังธรรมก็ไม่ได้ฟังเท่าไร อยู่เที่ยวต่อแล้วกัน

จากโรงแรมหิมาลายันฟร้อนท์ที่ได้ข่าวว่า ราคาคืนละ 7,000 บาท พวกเราก็ติดต่อรถตู้จากโรงแรมไปส่งที่โฮมสเตย์ที่คุณฮั่งติดต่อไว้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ Serangkot คือทิวเขาชื่อ Serang โฮมสเตย์ชื่ออะไรก็ลืมไปแล้ว ในราคาคืนละ 300 บาท (เทวดาตกสวรรค์?) แต่ก็สะอาด น่าพัก มีร้านอาหารอยู่บนดาดฟ้าชั้น 3 ดูดีกว่าราคามาก หลังจากขนของเข้าห้องพักแล้ว ก็เดินไปขึ้น Annapura Cable car รถกระเช้าที่นำลงจากภูเขาไปทะเลสาบ ราคาคนละ 8 ดอลลาร์ ตอนแรกคิดด้วยความโง่เขลาว่า เคเบิลคาร์นี้จะนำไปสู่เทือกเขาอันนาปุระที่ลือชื่อ ถามเจ้าของโฮมสเตย์ เขาหัวเราะแล้วบอกว่า จะไปเทือกเขาอันนาปุระ ต้องใช้เวลาเดินไป 7 วัน ไม่มีรถไปด้วย คุณฮั่งเลยต้องมาอธิบายว่า เป็นเพียงชื่อของเคเบิลคาร์ ไม่ใช่เทือกเขา อ๋อ รู้แล้ว เหมือนชื่อภูเขาทอง ไม่ได้หมายความว่า ภูเขาเป็นทอง สภาพธรรมที่ยังไม่รู้ก็คงเป็นแบบนี้ เข้าใจไปต่างๆ นานา แต่ความจริงเป็นอย่างไรยังไม่รู้ จนกว่าจะรู้ประจักษ์แจ้งนั่นแหละ จึงจะรู้ได้

นั่งรถกระเช้าไปที่ราบริมทะเลสาบ ลงจากรถกระเช้าแล้ว คิดว่าถึงทะเลสาบ แต่ต้องเดินไปอีก 1 กม. เพื่อขึ้นรถบัสไปยังทะเลสาบ เลยเรียกแท๊กซีไปท่าเรือที่ทะเลสาบ เลือกเรือชมทะเลสาบมีหลายราคา เลือกแล้วลงนั่งเรือที่เป็นโป๊ะใช้เท้าถีบ ลมสงบมาก หลังคาโป๊ะเรือก็ขาด ตากแดดร้อน เห็นแต่น้ำ ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก เพราะเราไม่ได้เลือกให้จอดที่วัดฮินดูกลางทะเลสาป เลยบอกให้กลับท่าเรือ ขากลับลมพัดเย็นสบาย แต่ก็ให้กลับแล้ว จากนั้นน้องฮั่งที่ทำการบ้านมา บอกว่า อยากจะเดินตลาดในย่านเมืองเก่า จึงเรียกแท๊กซี 2 คันพาไป คนขับบอกว่า ตลาดนั้นเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ข้อมูลคงนานมาแล้ว แต่ฮั่งไม่ยอมแพ้ขอลงไปเดินดู คนอายุ 70 กว่า 3 คนเลยขอกลับโฮมสเตย์ก่อน เราเลยกลับไปทานข้าวเย็นบนดาดฟ้า ได้เห็นพระอาทิตย์ตกเหนืออันนาปุระและมัจฉาปูชเร สมใจ นั่งทานโมโม่ อาหารขึ้นชื่อของเนปาล กับมาซาร่าโยเกิรต บนทิวเขาสูงเซรังก๊อกท่ามกลางลมพัดเย็นสบาย คอยรู้สึกเหมือนอยู่เนปาลหน่อย

เจ้าของบ้านแนะนำว่า ควรเดินขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขาที่อยู่ใกล้ๆ ตอนตีห้า เราขอยอมแพ้ ไม่ดูแล้วพระอาทิตย์ขึ้น ที่ไหนๆ ก็อาทิตย์ดวงเดียวกัน ปล่อยเด็กๆ แข็งแรงไปปีนเขาตามสบาย ตื่นขึ้นมาไปรับประทานเข้าแบบพื้นเมืองที่ดาดฟ้า แล้วเดินไปตามคำแนะนำของเจ้าถิ่นว่า ใกล้ๆ นี้มีทิวทัศน์สวยงาม จึงเดินไปปีนเขาเตี้ย ได้เห็นอันนาปุระและมัจฉาปุชเรชัดเจน เพราะวันนี้อากาศเปิด ไม่มีหมอกและควันเหมือนวันก่อนๆ แล้วเดินลงมาแวะร้านขายของพื้นเมือง ได้ซื้อผ้าแคชเมียร์มาหลายผืน เพราะราคาถูกมาก เดินต่อไปถึงโรงแรมที่มองเห็นว่า อยู่สูงกว่าโรงแรมหิมาลัยพร้อนท์ที่เดิมเราจะไปพัก แต่ห้องไม่พอ เห็นความสูงแล้วขึ้นไม่ไหว คนอายุเกิน 70 จึงแวะจิบกาแฟที่โรงแรมที่ทำเป็นปราสาทข้างทาง คอยพวกวัยรุ่นไปสำรวจ ดีเหมือนกันที่มีคนหลายวัย ทำอะไรตามวัย ไม่เป็นตัวถ่วงความสนุกของใคร

หลังจากทานอาหารกลางวันแล้ว ก็เดินกลับที่พัก การเดินทางไปไหนๆ สะดวกมาก เพราะที่พักแต่ละแห่งจะถามว่า ต้องการรถเช่าไหม ทุกแห่งมีรถให้บริการ คงคิดค่าหน้านาย ส่วนเราขณะที่ไปจิบกาแฟ ก็มีคนมาเสนอรถเช่าพาไปเที่ยวรอบๆ ก่อนไปสนามบิน เราจึงแวะไปเที่ยวน้ำตกเทวีที่อยู่กลางตลาด มีน้ำไหลน้อยๆ แต่ก็มีคนเนปาลไปเที่ยวกันเยอะ จินตนาการไปว่า หน้าฝนคงจะสวย สายการบิน Shree ส่งข่าวมาบอกว่า จะดีเลย์จาก 14.20 เป็น 16.20 ความจริงเด็กๆ อยากจะไปเที่ยวถ้ำที่อยู่ใกล้ๆ กัน แต่กลัวว่าใกล้เวลาเครื่องบินออกแล้ว จึงรีบไปสนามบินโพคาราที่สวยงามใหญ่โตมาก ใหญ่กว่าตรีภูวันที่กาฏมัณฑุอีก เช็คอินแล้วก็รีบไปคอยข้างใน พอเวลาผ่านไป ป้ายสายการบิน Shree ก็ขึ้นประกาศเลื่อนเวลาไปเรื่อยๆ จนผ่านไปเกิอบ 3 ทุ่ม มีคนเนปาลไปโวยวายที่เคาเตอร์หลายคน รวมทั้งคนไทยด้วย สักครู่ป้ายที่บอกเวลาก็ดับ เจ้าหน้าที่ก็เดินหายไป แล้วกลับมาอีกทีตอน 4 ทุ่มกว่า เมื่อผู้โดยสารสายการบินอื่นๆ ไปกันหมดแล้ว เหลือแต่สายการบิน Shree พยายามคิดว่า คนอื่นๆ เขาลำบากกว่าเราอีก มีผู้หญิงลูกอ่อน อุ้มลูกไว้กับอก ผู้หญิงท้อง คนแก่กว่าเรา แต่คิดอย่างไรก็ยังโกรธ เลยนึกถึงพระสูตรหนึ่งที่กล่าวถึง พระภิกษุ 7 รูปที่เข้าไปปฏิบัติสมณธรรมในถ้ำ แล้วหินกลิ้งปิดปากถ้ำ ออกมาไม่ได้ 7 วัน วันที่ 7 หินก็กลิ้งออกไปเอง เมื่อมีผู้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงบุพกรรมของภิกษุทั้ง 7 รูปว่า เคยจับเหี้ยไปขังไว้ในจอมปลวก เอาหญ้าอุดรูไว้ คิดว่า เดี๋ยวตอนเย็นจะมาเอาหญ้าออก แล้วก็พากันลืม อีก 7 วัน ผ่านไปที่เก่านึกขึ้นได้ จึงเอาหญ้าออก เหี้ยก็คลานออกมาอย่างอ่อนแรง แต่ไม่ตาย ด้วยเหตุนั้นในชาตินี้จึงถูกขังไว้ในถ้ำ พอหมดกรรม หินก็กลิ้งออกไปเอง พวกเรา 7 คนก็คงทำอกุศลกรรมไว้เหมือนๆ กัน จึงได้รับผลเหมือนกัน คงนัดเวลากับใครแล้วก็เลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มาบอกเหตุผลที่เลื่อน ให้คอยไปเรื่อยๆ และในที่สุดก็เห็นเครื่องบินลำสุดท้ายมาจอดที่รันเวย์ เจ้าหน้าที่รีบให้เราขึ้นไปทันที เมื่อขึ้นไปพนักงานต้อนรับก็ยิ้มต้อนรับอย่างเป็นมิตร มีทอฟฟี่และน้ำแจก แต่เรางอน ไม่อยากกินของแก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของพนักงานเหล่านี้เลย ดูซิความโกรธช่างทำกิจได้อย่างน่าเกลียดมาก

มาถึงกาฐมาณฑุตอนหกทุ่มกว่า โทรเลื่อนนัดกับรถตู้ที่มาจากโรงแรมวนสุทธิ์หลายรอบ รถตู้มารับไปส่งที่โฮมสเตย์อีกแห่งที่อยู่นอกเมืองประมาณ 45 นาที เพราะคิดว่า ควรดูบรรยากาศธรรมชาติบ้าง ไม่รู้ล่วงหน้าว่า จะดึกขนาดนี้ จึงต้องทรมานกว่าจะถึงจุดหมายเกือบตีหนึ่ง โฮมสเตย์คือ Organic Homestay อยู่ที่นาการ์ก๊อต ทิวเขานาการ์ ที่เป็นที่ท่องเที่ยวของชาวกาฎมัณฑุ มีสะพานแขวนผ่านหุบเขา มีกีฬาผาดโผน มีน้ำตก และป่าสนสวยงามมาก เรานอนหลับสลบไสล ตื่นขึ้นมาเกือบ 9 โมง พวกเด็กๆ ไปเที่ยวสะพานแขวนกันแล้ว คนใกล้ตัวมีอาการไม่สบาย ตัวร้อน ขอนอนพัก ส่วนเรากับคนวัยเดียวกัน ไปเดินสะพานแขวน ชื่นชมกับป่าสนที่งดงาม อากาศสดสะอาด แล้วกลับมาทานอาหารกลางวันจากพืชผักที่เจ้าของปลูกเองแบบออแกนนิคส์ เราเหมารถตู้ตั้งแต่เมื่อวานเพื่อพามาพักที่นี่ แล้วพาไปเที่ยวในกาฐมาณฑุ แวะชมจัตุรัสเดอร์บา ที่มีพระราชวังของกษัตริย์เนปาล มีการแสดงเต้นรำพื้นเมือง มีสินค้าต่างๆ มากมาย เดินชมจนเมื่อย แล้วไปส่งที่โรงแรมวนสุทธิ์ ที่เราจะนอนฟรี เพราะจองไว้ก่อนแล้ว พร้อมกับเพิ่มห้องเดี่ยวอีก 1 ห้อง ได้แวะไปกราบท่านภันเตที่พักอยู่โรงแรมเดียวกัน ท่านบอกว่าไม่ค่อยสบาย เป็นไข้ แต่กินยานอนพักแล้วอาการดีขึ้น ท่านบอกว่า พวกเราไม่ต้องจ่ายค่าโรงแรม ให้เราเอาเงินให้ท่านจ่าย มีโลฮานหลานของท่านเป็นไวยาวัจกร เป็นคนถือเงิน เพราะราคาคนไทยจะแพงกว่า ค่าห้องที่เราควรจ่ายเพิ่ม 3,800 บาท จึงเหลือเพียง 1,600 บาท ท่านภันเตมาคอยดูแลคุณกิมรสที่ถูกยึดทองรูปพรรณหนัก 10 กว่าบาทที่นำติดตัวจากกัมพูชาไปเนปาลด้วย เพราะไม่มีคนอยู่บ้านกลัวหาย แวะไปทักทายคุณกิมรสที่เดินทางพร้อมท่านอาจารย์เมื่อวันก่อน แต่ไม่สามารถหาตั๋วกลับประเทศไทยได้ จึงรอกลับพร้อมคณะ 7 คน แต่คุณกิมรสก็ไม่ได้รับผลของอกุศลอย่างพวกเรา แน่นอนว่า เพราะไม่ได้ทำมา

วันสุดท้ายในเนปาล นัดกันว่า จะไปเที่ยวโพธินาถสถูป ที่อยู่ใกล้โรงแรมประมาณ 500 เมตร ตั้งใจจะไปให้ถึงก่อน 8 โมงเช้า เพราะไม่ต้องเสียค่าเข้า แต่ไปถึงก่อนเวลาก็ต้องเสียอยู่ดี เพราะจำเวลาผิด ต้องไปก่อน 7 โมงเช้า จำไม่ได้ว่าเท่าไร มองจากถนนดูจะไม่ใหญ่โตเท่าไร แต่จากทางเข้าได้เห็นพระสถูปทรงกลมทาสีขาว มีรูปดวงตาที่เป็นสัญลักษณ์ของเนปาล เป็นของพุทธนิกายธิเบต ทราบว่าเป็นสถูปรูปทรงกลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีวัดพุทธธิเบตใหญ่โตอยู่ข้างใน เดินชมจนรอบพระสถูปที่ใช้เวลาไม่นาน ก็กลับไปโรงแรมเตรียมตัวเดินทางไปสนามบินตรีภูวัน ส่วนคุณฮั่ง คุณฮา ไปเที่ยววัดลิงที่ต้องขึ้นภูเขาสูงเพื่อไปชมทิวทัศน์ของเมืองกาฏมัณฑุยามเช้า คุณฮั่งผู้ทำบัญชีค่าใช้จ่ายสรุปว่า ที่เราอยู่ต่ออีก 2 วัน มีค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 100 ดอลลาร์

ที่สนามบินภันเตต้องเดินทางไปด้วย มีลูกศิษย์ที่ทำงานที่สนามบินมาคอยบริการ คนที่ติดตามท่านไปด้วยเล่าให้ฟังว่า เมื่อไปที่ ตม. เพื่อติดต่อรับทองของคุณกิมรสคืน เจ้าหน้าที่นำมาคืนเฉพาะสร้อยข้อมือ ท่านจึงนำรูปถ่ายและหลักฐานมาให้ดู จึงทยอยออกมาให้จนครบ ความโลภอยากได้ของคนอื่นทำกิจอย่างนี้เหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน โลภะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดกับใครก็ทำกิจอย่างเดียวกัน ไม่เลือกชาติภาษา ถ้ามีมากก็ทำทุจริต จึงต้องสำรวมระวังเมื่อเกิดขึ้นก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ ไม่ใช่เรา

ก่อนขึ้นเครื่อง ต้องผ่านเครื่องตรวจสัมภาระ คุณนิภาผู้ใจบุญ ลากกระเป๋าสีเขียวอ่อนใบสวยใส่ยาสมุนไพรต่างๆ เพื่อแจกจ่ายเมื่อมีคนต้องการ พร้อมกับไอแพด เจ้าหน้าที่ให้นำไอแพดออกใส่ถาด ผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ พอขึ้นรถบัสเพื่อไปขึ้นเครื่อง คุณนิรู้สึกว่า ทำไมกระเป๋าเบามาก นึกขึ้นได้ว่า ไม่ได้หยิบไอแพดในถาดออกมา จึงรีบลงไปติดต่อเจ้าหน้าที่ พบว่าไอแพดไม่ได้ไหลออกมาตามกระเป๋า ยังอยู่ที่เดิม โชคดีนะที่ไหวตัวทัน ไม่อย่างนั้นต้องสูญเสียไอแพดพร้อมทั้งข้อมูลที่มีค่าทั้งหมด ที่เล่ามาเพื่อให้ระวังทรัพย์สินของตนเอง เพราะโลภะทำกิจอยู่ทุกที่ ทุกแห่ง ถ้าไม่ให้โอกาส โลภะก็แค่ทำกิจอยู่ตรงนั้น ไม่ทำให้ต้องเดือดร้อนสูญเสียทรัพย์สิน

การบินไทยก็ดีเลย์เหมือนกัน แต่ไม่ร้ายแรงเท่าเครื่องบินภายในประเทศของเนปาล Shree คงจำชื่อนี้ไปอีกนานกว่าจะลืม ในที่สุดก็กลับมาถึงมหาอำนาจไทยพร้อมกับเชื้อโควิดที่ติดตามมาด้วย ต้องนอนพักเกือบ 10 วัน กว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องเนปาลครั้งที่ 1 ได้ ขาดตกบกพร่องมากมาย ขออภัยในความหลงลืมด้วยค่ะ

กราบเท้าอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์ที่มีความตั้งใจเผยแพร่ความเห็นถูกแก่ผู้สนใจ ไม่เลือกชาติศาสนา โดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย กราบอนุโมทนาท่านภันเตสุมังคโล ผู้ทำให้เกิดทริปนี้ขึ้น และที่สำคัญที่สุดเป็นผู้แปลพระธรรมคำสอนจากภาษาไทยเป็นภาษาเนปาลี ผู้ร่วมจัดทริป ผู้ร่วมบริจาคสร้างห้องน้ำ ทีมแพทย์และอาสาสมัครทุกท่าน พร้อมทั้งกุศลจิตของผู้ร่วมเดินทางทุกท่านที่ทำให้การเผยแพร่พระธรรมครั้งนี้เป็นไปด้วยดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 2 พ.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลของพี่แดง ที่เขียนบันทึกนี้ได้ทั้งสารธรรมและการท่องเที่ยวประหนึ่งได้ติดตามไปด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kanchana.c
วันที่ 2 พ.ค. 2567

ท่านภันเตเกิด 28 มกราคม ปี 1982 ค่ะ น่าจะ 42 ปี ค่ะ อาจารย์
จริงๆ คนแรกที่สนทนาธรรมกับ ทอจ คือโซฮาน หลานของท่านภันเต ค่ะในเช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ท่านภันเตให้หลานคือโซฮานมาดูแลในการพา แป๋ว คุณแขก คุณซ้งเข้าไปสักการะสถานที่ประสูติเพื่อจะได้รีบกลับมานำท่านภันเต พบกับท่านอาจารย์ในช่วงเช้าท่านภันเตได้ตั้งใจมาทักทายท่านอาจารย์ในฐานะเจ้าบ้านแต่พวกเราเห็นว่าโซฮานสนใจธรรมะแต่นั่งสมาธิเลยอยากให้ได้มีโอกาสสนทนากับท่านอาจารย์แม้คำเดียวก็เป็นประโยชน์ การสนทนาครั้งแรกโซฮาลถามเรื่องสมาธิซึ่งก็ทำให้เขาเข้าใจและบอกว่าจะไม่ทำสมาธิอีก ท่านภันเตก็ถามท่านอาจารย์ว่าพระอรหันต์ยังรับกรรมไหม ท่านอาจารย์ยังไม่ตอบในตอนนั้นบอกว่าช่วงบ่ายค่อยสนทนาต่อ พอช่วงบ่าย ท่านภันเตจึงกล่าวเชิญท่านอาจารย์ว่าโอกาสหน้าให้ท่านอาจารย์มาสนทนาธรรมที่วัดภันเต จะเป็นประโยชน์มาก ท่านอาจารย์มีความยินดีมากที่มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่เนปาลค่ะ
คร่าวๆ ประมาณนี้ค่ะและโซฮาลกับน้องๆ ก็จึงได้เดินทางมาไทยมาศึกษาธรรมพร้อมกับคณะที่ไปเผยแพร่พระธรรมที่เนปาลในครั้งนี้ด้วย

ข้อมูลที่ถูกต้องจากคุณแป๋ว วสุธิดา ไชยสำแดงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
narongdej.kamolpirom
วันที่ 2 พ.ค. 2567

ขออนุโมทนาสาธุในกุศลจิตที่ดีงามครับ ขอกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kulwilai
วันที่ 2 พ.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์

กราบขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลจิตพี่แดงกาญจนาที่ได้ถ่ายทอดการเดินทางครั้งนี้ ทั้งยินดีในกุศลจิตชาวเนปาลที่ใส่ใจ สนใจในพระธรรมและผู้ร่วมเดินทางกับท่านอาจารย์ทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Selaruck
วันที่ 3 พ.ค. 2567

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตทุกประการของพี่แดงที่เคารพค่ะ ที่เล่าการเดินทางได้อย่างเห็นภาพความเป็นไปของการไปเผยแพร่พระธรรมของท่านอาจารย์ในครั้งนี้

สิ่งที่เราได้ประจักษ์ด้วยความซาบซึ้งสูงสุดในการได้ร่วมเดินทางครั้งนี้คือ บารมีทั้งสิบของท่านอาจารย์ ทั้งต่อสาธารณะชน ตั้งต่อแต่ละบุคคล ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ มีแต่ธรรมะที่ดีงาม งดงาม ที่ท่าน "ให้" เราได้คิดได้พิจารณาไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลา ท่านทำงานเผยแพร่พระธรรมอยู่แทบทุกลมหายใจ ไม่ว่ากับใครมาจากใหน พุทธ ฮินดู หรืออิสลาม ที่เขามาเงี่ยหูฟัง ท่านพร้อมที่ถ่ายทอดพระธรรมคำจริงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เขาได้ยินได้ฟังด้วยความเมตตาวิริยะขันติทุกประการ เพราะคำจริง คือคำจริง

ทุกคำของท่านมีแต่คำที่ชโลมจิตใจให้ชุ่มชื่น มีแต่คำที่ดึงเราจูงเราสู่ที่สูง ท่านทำงานหนักมาก แต่ท่าน "เบา" เหลือเกิน เพราะท่านบอกว่า "ก็ไม่มีอะไรนี่คะ ไม่มีเรา ไม่มีจริงๆ ค่ะ"

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ที่เคารพสูงยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 3 พ.ค. 2567

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prinwut
วันที่ 3 พ.ค. 2567

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาพี่แดงในกุศลทุกประการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kanchana.c
วันที่ 3 พ.ค. 2567

ขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม ที่กรุณาใส่ภาพประกอบเรื่องอย่างเคย คราวนี้ยากมาก เพราะน้องวันชัยไม่ได้ไปด้วย แถมพี่ยังไม่เคยส่งรูปไปให้ด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ค. 2567

กราบนมัสการท่านภันเต สุมังคโล
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณและยินดีอย่างยิ่งในกุศลวิริยะของอาจารย์กาญจนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 3 พ.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
namarupa
วันที่ 3 พ.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูง

กราบนมัสการท่านภันเต สุมังคโล
ขอบพระคุณและยินดีอย่างยิ่งในกุศลวิริยะของพี่แดง กาญจนา

และกราบอนุโมทนาทีมงานทุกท่านที่ได้จัดทริปมหากุศลครั้งนี้ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 4 พ.ค. 2567

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศลของพี่แดง ที่รักและคารพค่ะ ทันทีที่สุขภาพดีขึ้น พี่แดงก็ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นทันที เป็นบันทึกความทรงจำที่มีคุณค่า ชวนในการติดตาม และชื่นชมยินดีในกิจกรรมเผยแพร่พระสัทธรรม ด้วยคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีคุณค่ามหาศาลให้ผู้อยู่แดนไกลได้ยิน ได้ฟัง ครั้งต่อๆ ไป ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
siraya
วันที่ 4 พ.ค. 2567

กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของพี่แดงค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ