ชรา หมายถึงอะไร? [วิภังค์]

 
wittawat
วันที่  13 พ.ค. 2567
หมายเลข  47742
อ่าน  217

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชรา หมายถึงอะไร?

วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 281

๔. สัจจวิภังค์
สุตตันตภาชนีย์
[๑๔๗] ชรา เป็นไฉน?

ความคร่ำคร่า ภาวะที่ครำคร่า ความที่ฟันหลุด ความที่ผมหงอก ความที่หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมสิ้นแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่าชรา.


สรุป นิเทศชรา หน้า 326 เป็นต้นไป:
ความเป็นปกติของชราแสดงดังต่อไปนี้
- ชรา คือ ความคร่ำคร่า
- ภาวะที่คร่ำคร่า (ชีรณตา) เป็น การแสดงความคร่ำคร่าโดยอาการ (โดยกิจ) ได้แก่ การทำให้เกิด ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว เป็นต้น
- ชราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตา
เช่น หญ้าหรือต้นไม้ในป่าที่ถูกทำลายด้วยน้ำ หรือลม หรือไฟ ซากที่ถูกทำลายย่อมปรากฏว่าถูกทำลายด้วยวิธีใด แต่น้ำ หรือลม หรือไฟ (ที่เป็นตัวทำลายป่านั้นๆ) ไม่ปรากฏ ชราก็เช่นเดียวกัน อาการที่ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวบ้าง ย่อมปรากฏทางตาได้ แต่ชราไม่ใช่สิ่งที่รู้ได้ด้วยตา
- ชรา หมายถึง ความเสื่อมสิ้นแห่งอายุ เพราะอายุของผู้ถึงชราแล้วย่อมเสื่อม
- ชรา หมายถึง ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ เมื่อเป็นหนุ่มอินทรีย์ เช่น ตา เป็นต้น ย่อมรับวิสัยของตน เช่น สี เป็นต้น แม้ละเอียดได้ เมื่อถึงชราแล้ว ไม่สามารถรับวิสัย แม้หยาบได้
- ชรา ๒ ประเภท ได้แก่ ปากฏชรา ปฏิจฉันชรา
-> ปากฏชรา หมายถึง ชราที่ปรากฏ ได้แก่ ชราในรูปธรรม สามารถที่จะปรากฏได้ด้วย อาการฟันหัก เป็นต้น
-> ปฏิจฉันนชรา หมายถึง ชราที่ปกปิด ได้แก่ ชราในนามธรรม รู้ได้ยาก เพราะนามธรรมไม่ปรากฏความวิการ หรือความต่างกันโดยอาการแก่ เช่นเดียวกับรูปธรรม
- ชราอีก ๒ ประเภท ได้แก่ อวีจิชรา สวีจิชรา
-> อวีจิชรา คือ ชราไม่มีร่องร่อย เพราะความต่างแห่งสีเป็นของรู้ได้ยาก ท่านยกตัวอย่าง ดังนี้ ได้แก่ แก้วมณี ทอง เงิน แก้วประพาฬ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สัตว์พวกมันททสกะมีชีวิตช่วงอายุต้น (๑-๑๐ปี) ดอกไม้ผลไม้ใบอ่อน เป็นต้น
-> สวีจิชรา คือ ชรามีร่องร่อย เพราะความต่างแห่งสีเป็นของรู้ได้ง่าย ท่านยกตัวอย่าง ดังนี้ ได้แก่ ฟันน้ำนมหลุดไป ฟันแท้เกิดขึ้น ฟันแท้สีขาว ดำขึ้นเมื่อถูกลมคือชรากระทบ ผมขึ้นครั้งแรกเกิดเป็นสีแดง เปลี่ยนเป็นดำบ้าง ขาวบ้างเมื่อชรากระทบ ผิวแรกเกิดมีสีแดง เมื่อโตขึ้นคนที่ผิวขาวสีผิวจะขาว คนผิวดำสีผิวจะดำ เมื่อชรากระทบก็ผิวย่น ต้นข้าวงอกใหม่ๆ เป็นสีขาว จากนั้นเปลี่ยนเป็นเขียว เมื่อลมชรากระทบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แม้ผลมะม่วงก็เหมือนกัน เป็นต้น


ก็ชรานี้นั้น

ขนฺธปริปากลกฺขณา มีความแก่ของขันธ์เป็นลักษณะ

มรณูปนยนรสา มีการนำเข้าไปหาความตายเป็นกิจ

โยพฺพนวินาสปจฺจุปฏฺฐานา มีความพินาศแห่งวัยหนุ่มสาวเป็นปัจจุปัฏฐาน.


กราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ