วิรัติ หมายถึงอะไร? [ธรรมสังคณี]

 
wittawat
วันที่  15 พ.ค. 2567
หมายเลข  47745
อ่าน  368

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิรัติ หมายถึง อะไร?

ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 299
ธรรมที่ชื่อว่า วิรัติ (วิรติ) เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ด้วยธรรมนี้ หรือว่าเป็นตัวงดเว้น หรือว่า ธรรมนี้เป็นเพียงการงดเว้นเท่านั้น ...


วิรัติ (การงดเว้น) นั้น มี ๓ ประเภท คือ สัมปัตตวิรัติ สมาทานวิรัติ สมุจเฉทวิรัติ ...
- วิรัตเมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ได้สมาทานสิกขาบททั้งหลาย ซึ่งพิจารณาถึงความเกิด (ชาติ) ความเสื่อม (วย) และพาหุสัจจะเป็นต้นของตนแล้ว ไม่ก้าวล่วงวัตถุที่ถึงพร้อมด้วยคิดว่า การกระทําเห็นปานนี้ไม่สมควรแก่พวกเราดังนี้ พึงทราบว่าเป็น สัมปัตตวิรัติ ... (เช่น มีผู้ที่คิดจะจับกระต่ายเพื่อปรุงยาให้แม่ตามที่หมอบอก ตามไปจับได้ คิดจะปรุงยาให้แม่ แต่คิดขึ้นได้ว่า ฆ่าสัตว์อื่นเพื่อชีวิตแม่ นี้ไม่สมควรแก่เรา จึงได้ปล่อย เป็นต้น)
- วิรัติเมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้สมาทานสิกขาบท (ถือศีลเป็นข้อประพฤติปฏิบัติไม่ก้าวล่วง) ทั้งหลาย ในเวลาสมาทานสิกขาบทนั่นแหละ และในกาลต่อไปถึงสละชีวิตของคนก็ไม่ก้าวล่วงวัตถุพึงทราบว่า เป็น สมาทานวิรัติ ... (เช่น มีผู้ที่ถูกงูใหญ่รัดแล้วคิดจะฆ่างูด้วยมีด แล้วคิดอีกว่าไม่สมควรเลยเพราะรับสิกขาบทมาแล้ว จึงคิดจะสละชีวิต ไม่สละสิกขาบท เป็นต้น)
- วิรัติ ที่สัมปยุตด้วยอริยมรรค พึงทราบว่าเป็น สมุจเฉทวิรัติ จําเดิมแต่สมุจเฉทวิรัติเกิดขึ้นแล้ว แม้จิตของพระอริยบุคคลทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้นว่าเราจักฆ่าสัตว์ ดังนี้.

วิรัติ อีก ๓ ประเภท (ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า 349,351) คือ กายทุจริตวิรัติวจีทุจริตวิรัติมิจฉาชีววิรัติ
- การงดเว้นจากกายทุจริต ชื่อว่า กายทุจริตวิรัติ ... วิรัติ ๒ ที่เหลือก็นัยนี้แหละ.


อารมณ์ของวิรัติ (ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 88)
- ๒ วิรัติแรก กระทําวัตถุมีชีวิตินทรีย์ เป็นต้น ที่จะพึงละเมิด ด้วยอํานาจการปลงลงเป็นต้น ให้เป็นอารมณ์เป็นไป วิรัติหลังมีนิพพานเป็นอารมณ์. (ซึ่งวิรัติ ๓ นั้น ในทีฆนิกาย ท่านแสดงว่า ได้แก่ สัมปัตตวิรัติ, สมาทานวิรัติ, เสตุฆาตวิรัติ.)
วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 507
- ปาณาติบาต มีชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์. อทินนาทาน มีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. มิจฉาจาร (การประพฤติผิด) มีหญิงและชายเป็นอารมณ์. มุสาวาท มีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. การดื่มสุรา มีสังขารเป็นอารมณ์.


วิรตีเป็นสิกขาบทโดยตรง (วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 506)
การงดเว้นอย่างเดียวเท่านั้น เป็นสิกขาบทก็หาไม่ แม้เจตนาก็ชื่อว่า เป็นสิกขาบทเหมือนกัน ... ธรรมทั้งสอง (วิรัติ เจตนา) เหล่านั้น เป็นสิกขาบทเท่านั้นก็หาไม่ แม้ธรรมอื่นอีก ๕๐ อันสัมปยุตด้วยเจตนา ก็เป็นสิกขาบทด้วย เพราะเป็นส่วนแห่งธรรมอันกุลบุตรพึงศึกษา ... สิกขาบทมี ๒ อย่าง คือ ปริยายสิกขาบท (สิกขาบทโดยอ้อม) นิปปริยายสิกขาบท (สิกขาบทโดยตรง) . ในสองอย่างนั้น วิรตี (การงดเว้น) เป็นสิกขาบทโดยตรง จริงอยู่ วิรตี นั้นมาในพระบาลีว่า ปาณาติปาตา เวรมณี ดังนี้ มิใช่เจตนา. ด้วยว่า บุคคลเมื่องดเว้น ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตนั้นๆ ด้วยวิรตีนั้นนั่นแหละ มิใช่ด้วยเจตนา. แต่ท่านก็นำเจตนา ... (และ) ... สัมปยุตตธรรมของเจตนาที่เหลือมาแสดงไว้อีก. จริงอยู่ใน กาลก้าวล่วงเจตนาอันเป็นบาป ชื่อว่า ความเป็นผู้ทุศีล. ฉะนั้น แม้ในเวลาแห่งวิรัติ ... จึงตรัส เจตนา นั้น ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้มีศีลดี. ธรรมทั้งหลาย ๕๐ มีผัสสะเป็นต้น ... ก็ทรงถือเอาแล้ว เพราะเป็นธรรมที่สัมปยุตด้วยเวรมณี ดังนี้.


เวรมณี หมายถึงอะไร?
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 25
ชื่อว่า เวรมณี เพราะเว้นเวร อธิบายว่า ละบรรเทาเวร คือทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี. อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมเว้นจากเวร ด้วยเจตนาตัวกระทำนั้น เหตุนั้น เจตนานั้นจึงชื่อว่า เวรมณี เพราะเอาวิอักษรเป็น เวอักษร. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ในคำนี้ พุทธบริษัทจึงสวดกันเป็น ๒ อย่างว่า เวรมณีสิกขาปทํ วิรมณีสิกขาปทํ.ชื่อว่า สิกขา เพราะอันบุคคลพึงศึกษา. ชื่อว่า บท เพราะเป็นเครื่องถึงบทแห่งสิกขา, บทแห่งสิกขา ชื่อว่า สิกขาบท อธิบายว่าอุบายเป็นเครื่องถึงสิกขา. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า เป็นมูล เป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้ง. สิกขาบทคือเจตนาเครื่องงดเว้น ชื่อว่า เวรมณีสิกขาบท หรือ วิรมณีสิกขาบท ตามนัยที่สอง.


ลักษณะของวิรัติ (ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า 351)
ก็วิรัติแม้ทั้ง ๓ (กายทุจริตวิรัติ ๑ วจีทุจริตวิรัติ ๑ มิจฉาชีววิรัติ ๑) เหล่านั้นโดยลักษณะเป็นต้น
- มีการไม่ก้าวล่วงวัตถุมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ อธิบายว่า มีการไม่ย่ํายีสัตว์เป็นลักษณะ
- มีการเบือนหน้าจากวัตถุมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นรส
- มีการไม่ทํากายทุจริตเป็นต้นเป็นปัจจุปัฏฐาน
- มีคุณคือศรัทธา หิริ โอตตัปปะ และความปรารถนาน้อยเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน
พึงเห็นวิรัติ ๓ นั้นเป็นจิตที่เฉยต่อการทําบาป.


โดยสรุป
วิรัติ เป็นธรรม เป็นนามธรรม เป็นเจตสิกธรรม หมายถึง การงดเว้นไม่ประพฤติทุจริต เป็นสิกขาบทโดยตรง มาจากคำว่า เวรมณี เกิดร่วมกับกายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ เมื่อเกิดขึ้นจะทำหน้าที่งดเว้นการฆ่าเป็นต้น ไม่ว่าผู้นั้นจะรับสิกขาบทมาก่อนหรือไม่ก็ตาม และถ้าผู้นั้นอบรมเจริญปัญญาและประจักษ์แจ้งมีนิพพาน เป็นอารมณ์ จิตของผู้นั้นก็จะไม่เกิดขึ้นเป็นไปใน การฆ่า เป็นต้นอีก ซึ่งจะดับทุจริตประเภทใดได้ ก็แล้วแต่ระดับของการประจักษ์แจ้งนั้นๆ

กราบอนุโมทนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ