ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๖๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๖๕
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตราบใดที่ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน ที่จะพ้นทุกข์เป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้ารู้ตามความจริงว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่เที่ยง เกิดมาแล้วไม่มีสักขณะจิตเดียวที่เที่ยง ถ้ารู้ความจริงและประจักษ์อย่างนี้จริงๆ ไม่มีการยึดมั่นว่าเป็นเรา ความทุกข์ก็จะน้อยลง
~ ผู้ที่ศึกษาพระธรรม ก็รู้ว่าถ้าเป็นชาวพุทธ เคารพในพระศาสดา ก็ต้องศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ไม่ใช่คิดเอง ไม่ใช่กล่าวเอง แล้วอ้างว่านี่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ต้องศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
~ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยการพิจารณาอย่างแยบคาย ก็ย่อมเห็นคุณของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรม ซึ่งจะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยการละอกุศลและเจริญกุศลยิ่งขึ้น และย่อมจะเป็นไปทั้งในชาตินี้และต่อๆ ไปในชาติหน้าด้วย ถ้าเริ่มเจริญกุศลตั้งแต่ในชาตินี้
~ ไม่มีเรา แต่มีธรรม ทุกอย่างที่มี เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่ละหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย นี่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน ก็เป็นความเห็นผิด แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริง ความเข้าใจนั้น มาจากไหน? มาจากการฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ไม่มีสักขณะเดียวที่ไม่ใช่ธรรมหรือว่าพ้นจากธรรม กว่าจะถึงความเข้าใจธรรม ก็จะต้องเป็นผู้ที่อดทน เป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่มั่นคง ว่า ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังคำเหล่านี้ ไม่มีวันในสังสารวัฏฏ์ที่จะรู้ความจริงได้ ว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรม
~ การสะสมแต่ละขณะนั้นมีผล ถ้าเริ่มขณะที่จะเจริญทางฝ่ายกุศล แม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย ในภายหลังจะไม่เป็นผู้ที่เกียจคร้านเลย ในการที่จะเป็นผู้ที่เจริญกุศล
~ ถ้าเข้าใจผิด ไม่รู้ความจริง ไม่มีทางที่จะละคลายกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้กระทำชั่วได้เลย ความชั่ว ทุจริตทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะลดน้อยลงไปได้หรือดับหมดไปได้ ถ้าไม่ได้เข้าใจความจริงว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ
~ มิตรคือเพื่อน เพื่อนที่หวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล เป็นประโยชน์ ไม่คิดร้าย ไม่หวังร้าย ไม่ริษยา ไม่ทำร้ายเลยทั้งสิ้น นั่นคือเพื่อน เพื่อนที่ดี คือ กัลยาณมิตร (มิตรที่ดีงาม) ใครก็ตามที่เป็นเพื่อนที่ดีของใคร ก็คือ หวังดี หวังประโยชน์เกื้อกูล เมื่อเขาเข้าใจผิด ก็ให้เขาเข้าใจถูก เขาไม่เข้าใจธรรม ก็สามารถที่จะอนุเคราะห์ให้เขาเข้าใจ นั่นก็เป็นเพื่อนที่หวังดีกับผู้นั้น
~ เมตตาเมื่อเกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนเลย แต่ตรงกันข้ามทำให้เกิดความสบายใจ เพราะไม่ดูหมิ่น ไม่รังเกียจคนอื่น มีความเป็นเพื่อน มีความเป็นมิตร พร้อมที่จะอุปการะเกื้อกูลอย่างจริงใจ
~ ทำไมไม่ทำสิ่งที่ถูก กลัวอะไร? ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเลย เพราะเหตุว่าสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรทำ คำจริงก็เป็นคำที่ควรพูด ผิดตรงไหน ได้ประโยชน์หรือเปล่า ถ้าได้ประโยชน์ก็ช่วยกันพูดคำจริง
~ กิเลสมีมาก ไม่ใช่เพียงแค่ในชาตินี้ ชาติที่ผ่านๆ มาสะสมมามากเท่าไหร่แล้ว และยังจะมากต่อไปอีก ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว
~ คนที่ไม่เข้าใจธรรม มีมาก และคนที่เข้าใจธรรมผิด ก็มีมาก หนทางเดียวที่เป็นผู้ที่หวังดีต่อคนที่ไม่เข้าใจธรรมหรือเข้าใจธรรมผิด ก็คือ มีความเป็นมิตรที่จะให้สิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ได้ศึกษาแล้ว ถูกต้อง ก็ควรที่จะให้คนอื่นได้รับฟังด้วย
~ เป็นประโยชน์ไหม ถ้าใครผิดแล้วเราบอกเขาให้รู้ว่าเขาผิด? แล้วทำไมเราไม่ทำ ทำไมเราไม่กล้า เรากลัวเขาไม่รักเราอย่างนั้นหรือ? แล้วเราจะมีประโยชน์อะไรต่อเขา เพราะฉะนั้น ใครที่ชี้โทษถ้าเป็นโทษจริงๆ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ทุกคนควรรู้ด้วย
*** ~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสละอะไรที่เสด็จออกจากพระราชวัง? เพื่อใคร? แล้วภิกษุคือใคร? ถ้าไม่ใช่บุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ขอประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ไม่ใช่ว่าใครอยากบวชก็บวชได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามจุดประสงค์ด้วยว่าบวชทำไม? ไม่บวชก็เข้าใจธรรมได้มิใช่หรือ?
*** ~ ข้อความในพระไตรปิฎก ก็แสดงอยู่แล้วว่า เมื่อบวชแล้ว ต้องระลึกว่า “เราไม่ใช่คฤหัสถ์อีกต่อไป” เพราะฉะนั้น จะไม่รู้หน้าที่ของพระภิกษุไม่ได้เลย เป็นภิกษุแต่ไม่รู้ว่าภิกษุคือใคร แล้วจะเป็นภิกษุได้หรือ? ด้วยเหตุนี้ ภิกษุในพระธรรมวินัย ต้องประพฤติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น บวชโดยไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วก็ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยด้วย ก็เป็นโทษอย่างยิ่ง
~ ต้องเข้าใจขึ้นทีละคำทีละเล็กทีละน้อย เพื่อรู้ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แม้ว่าจะเป็นใครมาแต่ไหน เป็นเรามาแต่ไหน มากมายมหาศาล แต่ความจริง ก็คือ ไม่มีใคร นอกจากมีธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ที่ถูกต้องสำคัญที่สุด คือ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้วดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์
~ เริ่มรู้ว่าความไม่รู้มากแค่ไหน ความเป็นเราหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็มากแค่นั้น แล้วจะมาละง่ายๆ จะให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากความรู้เพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง ค่อยๆ ละความไม่รู้และอกุศลอื่นๆ ทีละเล็กทีละน้อย น้อยมาก จึงต้องตั้งต้นแล้วตั้งต้นอีกๆ ก็คือ เพิ่มความเข้าใจอีกทีละน้อยๆ
~ การฟังพระธรรมแต่ละครั้งต้องตรงที่จะรู้ว่าขณะนี้ไม่รู้อะไร แล้วฟังเพื่อละความไม่รู้เพราะกำลังเข้าใจสิ่งนั้น จนกว่าสามารถที่จะมีปัญญาถึงระดับขั้นที่รู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษาเพื่ออนุเคราะห์ตั้งแต่ขั้นต้นไม่ว่าในเรื่องของกายวาจาที่เป็นเรื่องของศีล หรือว่าเป็นเรื่องของพระวินัยจนกระทั่งถึงใจที่สงบจากอกุศล จนกระทั่งถึงปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้
~ ชีวิตจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้เลย เดี๋ยวนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น “ทำความดีและเข้าใจพระธรรม” หวังว่าทุกคนจะมั่นคงในพระธรรมยิ่งขึ้น เพราะเป็นประโยชน์สูงสุด ไม่มีประโยชน์ใดเท่าเทียมได้เลย เพราะประโยชน์สูงสุด ก็คือ ได้เข้าใจความจริงขณะนี้ว่า ไม่มีเรา ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
~ ต้องรู้จริงๆ ว่า ความไม่รู้ เป็นเหตุของความไม่ดีและความทุกข์ทั้งหลาย และความรู้ความเข้าใจถูกต่างหากที่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล เพราะฉะนั้น ความรู้นั่นแหละก็เลือกทางที่ถูกต้อง เห็นโทษของความไม่ดี ก็จะไม่ประพฤติไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ทุจริตใดๆ ทั้งหมดก็จะค่อยๆ เบาบางลง
~ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้จากคนที่เคยไม่เข้าใจเลย เป็นผู้ที่เข้าใจความจริงขึ้น และปัญญานั้นก็จะเป็นสังขารขันธ์ค่อยๆ ปรุงแต่งให้ความคิดและการกระทำทั้งหมดในชีวิตประจำวันเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเลย
~ รอที่จะเป็นคนดีหรือว่าเป็นคนดีเดี๋ยวนี้? เพราะว่าถ้าเรารอไป ก็รอไปๆ แล้วเมื่อไหร่จะเป็นคนดี
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๖๔
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...