ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๖๔] อตฺตญฺญู
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อตฺตญฺญู”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
อตฺตญฺญู อ่านตามภาษาบาลีว่า อัด - ตัน - ยู มาจากคำว่า อตฺต (ตัวเอง) กับคำว่า ญู (ผู้รู้) [ซ้อน ญฺ หน้า ญู] จึงรวมกันเป็น อตฺตญฺญู เขียนเป็นไทยได้ว่า อัตตัญญู แปลว่า บุคคลผู้รู้จักตัวเอง เป็นอีกคำ ๑ ที่แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมที่มีจริงที่อยู่ที่ตัวเองทั้งหมด เพราะที่กล่าวว่าเป็นตัวเองเป็นชีวิตของแต่ละคนนั้น ก็ไม่พ้นจากธรรมแต่ละหนึ่งๆ กล่าวคือ จิต เจตสิก และรูป ไม่มีตัวตน ดังนั้น บุคคลผู้รู้จักตัวเอง ก็คือ เป็นบุคคลผู้รู้ธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ธัมมัญญูสูตร แสดงความเป็นจริงของคำว่าอัตตัญญู บุคคลผู้รู้จักตัวเอง ดังนี้
“ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเพียงเท่านี้ ถ้าภิกษุไม่พึงรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเพียงเท่านี้ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู แต่เพราะภิกษุรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งมีแล้ว แต่ไม่รู้ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และธรรมแต่ละอย่างนั้น ก็ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนแทรกอยู่ในธรรมเหล่านั้นเลย ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่ามีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน
เป็นความจริงที่ว่าธรรมดาปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมสะสมอกุศลเป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง มีความเข้าใจไปตามลำดับ ขณะที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้นกุศลจิตเกิด ก็สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรม สะสมอุปนิสัยฝ่ายดีมากขึ้น นั่นก็หมายความว่าค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วยความเข้าใจพระธรรม จากที่ไม่รู้ ก็เริ่มค่อยๆ รู้ขึ้น เริ่มสะสมสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง สามารถเปลี่ยนจากบุคคลที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ค่อยๆ มีการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น จนกระทั่งดำเนินไปถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ขึ้นอยู่กับการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีเป็นสำคัญ
ปัญญาซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดได้ ต้องอาศัยเหตุหลายอย่างหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ ต้องมีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพราะเคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงมาแล้ว จึงทำให้เป็นผู้ที่สนใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงฟัง จึงศึกษา เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ปัญญาย่อมจะเจริญขึ้นไปตามลำดับ โดยไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดเลย แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แต่การใช้คำพูดในการสื่อสาร ก็อาจจะพูดว่า สร้างเหตุ หรือ เจริญเหตุ หรือ ทำเหตุ อบรมเหตุ เป็นต้น โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธโวหารหรือคำพูดของชาวโลก แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครเจริญ ไม่มีใครทำ มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ว่าเป็นธรรมที่มีจริง
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เปรียบเหมือนแสงสว่างที่จะส่องให้เห็นธรรมที่มีจริงที่ตัวเองว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดก็ตาม ไม่พ้นจากจิต เจตสิก และรูปเลย และพระธรรมก็จะเกื้อกูลให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าเป็นผู้ไม่รู้มากแค่ไหน ซึ่งเมื่อมีผู้ทรงตรัสรู้ความจริงคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้ทรงแสดงความจริง เปิดเผยความจริงให้สัตว์โลกได้ฟังได้ศึกษา เมื่อได้ฟังได้ศึกษาก็ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยให้ธรรมฝ่ายดี มีปัญญาเป็นต้น เกิดขึ้น รู้ธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ตรงตามที่ได้ฟังได้ศึกษาทุกประการ เมื่อนั้น ย่อมจะชื่อว่ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพราะแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีตัวเองเลย มีแต่ธรรมเท่านั้น
ดังนั้น การตั้งต้นในการฟังในการศึกษาให้เข้าใจว่าธรรม คือ สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลตั้งแต่ต้น เมื่อได้ฟังได้ศึกษาต่อไปด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ และที่สำคัญ แต่ละขณะนั้น ก็แสดงถึงความเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอยู่แล้ว คือ ไม่มีใครทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นไปได้ หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้เลย
ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..