เดี๋ยวนี้กำลังศึกษาธรรมหรือเปล่า?_สนทนา ไทย-ฮินดี The Revanta Lucknow

 
เมตตา
วันที่  24 พ.ค. 2567
หมายเลข  47764
อ่าน  281

เดี๋ยวนี้กำลังศึกษาธรรมหรือเปล่า?_สนทนา ไทย-ฮินดี The Revanta Lucknow

[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - [เล่มที่ 12] หน้าที่ 229
ข้อความบางตอนจาก

เกวัฏฏสูตร

[๓๓๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูก่อนเกวัฏฏะ อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปก็ได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งบัลลังก์เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.

ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสบางคนเห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวทำให้เป็นหลายคนก็ได้ ... คนที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นจะบอกแก่คนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสคนใดคนหนึ่งว่า พ่อมหาจำเริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าพิศวงจริงหนอ ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก. มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปโน้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส จะพึงกล่าวกะคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า นี่แน่ะพ่อคุณ มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ด้วยวิชาชื่อว่า คันธารีนั้น ... ดูก่อนเกวัฏฏะ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวอย่างนั้น กะคนผู้มีศรัทธามีความเลื่อมใสนั้นบ้างไหม. พึงกล่าว พระเจ้าข้า. ดูก่อนเกวัฏฏะ เราเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แหละ จึงอึดอัด ระอา รังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์.

[๓๔๐] ดูก่อนเกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้บ้าง จิตของท่านเป็นดังนี้บ้าง. บุคคลบางคน มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั่นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่นบุคคลอื่นได้ ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้บ้าง จิตของท่านเป็นดังนี้บ้าง. ครั้นแล้วผู้มีศรัทธาเลื่อมใสบอกแก่คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสคนใดคนหนึ่งว่า พ่อมหาจำเริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอน่าพิศวงจริงหนอ ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้ทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ครั้นแล้วผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสจะพึงกล่าวกะผู้มีศรัทธา ผู้มีความเลื่อมใสว่า นี่แน่พ่อคุณ มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อมณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ด้วยวิชาชื่อว่ามณิกานั้น ดูก่อนเกวัฏฏะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสนั้นจะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นบ้างไหม พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูก่อนเกวัฏฏะ เราเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา รังเกียจอาเทสนาปาฏิหาริย์.

[๓๔๑] ดูก่อนเกวัฏฏะ อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูก่อนเกวัฏฏะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงใส่ใจอย่างนี้ อย่าใสใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ เข้าถึงสิ่งนี้อยู่. ดูก่อนเกวัฏฏะ นี้เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์

[๓๔๒] ดูก่อนเกวัฏฏะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ ดูก่อนเกวัฏฏะ แม้นี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ภิกษุเข้าถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานอยู่. ดูก่อนเกวัฏฏะ ข้อนี้ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ฯลฯ ภิกษุนำเข้าไปน้อมเข้าไปซึ่งจิตเพื่อญาณทัสสนะ. ดูก่อนเกวัฏฏะ นี้ ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ฯลฯ ภิกษุย่อมรู้ว่า ไม่มีจิตอื่นเพื่อเป็นอย่างนี้อีก ข้อนี้ท่านเรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วจึงประกาศให้รู้. ฯลฯ


ท่านอาจารย์: ถ้าในครั้งนั้น ไม่มีใครฟังธรรมเลย จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เพราะฉะนั้น ทุกคนในสมัยนี้ก็เหมือนในสมัยนั้น ได้เห็นพระกายของพระองค์เสด็จบิณฑบาต แต่ถ้าไม่ฟังคำของพระองค์ จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

จากคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีกิเลสมากมายมหาศาล แล้วก็สามารถที่จะหมดกิเลสถึงความเป็นเลิศในการรู้ความจริงเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์เป็นปฏิหาริย์อย่างยิ่ง

ทราบว่าได้ยินคำว่ากิเลส ทุกคนรู้จักความหมายของคำนี้แล้วหรือยัง ถ้าบอกว่า ไม่ดี รู้จักไหม?

ชาวอินเดีย: ความโกรธก็เกิดเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่มีความเข้าใจก็น่าจะน้อยลง

ท่านอาจารย์: แล้วเมื่อไหร่จะเข้าใจ?

ชาวอินเดีย: ถ้าเราศึกษาธรรมไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่า เหตุของความโกรธคืออะไร ในเมื่อเรารู้ว่าเหตุคืออะไร ความโกรธก็จะลดลง

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้กำลังศึกษาธรรมหรือเปล่า? นี่คือการเริ่มต้น ทุกคำที่มีจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง

ชาวอินเดีย: ครับ

ท่านอาจารย์: ต้องไม่ลืม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม โกรธเป็นธรรมหรือเปล่า?

คุณสุคิน: ดูเหมือนเขายังไม่เข้าใจความหมายของธรรมครับ

ท่านอาจารย์: โกรธ มีจริงไหม?

ชาวอินเดีย: มีจริง

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่เกิดมีโกรธไหม?

ชาวอินเดีย: ไม่มี

ท่านอาจารย์: ใครทำให้โกรธเกิด?

ชาวอินเดีย: โกรธเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยเป็นธรรม เดี๋ยวนี้โกรธหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: ไม่โกรธครับ

ท่านอาจารย์: ทำไมไม่โกรธ?

ชาวอินเดีย: เวลานี้สนทนาธรรมอยู่ ไม่ได้คุยเรื่องอะไรที่ทำให้เกิดความโกรธได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คนที่กำลังสนทนาธรรม เข้าใจธรรม จะโกรธไหมขณะนั้น?

ชาวอินเดีย: ไม่

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ฟังธรรมโกรธไหม?

ชาวอินเดีย: เมื่อมีเหตุก็เกิด

ท่านอาจารย์: นั่นเป็นธรรม ทุกอย่างที่เกิดมีจริงๆ เกิดแล้วปรากฏเป็นแต่ละหนึ่งๆ เกิดแล้วก็ดับ ทุกอย่างเกิดเป็นธรรมทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะโกรธไหม?

ชาวอินเดีย: ไม่โกรธครับ

ท่านอาจารย์: อาหารอร่อยมาก บังคับให้โกรธได้ไหม?

ชาวอินเดีย: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: อาหารอร่อยมาก ไม่ให้ชอบได้ไหม?

ชาวอินเดีย: ฝึกตัวเองมา เวลาทานอาหารไม่ให้ความสำคัญรสชาติ เพราะฉะนั้น ผมกินอะไรก็ได้

ท่านอาจารย์: บังคับให้อยากรับประทานอาหารบางอย่างได้ไหม?

ชาวอินเดีย: ...

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อะไรเป็นธรรมเดี๋ยวนี้?

ชาวอินเดีย: ความหมายของธรรมแยกเป็น ๒ อย่าง คือ ๑) เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่จะให้ใช้คำว่า ธรรม จะใช้แค่หนทางคำสอนของพระพุทธองค์ที่แค่ทำให้เราเป็นคนดีขึ้น ตรงนั้นเองครับ ที่เหลือจะไม่เรียกความโกรธว่าเป็นธรรมหนึ่งที่พระพุทธองค์สอน

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา หมายความว่าอะไร? ร้อน เป็นธรรมหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: เป็นธรรมครับ

ท่านอาจารย์: หิว เป็นธรรมหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: เป็นครับ

ท่านอาจารย์: อิ่ม เป็นธรรมหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: เป็น

ท่านอาจารย์: จำ เป็นธรรมไหม?

ชาวอินเดีย: เป็น

ท่านอาจารย์: อะไรไม่ใช่ธรรม?

ชาวอินเดีย: เริ่มเข้าใจแล้วครับ

ท่านอาจารย์: ขยัน เป็นธรรมหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: เป็นครับ

ท่านอาจารย์: ขี้เกียจ เป็นธรรมหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: เป็นธรรม แต่เป็นธรรมที่ไม่ดี

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของธรรม

ชาวอินเดีย: ครับ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 305

บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไป ในภูมิ ๔ ทั้งหมด เป็นอนัตตา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 172

อัสสาสะปัสสาสะ - ลมหายใจเข้าออก ย่อมตกแต่งกาย ฉะนั้นจึงชื่อว่า กายสังขาร. สัญญาด้วย เวทนาด้วย ย่อมตกแต่งจิต ฉะนั้น จึงชื่อว่า จิตตสังขาร. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอา สังขตสังขาร. ชื่อว่า อนิจจา - ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า มีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่า ทุกขา - เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่า เบียดเบียน.

คำว่า สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวรวมเอาพระนิพพานเข้าไว้ด้วย ชื่อว่า อนัตตา เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 172

ชื่อว่า เป็น อนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ความน่าอัศจรรย์ของธรรม

ธรรมทั้งหลายน่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด

”ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” เพียงพูด

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 พ.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ