ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๖๕] สปฺปุริสธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  26 พ.ค. 2567
หมายเลข  47768
อ่าน  127

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สปฺปุริสธมฺม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สปฺปุริสธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า สับ - ปุ - ริ - สะ - ดำ – มะ มาจากคำว่า สปฺปุริส (สัตบุรุษ, บุคคลผู้สงบ, สัปบุรุษ) กับคำว่า ธมฺม (ธรรม, สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น สปฺปุริสธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า สัปปุริสธรรม แปลว่า ธรรมของสัตบุรุษซึ่งเป็นบุคคลผู้สงบ หรือ ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็นบุคคลผู้สงบ บุคคลผู้สงบในที่นี้ ไม่ได้เกี่ยวกับสถานที่ แต่หมายถึงผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น สงบจากกิเลสที่ดับได้แล้ว แต่ก็ยังมีความหมายที่แสดงถึงความสงบในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งหมายถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ได้แก่ ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป โดยที่ในขณะนั้นก็สงบจากอกุศล เป็นคนดีในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น การจะเป็นผู้สงบได้จึงต้องประกอบด้วยธรรมฝ่ายดีนั่นเอง

ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความเป็นจริงของบุคคลผู้สงบไว้ดังนี้

“ชื่อว่า ผู้มีกายสงบแล้ว เพราะความไม่มีกายทุจริตทั้งหลาย มีปาณาติบาต เป็นต้น, ชื่อว่า ผู้มีวาจาสงบแล้ว เพราะความไม่มีวจีทุจริตทั้งหลาย มีมุสาวาท เป็นต้น, ชื่อว่า ผู้มีใจสงบแล้ว เพราะความไม่มีมโนทุจริตทั้งหลาย มีอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น) เป็นต้น”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าในวรรค แสดงความเป็นจริงไว้ว่าสัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ ดังนี้

“สัตบุรุษเป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต (สดับตรับฟังพระธรรมมาก) ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑”


สัปบุรุษหรือสัตบุรุษ หมายถึง บุคคลผู้สงบ กล่าวคือ สงบจากกิเลส สามารถดับกิเลสได้จึงสงบจากกิเลส เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสที่ดับได้แล้ว จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด นำไปสู่การที่จะดับกิเลสให้ถึงความเป็นผู้สงบ เพราะกิเลสทั้งหลาย ไม่สงบ อย่างเช่น โลภะ ความติดข้องต้องการ เป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบ แต่ว่าบางคนชอบนั่งคนเดียว ชอบอยู่คนเดียว ขณะนั้นไม่สงบเพราะขณะนั้นเป็นโลภะ นี้คือความจริง จะต้องอาศัยพระธรรมเท่านั้นจึงจะรู้ได้จริงๆ ว่าไม่ใช่เราคิดเอาเองว่าเราอยู่คนเดียว วันนี้ไม่มีใครมารบกวนเลยหรือว่าออกไปป่า นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ก็จะคิดว่าสงบ ซึ่งความจริงไม่ใช่ความสงบเลยแม้แต่น้อย เพราะว่าถ้าสงบต้องสงบจากอกุศล ไม่ใช่ว่าการอยู่คนเดียว ขณะที่ไม่สงบนั้น ย่อมมีในขณะที่อกุศลเกิดขึ้น โทสะเกิดขึ้น ก็ไม่สงบ ทำให้จิตใจเดือดร้อนเร่าร้อน ความตระหนี่ ความริษยา เกิดขึ้น ไม่สงบ กล่าวโดยประมวลแล้ว คือ อกุศลเกิดเมื่อใด ไม่สงบเมื่อนั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสทั้งหลายทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ย่อมไม่สงบเพราะมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำกลุ้มรุมไม่ปล่อยให้เป็นกุศล เพราะตามความเป็นจริงแล้วขณะใดที่กุศลไม่เกิด ก็เป็นโอกาสที่อกุศลจะเกิดขึ้นเป็นไป ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นย่อมไม่สงบ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ขณะใดที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบจากอกุศล เช่น ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ จิตเป็นกุศลมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็สงบจากความไม่รู้ เพราะปัญญาเกิดขึ้นแทนอกุศล ขณะที่มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ขณะนั้น สงบจากความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นไปของจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) ว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สำหรับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้รับแนะนำในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมมีความติดข้องยินดีพอใจรักชอบในอารมณ์ที่ดีน่าใคร่น่าพอใจ และย่อมมีความโกรธ ความเกลียดหรือความไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ไม่น่าปรารถนา เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่สำหรับอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้รับแนะนำในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อบรมเจริญปัญญาจนดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น สูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ท่านย่อมไม่รักและไม่มีความขุ่นเคืองใจในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นเลย เป็นผู้มีใจที่สงบอย่างแท้จริง เป็นสัปบุรุษหรือสัตบุรุษ ซึ่งเป็นผู้ที่สงบจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นที่จะเป็นบุคคลผู้สงบได้จึงต้องประกอบด้วยธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ มีศรัทธา เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นใครที่ทำเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

การมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะค่อยๆ ละความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ได้ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นไปเพื่อสงบจากอกุศล ซึ่งจะเห็นว่าความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้ค่อยๆ เปลี่ยนจากการที่เป็นผู้มากไปด้วยอกุศล ให้เป็นผู้มีอกุศลลดน้อยลง แล้วก็เพิ่มพูนทางฝ่ายกุศลให้ยิ่งขึ้น ค่อยๆ สงบจากอกุศลไปตามลำดับ จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น พระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีค่ามหาศาล เป็นแสงสว่างที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา ไม่มีโทษใดๆ เลยแม้แต่น้อย มีแต่คุณประโยชน์เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป เห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวงและเป็นสภาพธรรมที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ทำให้ถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ