จิตเห็น

 
daeng
วันที่  27 พ.ค. 2567
หมายเลข  47773
อ่าน  242

มีข้อสงสัยครับ อยากทราบว่าจิตเห็นซึ่ง เกิดที่ จักขุปสาทรูป แต่จิตเห็นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย 7 ดวง เจตสิก 7 ดวงเกิดที่เดียวกับจิตหรือไม่ครับ เพราะได้ยินว่าจิตและเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกันมีอารมณ์เดียวกัน แต่ที่ได้ยินและฟังมาเหมือนกับว่าเจสิกเกิดที่หทยวัตถุ เฉพาะจิตเห็นเท่านั้นที่เกิดที่จักขุปสาทรูป ถ้าเป็นเช่นนั้นจิตและเจตสิกก็ไม่ได้เกิดที่เดียวกัน แต่เกิดและดับพร้อมกันและสัมปยุตธรรม ซึ่งกันและกัน ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ กราบคณะ อาจารย์ มศพ. ด้วยความเคารพยิ่งครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 พ.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงของจิตและเจตสิกแล้ว เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งรูปและนาม จิตและเจตสิกก็อาศัยเกิดที่รูป (อันเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก) เดียวกันด้วย อย่างในประเด็นคำถาม จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดที่จักขุปสาทะ เจตสิกทั้ง ๗ (ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ) ก็เกิดที่จักขุปสาทะด้วย

ขอกล่าวถึงในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตและเจตสิกต้องเกิดที่รูป (อันเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก) ซึ่งเป็นวัตถุรูป วัตถุรูปคือ อะไร วัตถุรูป เป็นรูปธรรมอันเป็นที่เกิดของจิต ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ มี ๖ ประเภท ได้แก่

จักขุปสาทรูป เป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตเห็น กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย)

โสตปสาทรูป เป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้ยิน กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย)

ฆานปสาทรูป เป็นฆานวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้กลิ่น กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย)

ชิวหาปสาทรูป เป็นชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตลิ้มรส กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย)

กายปสาทรูป เป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย กุศลวิบาก ๑ ดวง และ อกุศลวิบาก ๑ ดวง (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย)

[รวมเรียกจิต ๑๐ ดวงนี้ว่า ทวิปัญจวิญญาณ (จิต ๕ คูณ ๒ อันเป็นกุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก)]

ทหทยรูป เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมด (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เว้นเฉพาะทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด และขณะต่อๆ ไป จิตก็ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป ในขณะนี้ก็ไม่ลืมว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกขณะต้องเกิดที่รูปหนึ่งในบรรดาจำนวน ๖ รูป ไม่ใช่รูปอื่นนอกจากนี้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็พิจารณาต่อไปได้ว่า โลภมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ โทสมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ โมหมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ กุศลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ เปลี่ยนไม่ได้เลย นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่อำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความเป็นเรา พร้อมทั้งได้สะสมความไม่รู้มามากในสังสารวัฏฏ์ จึงหลงยึดถือธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น จึงควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด เพราะพระธรรมทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว อุปการะเกื้อกูลให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่า มีแต่ธรรม เท่านั้น ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เป็นโอกาสที่สำคัญที่จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ daeng และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
daeng
วันที่ 5 มิ.ย. 2567

กราบขอบพระคุณ อ.คำปั่นด้วยความเคารพยิ่ง และกราบอนุโมทนาในกุศลครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ