สติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดคำ

 
wittawat
วันที่  29 พ.ค. 2567
หมายเลข  47785
อ่าน  105

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดคำ

สรุปความเข้าใจจากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ 632

การคิดว่าสีเป็นรูป และเห็นเป็นนาม หลังจากที่สภาพธรรมปรากฏเป็นการเจริญสติหรือไม่?

อกุศลนั้นไม่ใช่สติ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปรกติชีวิตประจำวัน ถ้ามีความยินดี ติดข้อง ปรารถนา อยากได้ นั่นไม่ใช่สติ ถ้ามีความยินร้าย ไม่พอใจ ไม่แช่มชื่นใจ นั่นไม่ใช่สติเช่นกัน

สติต้องเป็นไปกับกุศล เช่น สติขั้นทาน มีระลึกการสละวัตถุ สติขั้นศีล มีระลึกได้ที่จะวิรัติทุจริต สติขั้นสมถะ ระลึกในอารมณ์ที่ให้จิตสงบจากอกุศล สติปัฏฐาน ระลึกศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

ลักษณะของสติ คือ ระลึก ศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก (แปลมาจากคำว่า สิกขา หมายถึงศึกษา) ในสภาพธรรมที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิดนั้นมีสภาพธรรมเป็นอารมณ์ (สิ่งที่จิตรู้)

อารมณ์ เป็น สิ่งที่จิตรู้ จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่ง เช่น สีทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ทางกาย คำ เรื่องราว ทางใจ เป็นต้น

ถ้าเป็นการคิดคำต่อจากสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น หรือ คิดทั้งวันว่า "ไม่ใช่ตัวตน เป็นรูป เป็นนาม" ก็ตาม การคิดคำนั้นไม่ใช่การเจริญสติ เพราะขณะนั้นจิตนั้นมี คำ มี เรื่องราว เป็นอารมณ์ ไม่ใช่มี สภาพธรรม หรือ ตัวธรรมแท้ๆ เป็นอารมณ์ และขณะที่นึกคำตัวสภาพธรรมแท้ๆ นั้นคือสภาพนึกที่คิดคำนั้นๆ ซึ่งสติสามารถระลึกได้

สภาพที่คิดนึก เป็นสภาพที่จิตเกิดขึ้น มีคำ มีเรื่อง มีรูปร่างสัณฐาน เป็นต้น เป็นอารมณ์ เช่น ทางตา ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตา มีกระดาษ มีข้อความที่เขียนไว้ มีเครื่องหมายต่างๆ ถ้าไม่นึกถึงรูปร่างของเครื่องหมาย เช่น ตัวอักษร ตัวเลข เป็นต้น ก็จะไม่มีการนึกถึงคำ นึกถึงความหมายของสิ่งที่ปรากฏ

การเห็นก็เป็น ๑ การนึกถึงรูปร่างสัณฐานก็เป็น ๑ การนึกถึงคำก็เป็น ๑ การนึกถึงความหมายก็เป็นอีก ๑ ถ้าสติไม่เกิดรู้ความจริงแต่ละ ๑ นั้นๆ ก็ยึดถือว่าเป็นวัตถุ สิ่งของ สัตว์ บุคคล เรา เขาต่อไป แต่ถ้าสติระลึกรู้สภาพความจริงอย่างนี้ จะถ่ายถอนการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ทีละเล็ก ทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

"การตั้งต้น หรือการปรารภสติ จะต้องมีการระลึก" เมื่อสติเกิดขึ้นจะมีการระลึกศึกษาสิ่งที่ปรากฏ จนความรู้เพิ่มขึ้นว่าสิ่งใดเป็นนามธรรม รูปธรรม ส่วนการคิดนึกคำว่า "นี่เป็นรูปธรรม นี่เป็นนามธรรม" เป็นเพียงขั้นคิดนึก ไม่ใช่สติปัฏฐาน


ไม่ทราบว่าชำนาญในการอ่านแค่ไหนนะครับ เพราะเมื่อฝึกตอนเด็กๆ หรือฝึกภาษาใหม่ๆ จำเป็นต้องสะกด พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ทีเดียว จึงออกเสียงได้ แต่พอโตขึ้นหรือชำนาญมากขึ้น เพียงเห็นทั้งคำก็นึกเสียงของคำขึ้นมาได้ และก็มีการนึกสิ่งต่างๆ ต่อมาอีกมากมาย เช่นนั้นก็เป็นความจริงประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธรรมที่คิดนึก

ขอกราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 31 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ