ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๖๖] มนินฺทฺริย
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “มนินฺทฺริย”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
มนินฺทฺริย อ่านตามภาษาบาลีว่า มะ - นิน - ดะ - ริ - ยะ มาจากคำว่า มน (จิต, ใจ, สภาพที่รู้อารมณ์) กับคำว่า อินฺทฺริย (เป็นใหญ่, ครองความเป็นใหญ่, อินทรีย์) รวมกันเป็น มนินฺทฺริย แปลว่า สภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ คือ จิต จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่มีสภาพธรรมใดที่จะเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ยิ่งไปกว่าจิต จิตจึงเป็นมนินทรีย์ แม้ในขณะที่จิตเกิดขึ้นนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เจตสิกก็ไม่ได้เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์เหมือนอย่างจิตเลย
ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงความเป็นจริงของคำว่า มนินทรีย์ ดังนี้
ธรรม ที่ชื่อว่า มนะ เพราะย่อมรู้ คือ ย่อมรู้แจ้ง. แต่ท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ชื่อว่า มนะ เพราะย่อมรู้อารมณ์ เหมือนบุคคลนับอยู่ด้วยทะนาน และเหมือนชั่งอยู่ด้วยชั่งใหญ่ฉะนั้น. มนะนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่น ในลักษณะแห่งความรู้. มนะนั่นแหละเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่า มนินทรีย์.
ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละบุคคลก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์อะไร) เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัณหา ยังมีอวิชชาซึ่งยังดับไม่ได้ ก็ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ประการที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร มีอายุยืนนานเพียงใด ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันสองดวงหรือสองขณะได้ หรือไม่ใช่ว่าจะมีจิตดวงเดียวเกิดขึ้นเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา อย่างไม่ขาดสาย เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง ตามความเป็นไปของจิต ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์
เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงแล้ว เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน จำแนกเป็นสภาพธรรมที่เป็น “จิตปรมัตถ์” เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ “เจตสิกปรมัตถ์” ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต มีลักษณะเฉพาะของนามธรรมนั้นๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทำกิจของตนต่างๆ กันไป สำหรับเจตสิกปรมัตถ์มีทั้งหมด ๕๒ ประเภท มี ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) เจตนา (ความจงใจ) เป็นต้น และในการอบรมเจริญปัญญา ก็จะรู้ลักษณะของรูปธรรมด้วย ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ รูปปรมัตถ์ เพราะในชีวิตจริงๆ ตามความเป็นจริง มีการเห็น ซึ่งเป็นจิต และสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ ก็เป็นรูปปรมัตถ์ การอบรมปัญญา ก็เป็นการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจชัดในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ของสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งจิต เจตสิก และรูป ส่วนในนิพพานนั้น เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ควรที่จะได้ศึกษาเพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ก่อน
สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง คือ จิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิต เป็นสภาพธรรมที่ครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นๆ ในการรู้อารมณ์ เพราะสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ มี ๒ ประเภทคือจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่ในบรรดาธรรม ๒ อย่างนี้ จิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ จิตจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่ง คือ มนินทรีย์ นี้คือความเป็นจริงของธรรมซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
การศึกษาเรื่องของจิต เป็นการที่จะพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่เคยคิดเลยว่า จิตอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็จะไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะมีจิต แต่ไม่ทราบว่าจิตอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถพิจารณาลักษณะของจิตได้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่ว่าทุกคนมีจิตนั้น ไม่ได้นอกเหนือจากชีวิตประจำวันเลย ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ โดยสภาพรู้ เป็นจิต ซึ่งเป็นมนินทรีย์นั่นเอง นอกจากนั้นแล้ว ในขณะที่ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นกุศลจิตบ้าง เป็นอกุศลจิตบ้าง ทั้งหมดนี้คือความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต ซึ่งเป็นมนินทรีย์ทั้งหมด
เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ทุกขณะของชีวิตคือการเกิดดับสืบต่อกันของจิต รวมถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิกด้วย และที่สำคัญ จิต ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีที่เกิด มีอารมณ์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น เป็นการปฏิเสธความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะฟัง จะศึกษาในส่วนใดก็ตาม ก็เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จริงๆ ทั้งหมดของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงโดยตลอด พร้อมที่จะให้ประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์เห็นคุณค่าที่จะได้ฟังได้ศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในทุกคำที่พระองค์ทรงแสดง
ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..