ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา คืออะไร? [มหาวิภังค์]

 
wittawat
วันที่  5 มิ.ย. 2567
หมายเลข  47808
อ่าน  211

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา คืออะไร?

อุปสมฺปทา หมายถึง การยังกุศลให้ถึงพร้อม (ซึ่งคนไทยเข้าใจว่าเป็นการบวชเป็นพระภิกษุนั่นเอง) ซึ่งอุปสัมปทามีทั้งหมด ๘ ประเภท ได้แก่
พระวินัยปิฏก มหาวิภังค์ เล่ม๑ ภาค ๑ หน้า 771
อุปสัมปทา นี้มี ๘ อย่าง คือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา ๑ สรณคมนอุปสัมปทา ๑ โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา ๑ ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา ๑ ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา ๑ ทูเตนอุปสัมปทา ๑ อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา ๑ ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา ๑
[อรรถาธิบายอุปสัมปทา ๘ อย่าง]
... ที่ชื่อว่า ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา ได้แก่ อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่โสปากสามเณร. ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามปัญหาเนื่องด้วยอสุภ ๑๐ กะโสปากสามเณร ผู้จงกรมตามเสด็จอยู่ในบุพพารามว่าโสปากะ! ธรรมเหล่านี้คือ อุทธุมาตกสัญญาก็ดี รูปสัญญาก็ดี มีอรรถต่างๆ กัน มีพยัญชนะต่างๆ กัน หรือมีอรรถอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น? โสปากสามเณรนั้น ทูลแก้ปัญหาเหล่านั้นได้. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทานสาธุการแก่เธอ แล้วตรัสถามว่า เธอได้กี่พรรษาละ โสปากะ? สามเณรทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า! หม่อมฉันได้ ๗ พรรษา. พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระหฤทัยอันโสปากสามเณรให้ยินดีว่า โสปากะเธอแก้ปัญหาทัดเทียมกับสัพพัญุตญาณของเรา แล้วจึงทรงอนุญาตให้อุปสมบท. นี้ชื่อว่า ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา.


อสุภ ๑๐ ได้แก่ อะไร?
ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 539
ซากศพ ชื่อว่า อุทธุมาตะ เพราะพองขึ้นโดยความพองอืดขึ้นตามลําดับเพราะสิ้นชีวิต เหมือนลูกหนังพองด้วยลมฉะนั้น ...
ชื่อว่า วินีลกะ เพราะเป็นของน่าเกลียดมีสีเขียวคล้ำเพราะปฏิกูล ...
ซากศพที่มีน้ำหนองอันไหลออกไปในที่แตกออกแล้ว ชื่อว่า วิปุพพะ ...
ซากศพที่ขาดเป็น ๒ ท่อน เรียกว่า วิฉิททะ ...
ซากศพทั้งหลายที่มีสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกกัดกินโดยอาการต่างๆ โดยกระจัดกระจายไป ชื่อว่า วิกขายิตะ ...
คําว่า วิกขิตตกะ นี้เป็นชื่อซากศพที่กระจัดกระจายไปแต่ที่นั้นๆ อย่างนี้คือ มือไปทางหนึ่ง เท้าไปทางหนึ่ง ศีรษะไปทางหนึ่ง ...
ซากศพที่ถูกฟันยับเยิน กระจัดกระจายโดยนัยก่อนนั่นแหละ ชื่อว่า หตวิกขิตตกะ ...
ซากศพที่มีโลหิตหยดเรี่ยไหลไปข้างโน้นข้างนี้ ชื่อว่า โลหิตกะ ...
ซากศพที่เกลื่อนไปด้วยหมู่หนอนชอนไช ชื่อว่า ปุลุวกะ ...
ซากศพที่มีกระดูกเท่านั้น เรียกว่า อัฏฐิกะ


พระโสปากเถระบวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุกี่ปี?
คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค๒ ตอน ๔ หน้า 413
ได้ยินว่า สามเณรผู้มีอายุ ๗ ปี ๒ รูปเท่านั้น ได้อุปสมบท คือสุมนสามเณรนี้รูปหนึ่ง โสปากสามเณรรูปหนึ่ง ...
<เข้าใจว่าจากข้อความนี้ มีสามเณร ๒ รูปได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ ๗ ปี ท่านพระสุมนเถระ บวชด้วยทายัชชอุปสมบท หลังจากที่สุมนสามเณรแสดงฤทธิ์และทรงตรัสว่า "สุมนะ ถ้ากระนั้น ตั้งแต่วันนี้ เธอจงเป็นภิกษุเถิด" ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าอยู่ใน ๘ ประเภทข้างต้น หรือไม่อย่างไร>


คาถาของพระโสปากเถระ และการบรรลุเป็นพระอรหันต์ตอน ๗ ขวบ
ขุททกนิกาย เถรคาถาเล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ หน้า 262-268
[๓๖๔] เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงกว่านรชน เป็นบุรุษอุดม เสด็จจงกรมอยู่ที่ร่มเงาแห่งพระคันธกุฎี จึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคม ณ ที่นั้น เราห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือ เดินจงกรมตามพระองค์ผู้ปราศจากกิเลสธุลี ผู้สูงสุด กว่าสัตว์ทั้งปวง ลำดับนั้น พระองค์ได้ตรัสถามปัญหาเรา เราเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ปัญหาทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีความ หวาดหวั่นและไม่กลัว ได้พยากรณ์แด่พระศาสดา เมื่อ เราวิสัชนาปัญหาแล้ว พระตถาคตทรงอนุโมทนา ทรง ตรวจดูหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า โสปากภิกษุนี้ บริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย ของ ชาวอังคะและมคธะเหล่าใด เป็นลาภของชาวอังคะและ มคธะเหล่านั้น อนึ่ง ได้ตรัสว่าเป็นลาภของชาวอังคะและ ชาวมคธะ ที่ได้ต้อนรับและทำสามีจิกรรมแก่โสปากภิกษุ ดูก่อนโสปากะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้เธอเข้ามาหาเราได้ ดูก่อนโสปากะ การวิสัชนาปัญหานี้จงเป็นการอุปสมบทของเธอ เรามีอายุได้ ๗ ปีแต่เกิดมา ก็ได้ อุปสมบท ทรงร่างกายอันมีในชาติสุดท้ายไว้. น่าอัศจรรย์ ความที่ธรรมเป็นธรรมดี.
จบโสปากเถรคาถา

[อรรถกถา]

... ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในโสปากกำเนิด ๑ ในเมืองราชคฤห์. ปรากฏโดยชื่ออันมีมาโดยกำเนิดว่า โสปากะ. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ท่านเกิดในตระกูลพ่อค้า ส่วนคำว่า โสปากะ เป็นแต่เพียงชื่อ. คำนั้นผิดจากบาลีในอุทาน เพราะกล่าวไว้ว่า เมื่อถึง ภพสุดท้าย เราเกิดในกำเนิดโสปากะ ดังนี้. เมื่อเขาเกิดได้ ๔ เดือน บิดาก็ตาย อาจึงเลี้ยงไว้. ท่านเกิดได้ ๗ ปีโดยลำดับ วันหนึ่ง อาโกรธว่า ทะเลาะกับลูกของตน จึงนำเขาไปยังป่าช้า เอาเชือกผูกมือทั้ง สองข้างเข้าด้วยกัน แล้วเชือกนั้นนั่นแหละผูกมัดอย่างแน่นหนาติดกับร่าง ของคนตาย แล้วก็ไปเสียด้วยคิดว่า สุนัขจิ้งจอกเป็นต้นจงกัดกิน. เพราะ เด็กนั้นเป็นผู้มีภพครั้งสุดท้าย เขาไม่อาจให้ตายได้เอง เพราะผลบุญของ เด็ก แม้สัตว์ทั้งหลายมีสุนัขจิ้งจอกเป็นต้นก็ไม่อาจครอบงำได้. ในเวลา เที่ยงคืนเด็กนั้นเพ้ออยู่ว่า

คติของเราผู้ไม่มีคติจะเป็นอย่างไร หรือเผ่าพันธุ์ของ เรา ผู้ไม่มีเผ่าพันธุ์จะเป็นใคร ใครจะเป็นผู้ให้อภัยแก่ เรา ผู้ถูกผูกอยู่ในท่ามกลางป่าช้า.

ในเวลานั้น พระศาสดาทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ ทรง เห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอันโพลงอยู่ในภายในหทัยของเด็ก จึงทรงแผ่ พระโอภาสทำให้เกิดสติแล้วตรัสอย่างนี้ว่า

มาเถิดโสปากะ อย่ากลัว จงแลดูตถาคต เราจะยัง เธอให้ข้ามพ้นไป ดุจพระจันทร์พ้นจากปากราหูฉะนั้น.

ทารกตัดเครื่องผูกให้ขาดด้วยพุทธานุภาพ ในเวลาจบคาถา ได้เป็น พระโสดาบัน ได้ยืนอยู่ตรงหน้าพระคันธกุฎี. มารดาของทารกนั้นไม่เห็น บุตรจึงถามอา เมื่ออาเขาไม่บอกความเป็นไปของบุตรนั้น จึงไปค้น หาในที่นั้นๆ คิดว่า เขาเล่าลือว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้อดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ถ้ากระไรเราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามความเป็นไป แห่งบุตรของเรา จึงได้ไปยังสำนักของพระศาสดา. พระศาสดาทรงปกปิด ทารกนั้นด้วยพระฤทธิ์ ทรงถูกนางถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เห็นบุตรของข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเป็นไปของเขาบ้างไหม พระเจ้าข้า. จึงตรัสธรรมว่า

บุตรทั้งหลายย่อมไม่มีเพื่อความเป็นผู้ต้านทาน บิดา ก็ดี เผ่าพันธุ์ก็ดี ย่อมไม่มีเพื่อความเป็นผู้ต้านทาน ความต้านทานในหมู่ญาติ ย่อมไม่มีแก่ผู้อันความตายถึง ทับแล้ว.

นางได้ฟังธรรมนั้นแล้วได้เป็นพระโสดาบัน. ทารกได้บรรลุพระอรหัต ... ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคลายพระฤทธิ์. ฝ่ายมารดาก็ได้ เห็นบุตร ร่าเริงดีใจ ได้ฟังว่าบุตรนั้นเป็นพระขีณาสพ จึงให้บวชแล้ว ก็ไป ท่านโสปากะนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งกำลังเสด็จจงกรมอยู่ในร่ม เงาแห่งพระคันธกุฎี ถวายบังคมแล้วจงกรมตามเสด็จ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ประสงค์จะทรงอนุญาตอุปสมบทแก่เธอ จึงมีพระดำรัสถามปัญหา ๑๐ ข้อ โดยมีอาทิว่า เอกํ นาม กึ อะไรชื่อว่าหนึ่ง ดังนี้.

ฝ่ายท่านโสปากะนั้น ถือเอาพระพุทธประสงค์ เทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณ ทูลแก้ปัญหาเหล่านั้น โดยนัยมีอาทิว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ดังนี้. ด้วย เหตุนั้นนั่นแล ปัญหาเหล่านั้นจึงชื่อว่า กุมารปัญหา. พระศาสดาทรงมีพระทัยโปรดปราน เพราะการพยากรณ์ปัญหาของเธอ จึงทรงอนุญาตการอุปสมบท, ด้วยเหตุนั้น อุปสมบทนั้นจึงชื่อว่า ปัญหพยากรณอุปสมบท อุปสมบทด้วย การพยากรณ์ปัญหา. (ประวัติของท่านพระโสปากเถระในคัมภีร์อรรถกถาจาก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ หน้า 54 อาจจะแตกต่างจากที่แสดงในคัมภีร์เถรคาถา มีข้อความแสดงว่าท่านเกิดในตระกูลจัณฑาล แม่ตายตอนที่คลอดท่าน ท่านเกิดและเติบโตในป่า)


ปัญหาพยากรณ์ ๑๐ ข้อ
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า 96
สามเณรปัญหาในขุททกปาฐะ
[๔] อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑ สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๒ นามและรูป.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๓ เวทนา ๓.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๔ อริยสัจ ๔.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๕ อุปาทานขันธ์ ๕.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๖ อายตนะภายใน ๖.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๗ โพชฌงค์ ๗.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๙ สัตตาวาส ๙.
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐ ท่านผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เรียกว่าพระอรหันต์.
จบสามเณรปัญหา
อัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง
... ชื่อว่าโสปากะเป็นพระมหาสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ท่านโสปากะนั้น สำเร็จพระอรหันต์เมื่ออายุได้ ๗ ขวบโดยกำเนิด. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยการพยากรณ์ [ตอบ] ปัญหาแก่ท่าน ทรงเห็นว่าท่านเป็นผู้สามารถพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย ที่มีความอันพระองค์ทรงประสงค์แล้ว จึงตรัสถามปัญหา โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่าหนึ่ง.ท่านก็พยากรณ์ และทำจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์นั้น. อันนั้นนั่นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านพระโสปากะนั้น. นี้เป็นเหตุเกิดเรื่องของสามเณรปัญหาเหล่านั้น.


[สรุป]
ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา เป็นการประทานการบวชแก่พระภิกษุโดยพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสถามปัญหาแก่ผู้นั้น ซึ่งได้แก่ ท่านโสปากสามเณรอายุ ๗ ขวบ ซึ่งข้อความของปัญหาในอรรถกถาพระวินัย เป็นการถามปัญหาเนื่องด้วยอสุภะ ๑๐ ส่วนข้อความในอรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา และขุททกปาฐะ แสดงว่าปัญหานั้นได้แก่ สามเณรปัญหา ๑๐ ซึ่งปัญหาที่ถามทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นจริงในขณะนี้

ขอกราบอนุโมทนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ