อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑? [กุมารปัญหา]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑?
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 96
สามเณรปัญหาในขุททกปาฐะ (ผู้ถาม: พระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้ตอบ: โสปากสามเณร)
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑ สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 161
ว่าด้วยสังคีติหมวด ๑ (ท่านพระสารีบุตรแสดงที่เมืองปาวา แคว้นมัลละ)
[๒๒๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๑ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ธรรม ๑ เป็นไฉน. คือ
สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดํารงอยู่ด้วยอาหาร
สพฺเพ สตฺตา สงฺขารฏฺฐิติกา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดํารงอยู่ด้วยสังขาร.
ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหนึ่งนี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
จบสังคีติหมวด ๑
อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 93
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกมีวาทะอย่างนี้ เธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ... ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ เป็นอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกถามอย่างนี้แล้ว จักไม่ยังพยากรณ์ให้ถึงพร้อมได้ จักถึงความลำบากแม้อย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกนั้นถูกถามในปัญหาอันมิใช่วิสัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราย่อมไม่เห็นบุคคลที่จะยังจิตให้ยินดีได้ด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ เว้นจากตถาคตหรือสาวกตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากสาวกของตถาคตนี้ ก็คำที่ เรากล่าวว่า ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน ในธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรมอย่างหนึ่งนี้แล ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 98
กถาพรรณนากุมารปัญหา
พึงทราบว่า พระเถระ (โสปากสามเณร) ผู้ถูกตรัสถามว่า อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑ ทูลชี้แจงแล้ว. จริงอยู่ ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ว่าชื่อว่า ๑ ในที่นี้ แต่มิใช่ตรัสเพื่อให้รู้ว่า ชื่อว่า ๑ อย่างอื่นในพระศาสนาหรือในโลก ไม่มี. ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมอย่างหนึ่ง ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรม คือปัจจุบัน ในธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือในธรรมอย่างหนึ่งว่า สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมอย่างหนึ่งนี้แลภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรม คือปัจจุบัน คำนั้นใดเรากล่าวว่า ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑ ดังนี้ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว.
ในคำว่า อาหารฏฺฐิติกา นี้ พระเถระถือเอาปัจจัยด้วย อาหารศัพท์ เรียกสัตว์ทั้งปวงที่ตั้งอยู่ได้ด้วยปัจจัยว่า ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร เหมือนปัจจัยท่านเรียกว่าอาหาร ... ก็พึงทราบว่า ... สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ... เพราะอรรถว่า เป็นปัจจัยในขันธ์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ พึงทราบว่า เมื่อขันธ์ทั้งหลาย เกิดแก่และตายอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอเกิดแก่และตายอยู่ทุกขณะ ดังนี้ เป็นอันทรงแสดงว่าตรัสรวมความไว้เสร็จถึงขันธ์ในสัตว์เหล่านั้น เมื่อใด สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหารที่เรียกว่าปัจจัยอันใด อาหารอันนั้นหรือความที่สัตว์ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร พึงทราบว่า มีหนึ่ง เพราะว่าอาหารหรือความที่สัตว์ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ย่อมเป็นฐานที่ตั้งแห่งนิพพิทาความหน่าย เพราะเป็นเหตุแห่งอนิจจตาความเป็นของไม่เที่ยง. เมื่อนั้นภิกษุเมื่อหน่าย เพราะเห็นอนิจจตาในสังขารทั้งหลายที่เข้าใจกันว่าสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้โดยลำดับ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิ ความบริสุทธิ์โดยปรมัตถ์ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งวิสุทธิ.
อรรถกถาสังคีติสูตร
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้า 264
ว่าด้วยธรรมหมวด ๑ ...
คําว่า เอโก ธมฺโม ความว่าพระเถระ (ท่านพระสารีบุตร) มีความประสงค์จะแสดงสามัคคีรสมากๆ อย่าง เช่น หมวดหนึ่ง หมวดสอง หมวดสาม เป็นต้น จึงกล่าวว่า เอโก ธมฺโม (ธรรมหนึ่ง) ดังนี้เป็นอันดับแรก.
คําว่า สพฺเพ สตฺตา หมายถึงสัตว์ทั้งปวงในภพทั้งปวง เช่นในกามภพเป็นต้น ในสัญญีภพเป็นต้น และในเอกโวการภพเป็นต้น. คําว่า อาหารฏฺฐิติกา มีบทนิยามว่า สัตว์เหล่านั้นดํารงอยู่ได้เพราะอาหาร ดังนั้น จึงชื่อว่า อาหารฏฺฐิติกา ผู้ดํารงอยู่ได้เพราะอาหาร. อาหารย่อมเป็นเหตุแห่งการดํารงอยู่ได้แห่งสรรพสัตว์ ด้วยประการดังนี้. พระเถระแสดงความหมายว่า "ท่านทั้งหลาย ธรรมหนึ่ง คือ สัตว์ทั้งหลายดํารงอยู่ได้เพราะอาหารนี้ พระศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงทราบตามความเป็นจริงแล้ว ได้ตรัสได้เป็นอันถูกต้อง". ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ คําที่ตรัสไว้ว่า "เทพจําพวกอสัญญสัตตะ เป็นอเหตุกะ ไม่มีอาหาร ไม่มีผัสสะ" ดังนี้เป็นต้น จะมิเป็นอันคลาดเคลื่อนไปละหรือ. ไม่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้เพราะเทพพวกนั้นก็มีฌานเป็นอาหาร. ถึงอย่างนั้นก็เถอะ, แม้คําที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าอาหารเพื่อความดํารงอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่อการตามประคับประคองพวกสัมภเวสีทั้งหลาย มีอยู่ ๔ อย่าง ๔ อย่างอะไรบ้าง ๑. กพฬิงการาหาร จะหยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ๒. ผัสสาหาร ๓. มโนสัญเจตนาหาร ๔. วิญญาณาหาร" ดังนี้ ก็คลาดเคลื่อน. แม้คํานี้ก็ไม่คลาดเคลื่อน. เพราะว่าในพระสูตรนั้น ตรัสธรรมทั้งหลายที่มีลักษณะเป็นอาหารโดยตรงนั่นแลว่า "อาหาร". แต่ในที่นี้ตรัสเรียกปัจจัยโดยอ้อมว่า "อาหาร" จริงอยู่ ปัจจัยควรจะได้แก่ธรรมทั้งปวง. และปัจจัยนั้น ยังผลใดๆ ให้เกิด ก็ย่อมชื่อว่านํามาซึ่งผลนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงเรียกได้ว่า อาหาร ... อาหารคือปัจจัยนี้ประสงค์เอาในพระสูตรนี้. ก็เมื่อถือเอาปัจจัยเป็นอาหารอย่างหนึ่งแล้ว ก็ย่อมเป็นอันถือเอาทั้งหมด ทั้งอาหารโดยอ้อม ทั้งอาหารโดยตรง ... พระเถระ (พระสารีบุตร) กล่าวปัญหาข้อหนึ่งว่า สัตว์ทั้งปวงดํารงอยู่ได้เพราะอาหาร ด้วยอาหาร ตามที่แสดงมา นี้แล้วได้แก้ไขปัญหาข้อที่ ๒ ว่า "สัตว์ทั้งปวงดํารงอยู่ได้เพราะสังขาร" ดังนี้ โดยมิได้กําหนดหมาย ... ทั้งมิได้ไขความ ... เพราะเหตุไรจึงมิได้กําหนดหมาย ทั้งมิได้ไขความอีก. เพราะการที่จะเรียนและสอนในเมื่อมัวแต่กําหนดหมาย ทั้งมัวแต่ไขความอยู่นั้น เป็นเรื่องยาก ฉะนั้นท่านจึงแก้ไขทั้งสองประเด็นรวมกันไปเลย. แม้ในการแก้ไขปัญหาข้อที่ ๒ นี้ ปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้วในหนหลังนั่นเอง ก็เรียกว่า สังขาร เพราะปรุงแต่งผลของตน ...
บทว่า อยํ โข อาวุโส ความว่า ท่านทั้งหลาย ธรรมหนึ่งอันนี้ พระศาสดาของพวกเราประทับนั่ง ณ มหาโพธิมณฑล ทรงทําให้แจ้งด้วยพระองค์ด้วยพระสัพพัญุตญาณแล้วได้ทรงแสดงไว้ อันเป็นธรรมหนึ่งที่ท่านทั้งหลาย พึงสังคายนาพร้อมเพรียงกัน ไม่พึงโต้แย้งกัน. คําว่า ยถยิทํ พฺรหฺมาจริยํ ความว่า ศาสนพรหมจรรย์นี้ พึงตั้งมั่นอยู่ได้ ดังที่เมื่อท่านทั้งหลายสังคายนาอยู่. คือเมื่อภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายธรรมหนึ่งอันพระศาสดาตรัสไว้ชอบแล้วมีอยู่ ธรรมหนึ่งคืออะไร คือ สัตว์ทั้งปวงดํารงอยู่ได้เพราะอาหาร สัตว์ทั้งปวงดํารงอยู่ได้เพราะสังขาร" ดังนี้, ภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังคํากล่าวของภิกษุรูปนั้นแล้วก็บอกกล่าวต่อไป อีกรูปหนึ่งได้ฟังก็บอกกันต่อไปอีก โดยกําหนดคําบอกกล่าวสืบๆ กันไป ด้วยประการอย่างนี้แล พรหมจรรย์นี้ก็จักดํารงอยู่ตลอดกาลนาน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก ท่านพระธรรม เสนาบดีสารีบุตรเถระได้แสดงสามัคคีรสด้วยอํานาจธรรมหมวดหนึ่งด้วย ประการดังนี้แล.
จบธรรมหมวด ๑
อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 98
อรรถกถาปฐมมหาปัญหาสูตรที่ ๗ ...
บทว่า เอกธมฺเม แปลว่า ในธรรมอย่างหนึ่ง. ทรงแสดงอุเทศด้วยบทนี้.
โดยปรนัย ทรงแสดงปัญหาด้วยบทนี้ ว่า กตมสฺมิํ เอกธมฺเม. ก็คำว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺิติกา นี้ เป็นคำไวยากรณ์ตอบในข้อนี้. แม้ในปัญหาที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ในคำว่า สมฺมา นิพฺพินฺทมาโน เป็นต้น ความว่า เมื่อหน่าย คือถอนขึ้นด้วยนิพพิทาวิปัสสนาญาณ คลายกำหนัดด้วยวิราคานุปัสสนาญาณ รู้อุบายแห่งการหลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หรือหลุดพ้นด้วยสามารถอธิโมกข์ กระทำความตกลงใจโดยชอบ คือโดยเหตุ โดยนัย. ชื่อว่า มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ เพราะกำหนดด้วยความเกิดและความเสื่อมแล้ว เห็นเบื้องต้นเบื้องปลาย. บทว่า สมฺมตฺถาภิสเมจฺจ ได้แก่ ตรัสรู้ประโยชน์แห่งสภาวะโดยชอบด้วยญาณ. บทว่า ทุกฺขสฺสนฺตกโร โหติ ได้แก่ กระทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้น. บทว่า สพฺเพ สตฺตา ได้แก่ สัตว์ทุกชนิด ในภพทุกภพ มีกามภพเป็นต้น มีสัญญาภพเป็นต้น และมีเอกโวการภพเป็นต้น. บทว่า อาหารฏฺิติกา ได้แก่ สัตว์ทั้งปวง ชื่อว่าอาหารัฏฐิติกา เพราะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหาร. ธรรมอย่างหนึ่งชื่อว่า อาหาร เพราะเป็นเหตุตั้งอยู่แห่งสัตว์ทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้. ในธรรมอย่างหนึ่งนั้น. ถามว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น คำใดตรัสว่า เทพอสัญญีสัตว์ ไม่มีเหตุ ไม่มีอาหาร ไม่มีผัสสะเป็นต้น คำนั้น ก็ผิดมิใช่หรือ. ตอบว่า ไม่ผิด. เพราะฌานของอสัญญีสัตว์เหล่านั้น ย่อมเป็นอาหาร. ถามว่า แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ แม้นี้ ก็ผิดน่ะสิ. ตอบว่า ไม่ผิด. เพราะในพระสูตรนั้น ธรรมทั้งหลายที่มีลักษณะเป็นอาหาร ตรัสว่า อาหารโดยตรง. ส่วนในพระสูตรนี้ ปัจจัยทั้งหลายตรัสว่า อาหารโดยอ้อม. จริงอยู่ ปัจจัยแห่งธรรมทั้งหมดควรได้ชื่อว่าอาหาร ด้วยว่าปัจจัยนั้นยังผลใดๆ ให้เกิด ก็ชื่อว่าย่อมนำผลนั้นๆ มา เพราะฉะนั้น ปัจจัยท่านจึงเรียกว่า อาหาร. ด้วยเหตุนั้น นั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า แม้อวิชชาก็มีอาหาร ไม่กล่าวว่า ไม่มีอาหาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่า นิวรณ์ ๕. ในพระสูตรนี้ ทรงประสงค์เอาปัจจยาหารนี้. ก็เมื่อทรงถือเอาปัจจยาหารอย่างหนึ่งแล้ว ทั้งอาหารโดยอ้อม ทั้งอาหารโดยตรง ก็เป็นอันทรงถือเอาทั้งหมดเลย. ในอสัญญีภพนั้น ก็ย่อมได้ปัจจยาหาร. เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ สัตว์ทั้งหลายบวชในลัทธิเดียรถีย์ ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ทำฌานให้บังเกิด ออกจากฌานนั้นแล้ว เกิดชอบใจ พอใจว่า จิตนี้หนอ ไม่มีจิตเสียได้ น่าจะดี เพราะอาศัยจิต จึงเกิดทุกข์ มีการฆ่า การจองจำเป็นต้นเป็นปัจจัย เมื่อไม่มีจิต ทุกข์นั้นก็ไม่มี ดังนี้ แล้วยังไม่เสื่อมฌาน ทำกาละ (ตาย) ก็บังเกิดในอสัญญีภพ. อิริยาบถอันใด อันผู้ใดตั้งไว้แล้วในมนุษยโลก ผู้นั้นบังเกิดตามอิริยาบถนั้น เป็นเสมือนรูปจิตรกรรมตั้งอยู่ ๕๐๐ กัป เป็นเหมือนนอนนานถึงเพียงนี้ฉะนั้น. เหล่าสัตว์เห็นปานนี้ ก็ได้ปัจจัยเป็นอาหาร. จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นเจริญฌานใดๆ เกิดแล้ว ฌานนั้นนั่นแหละเป็นปัจจัยของสัตว์เหล่านั้น. ลูกศรที่ยิงไป เพราะแรงเร็วแห่งสายตราบใด แรงเร็วแห่งสายยังมีอยู่ ลูกศรก็ยังแล่นไปได้ตราบนั้น ฉันใด ตราบใดที่ปัจจัยแห่งฌานยังมีอยู่ ตราบนั้นสัตว์ทั้งหลายก็ตั้งอยู่ได้ ฉันนั้น เมื่อปัจจัยแห่งฌานนั้นจบสิ้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็ตกไป (คือต้องจุติไป) เหมือนลูกศรที่สิ้นแรงเร็วฉะนั้น ถามว่า สัตว์นร เหล่าใด ท่านกล่าวว่า มิใช่อาศัยผลแห่งความหมั่นเป็นอยู่ มิใช่อาศัยผลแห่งบุตรเป็นอยู่ สัตว์นรกเหล่านั้น มีอะไรเป็นอาหาร. ตอบว่า สัตว์นรก เหล่านั้นมีกรรมอย่างเดียวเป็นอาหาร. ถามว่า อาหารมี ๕ หรือ ตอบว่า ไม่ควรพูดว่าอาหารมี ๕ อาหารมีไม่ถึง ๕. ถามว่า ปัจจัยเป็นอาหารมิใช่หรือ. ตอบว่า ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า เพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายบังเกิดในนรกเพราะกรรมใด กรรมนั้นนั่นแหละเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยแห่งการตั้งอยู่ได้แห่งสัตว์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ท่านหมายเอากรรมใด จึงกล่าวคำนี้ สัตว์นรกจะยังไม่ทำกาละตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้น. แม้ปรารภกวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ก็ไม่ควรขัดแย้งกันในเรื่องอาหารนี้. ความจริง แม้น้ำลายที่เกิดขึ้นในปาก ก็สำเร็จกิจเป็นอาหารสำหรับสัตว์เหล่านั้น. ด้วยว่า น้ำลายก็เป็นทุกขเวทนียปัจจัย ปัจจัยที่ให้เสวยทุกข์ในนรก เป็นสุขเวทนียปัจจัย ปัจจัยที่ให้เสวยสุขในสวรรค์. ด้วยเหตุนี้ ในกามภพจึงมีอาหาร ๔ โดยตรง ในบรรดารูปภพและอรูปภพ เว้นอสัญญภพ อาหาร ๓ ย่อมมีแก่พรหมที่เหลือ ปัจจยาหารย่อมมีแก่อสัญญสัตว์และสัตว์ที่เหลือ เพราะเหตุนั้น จึงควรทราบว่า สัตว์ทั้งหมดตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร โดยทำนองนี้. ในเรื่องอาหารนั้น พึงทำการประกอบความในที่ทุกแห่ง โดยอำนาจสัจจะ ๔ อย่างนี้ว่า อาหาร ๔ หรือปัจจยาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกขสัจ. ตัณหาก่อนๆ ซึ่งมีอาหารเป็นสมุฏฐาน เป็นสมุทยสัจ. ความไม่เป็นไปแห่งสัจจะทั้ง ๒ เป็นนิโรธสัจ. ปัญญาที่รอบรู้นิโรธสัจ เป็นมรรคสัจ.
จบอรรถกถาปฐมมหาปัญหาสูตรที่ ๗
[สรุป]
คำว่า "อาหาร" ในพระสูตรนี้ ทรงแสดงถึง ปัจจัย หมายถึง สิ่งที่นำมาซึ่งผลนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอาหารโดยตรง อาหารโดยอ้อม ปัจจยาหาร อาหาร ๔ ก็ไม่พ้นไปจากนามธรรม และรูปธรรม ที่กำลังมีอยู่จริงในขณะนี้เลย ซึ่งสติสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของธรรมนั้นๆ ได้ตามความเป็นจริง
ขอกราบอนุโมทนา