สอบถามเรื่องปัจจัย

 
Khunkit
วันที่  10 มิ.ย. 2567
หมายเลข  47825
อ่าน  1,232

ปัจจัยจากญาติโยมที่เราได้มา ถ้าเราตั้งใจถวายให้ทางวัดทั้งหมด เราจะบาปไหมครับเพราะเรารับปัจจัยมาจากญาติโยม แล้วถ้ามีพระให้ทางเราใช้ปัจจัยในบัญชีเพื่อใช้ทางออนไลน์ แล้วเรารับเงินมาแต่เรานำมาเป็นของตัวเองเราผิดไหมครับเพราะนั่นก็คือเงินเราแต่เราไม่ได้ใช้จ่ายส่วนตัว จากที่ศึกษามาคือพระไม่ควรรับปัจจัยเลย และก็ถ้าจะรับให้ทางผู้ที่จัดการเป็นคนรับและจัดการจะดีกว่า ขอคำแนะนำด้วยครับ แก้ไขเพิ่มเติม ตอนนี้บวชอยู่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 มิ.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ ๓] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐

๓๗. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์


[เล่มที่ ๓] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๕๙
๓๘. ๙. อนึ่ง ภิกษุใดถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์


[เล่มที่ ๒๔] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๓๓๗

หญ้าคา อันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด
ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น


พระภิกษุในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับเงินและทองไม่ได้ เพราะเป็นผู้ที่ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จะมารับในสิ่งที่ตนเองสละแล้วได้อย่างไร เงินทองไม่ควรแก่พระภิกษุโดยประการทั้งปวง เพราะเงินและทองนำมาซึ่งรูป เสียง กลิ่น รสและสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย อันเป็นชีวิตของคฤหัสถ์ ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความใน [เล่มที่ ๒๙] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ หน้า ๒๑๒ มณิจูฬกสูตร ว่า

“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตร พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายอะไรเลย”

พระภิกษุในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รับเงินและทอง ไม่มีเงินและทอง มีเพียงบริขารเครื่องใช้อันเหมาะควรแก่บรรพชิต และอาศัยปัจจัย (สิ่งที่เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นไปได้) ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ในการที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส เท่านั้น ได้แก่ จีวรเครื่องนุ่งห่ม อาหารบิณฑบาตที่ได้มาจากศรัทธาของชาวบ้าน ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเมื่อเกิดอาพาธ (เจ็บป่วย)

จะเห็นได้ว่าพระภิกษุรับเงิน ก็ผิดพระวินัย พระภิกษุใช้จ่ายเงิน ก็ผิดพระวินัย พระภิกษุจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทองไม่ได้เลยโดยประการทั้งปวง พระภิกษุรับเงินทองเพื่อตนเอง หรือ ยินดีในเงินทอง ที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้เพื่อตน เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ต่ถ้ารับเพื่อผู้อื่น หรือ รับเพื่อสิ่งอื่น ก็เป็นอาบัติ ไม่พ้นจากอาบัติเลย คือ เป็นอาบัติทุกกฏ ยังเป็นการกระทำที่ผิดอยู่นั่นเอง

โดยสรุปแล้วคือ พระภิกษุจะยุ่งเกี่ยวกับเงินทองไม่ได้เลยโดยประการทั้งปวง ที่จะเป็นการแก้ไข คือ ไม่รับนั่นเอง ถ้าหากคฤหัสถ์ ถวายเงินแก่พระภิกษุ พระภิกษุต้องปฏิเสธ กล่าวคือ ไม่รับ แล้วถ้าหากคฤหัสถ์ถามหาไวยาวัจกร (คฤหัสถ์ผู้ขวนขวายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ภิกษุ) พระภิกษุสามารถแสดงไวยาวัจกรแก่คฤหัสถ์ผู้นั้นได้ คฤหัสถ์มอบเงินไว้กับไวยาวัจกร แล้วบอกกล่าวกับพระภิกษุว่า ถ้าหากว่าพระภิกษุประสงค์สิ่งใดที่ถูกต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย ก็ขอให้เรียกจากไวยาวัจกรได้ แล้วไวยาวัจกรจะเป็นผู้จัดหาสิ่งที่เหมาะควรถวาย เช่น จีวร เป็นต้น อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถที่จะกระทำได้

พิจารณาข้อความในพระวินัยปิฎก เทียบเคียงว่าที่ถูกแล้ว พระภิกษุและคฤหัสถ์ ควรทำอย่างไร จึงจะถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ดังนี้

[เล่มที่ ๓] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๖๒

"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ พวกมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส, มนุษย์เหล่านั้น ย่อมมอบหมายเงินและทองไว้ในมือแห่งกัปปิยการก (คฤหัสถ์ผู้กระทำในสิ่งที่เหมาะควร) ทั้งหลาย สั่งว่า พวกท่านจงจัดของที่ควรถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเงินและทองนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของซึ่งเป็นกัปปิยะ (สมควร) จากเงินและทองนั้น, ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เราหากล่าวไม่เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายไรๆ "


[เล่มที่ ๓] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๖๔

ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลาย จงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยว่า เป็นทุกกฎ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธ ว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกร ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น จึงหลีกไป อย่างนี้ ก็ควร ถ้าแม้เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือว่า จักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินแก่เขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ ก็ควร

พระธรรมวินัย บริสุทธิ์ สะอาด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ครับ



*หมายเหตุ*

*รูปิยะ หมายถึง เงิน หรือ สิ่งที่ใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้

*อาบัติ หมายถึง การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีโทษสำหรับภิกษุผู้ล่วงละเมิด

*ปัจจัย หมายถึง สิ่งที่เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นไปได้ ซึ่งเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่ จีวรเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ปัจจัยจึงไม่ใช่เงินทอง เพราะเงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิต

*ไวยาวัจกร หมายถึง บุคคลผู้ที่ขวนขวายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุ

*กัปปิยการก หมายถึง บุคคลผู้กระทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สมควรแก่พระภิกษุ

*นิสสัคคิยปาจิตตีย์ หมายถึง การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ทำให้จิตตกไปจากกุศล ซึ่งจะต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติและพ้นจากอาบัตินั้นได้


... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 13 มิ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ