สรณคมน์ หมายถึงอะไร? [ขุททกปาฐะ]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สรณคมน์ หมายถึงอะไร?
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 1
สรณคมณ์ในขุททกปาฐะ
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัย
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ.แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ.แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ.
จบสรณคมน์
บรรดาคาถาเหล่านั้น คาถาแรก ก่อนอื่น มีปัญหา ๕ ข้อ คือ (หน้า 6)
๑. พระสรณตรัยนี้ใครกล่าว?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไม่ใช่พระสาวก ไม่ใช่เหล่าฤษี ไม่ใช่เทวดากล่าว.
๒. กล่าวที่ไหน?
ที่อิสิปตนมิคทายวัน กรุงพาราณสี.
๓. กล่าวเมื่อไร?
เมื่อท่านพระยสะบรรลุพระอรหัตพร้อมกับสหายทั้งหลาย เมื่อพระอรหันต์ ๖๑ องค์ กระทำการแสดงธรรมในโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก.
๔. กล่าวเพราะเหตุไร?
เพื่อบรรพชาและเพื่ออุปสมบท อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลอุปสัมปทาเปกขะอันภิกษุพึงให้บรรพชา อุปสมบท อย่างนี้ ข้อแรกให้ปลงผมและหนวด ไห้ครองผ้ากาสายะ ให้ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ให้ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระหย่ง ให้ประคองอัญชลี [ประนมมือ] พึงสอนให้ว่าตามอย่างนี้ว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ, สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.
๕. อนึ่งที่พระตถาคตมิได้ตรัสไว้มาแต่แรก เพราะเหตุไร ในที่นี้จึงว่าตรัสไว้เป็นข้อแรก?
เพราะเหตุที่เทวดาและมนุษย์พากันเข้าสู่พระศาสนาด้วยเป็นอุบาสกบ้าง เป็นบรรพชิตบ้าง ด้วยทางนี้ ฉะนั้น จึงควรรู้ว่า นวังคสัตถุศาสน์นี้ท่านบุรพาจารย์ทั้งหลายรวบรวมไว้ด้วยปิฎกทั้งสามยกขึ้นสู่ทางการบอกการสอน จึงว่าตรัสเป็นข้อแรกในขุททกปาฐะนี้ เพราะเป็นทางเข้าสู่พระศาสนา.
พุทธะคืออะไร? (สรุปจาก หน้า 8-10)
หมายถึง ขันธสันดานที่ถูกอบรมด้วยการบรรลุอนุตตรวิโมกข์ ซึ่งเป็นนิมิตแห่งพระญาณอันอะไรๆ ชัดขวางมิได้ หรือเพราะบัญญัติอาศัยการตรัสรู้เองยิ่งซึ่งสัจจะ อันเป็นปทัฏฐานแห่งพระสัพพัญญุตญาณ ...
ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงเป็นผู้ตรัสรู้ ... ผู้ปลุก (หมู่สัตว์) ให้ตื่น ... ทรงรู้ทุกอย่าง ... ทรงเห็นทุกอย่าง ... ตรัสรู้เองไม่ใช่ผู้อื่นทำให้รู้ ... บานแล้ว ... นับกันว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว ... ผู้ไม่มีอุปกิเลส ... ไร้กิเลสสิ้นเชิง ... ทรงดำเนินเอกายนมรรค ...
สรณคมน์หมายถึงอะไร? (หน้า 10)
... ชื่อว่า สรณะ เพราะกำจัด อธิบายว่า บีบ ทำลาย นำออกดับภัยคือความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ทุกข์ ทุคติ ความเศร้าหมอง ด้วยการถึงสรณะนั้นนั่นแล ของคนทั้งหลายที่ถึงสรณคมน์ ...
- พระพุทธเจ้า ชื่อว่า สรณะ เพราะกำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์และนำออกจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์.
- พระธรรม ชื่อว่า สรณะ เพราะให้สัตว์ข้ามพ้นกันดารคือภพ และให้ความโปร่งใจ.
- พระสงฆ์ ชื่อว่า สรณะ เพราะกระทำสักการะ แม้เล็กน้อย ให้กลับได้ผลอันไพบูลย์
เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยนั้น จึงชื่อว่า สรณะ โดยปริยายดังว่ามานี้.
- จิตตุปบาทที่ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั้นและความเคารพในพระรัตนตรัยนั้น กำจัดทำลายกิเลสเสียได้ เป็นไปโดยอาการคือความมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า หรือ ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย [ชักจูง] ชื่อว่า สรณคมน์.
ตัวอย่างผู้เข้าถึงสรณคมณ์ด้วยวิธีต่างๆ
- คู่อุบาสก ๒ คนแรกในโลกที่ถึงสรณะ ๒ หลังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้
ก็บุคคลเมื่อจะเข้าถึง ย่อมเข้าถึงด้วยวิธีสมาทานเหมือนอย่างนายพาณิชสองคนชื่อว่า ตปุสสะและภัลลิกะ เป็นต้น ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองนั้น ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก" ...
- ท่านพระมหากัสสปเถระ
เข้าถึงด้วยวิธียอมเป็นศิษย์ เหมือนอย่างท่านพระมหากัสสปะเป็นต้นว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก" ...
- พรหมยุพราหมณ์
เข้าถึง ด้วยวิธีทุ่มตัวไปในพระรัตนตรัยนั้น เหมือนอย่างพรหมยุพราหมณ์ เป็นต้น ความบาลีว่า "เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ พรหมยุพราหมณ์ ก็ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ เปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า นโมตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส, นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส, นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส" ...
- อื่นๆ
เข้าถึงโดยวิธีมอบตน โดยการเป็นโยคีบุคคลผู้ขวนขวายในกรรมฐาน ... เข้าถึง โดยวิสัยและโดยกิจ หลายวิธี เช่นด้วยวิธีกำจัดอุปกิเลสด้วยการถึงสรณคมน์ เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลาย ... ชี้แจงเรื่องการถึงสรณคมน์ และเรื่องบุคคล ผู้เข้าถึงสรณคมน์ ...
การขาดสรณคมณ์ ๒ อย่าง
-การขาดสรณคมน์เพราะการตาย ชื่อว่าไม่มีโทษ
-การขาดสรณคมน์เพราะหันไปนับถือศาสดาอื่น และประพฤติผิดในพระศาสดานั้น ชื่อว่ามีโทษ
เกิดขึ้นได้เฉพาะปุถุชนเท่านั้น พระอริยบุคคลไม่ขาด
ความเศร้าหมองของสรณคมณ์
- หมายถึง ประพฤติไปด้วยความไม่รู้ ความสงสัยและความรู้ผิด และเพราะประพฤติไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้นในพระพุทธคุณทั้งหลาย
เกิดขึ้นได้เฉพาะปุถุชนเท่านั้น พระอริยบุคคลไม่เศร้าหมอง
โทษแห่งการขาดสรณคมณ์
การขาดสรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมมีโทษ มีความเศร้าหมองและอำนวยผลที่ไม่น่าปรารถนา การขาดสรณะที่ไม่มีโทษ ก็ไม่มีผล เพราะหาวิบากมิได้. ส่วนการไม่ขาดสรณะว่าโดยผล ก็ย่อมอำนวยผลที่น่าปรารถนาอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นละกายมนุษย์ไปแล้ว ก็จักไม่เข้าถึงอบายภูมิ จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ ดังนี้.
[สรุป]
- สรณคมน์ หมายถึง สภาพนามธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิก ที่เลื่อมใส และเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่เพิ่งเพื่อการขัดเกลากิเลส
- ผู้ที่ไม่รู้พระธรรมวินัย ประพฤติผิด เช่น การให้เงินพระภิกษุก็ดี การนั่งหลับตาเข้าสมาธิด้วยความไม่รู้ก็ดี การไม่ศึกษาธรรมและกล่าวพูดเรื่องศาสนาอย่างผิดๆ ถูกๆ ก็ดี นั่นเป็นความเศร้าหมองของสรณคมณ์ ย่อมให้ผลไม่ดี
- ผู้ที่เปลี่ยนความเลื่อมใสจากพระศาสนา ย่อมขาดจากสรณคมณ์ ย่อมได้รับโทษแน่นอน ผู้ที่ไม่ขาดจากสรณคมณ์เลย ก็คือ พระอริยบุคคล ซึ่งพระอริยบุคคลย่อมไม่ไปสู่อบายภูมิแน่นอน เพราะเป็นผู้ที่ไม่ขาดจากไตรสรณคมณ์ และเป็นผู้ที่ดับกิเลสที่จะนำไปสู่อบายภูมิได้แล้ว ถ้าเป็นปุถุชนอยู่ก็สามารถขาดจากสรณคมณ์ได้ด้วยการเปลี่ยนศาสนาก็ดีหรือความตายก็ดี และผู้ที่มีจิตที่เลื่อมใสเกิดย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก ซึ่งให้ผลเป็นสุคติ และตราบใดที่เป็นปุถุชนอยู่แม้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เมื่อตายไปก็เข้าสู่อบายภูมิได้ (ตัวอย่าง พระนางมัลลิกา เป็นต้น ๗ วันที่มหานรก ก่อนไปเกิดที่ดุสิต)
ขอกราบอนุโมทนา