ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๖๘] เสยฺย

 
Sudhipong.U
วันที่  12 มิ.ย. 2567
หมายเลข  47830
อ่าน  146

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เสยฺย”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

เสยฺย อ่านตามภาษาบาลีว่า ไส - ยะ แปลว่า ประเสริฐกว่า ในที่นี้จะนำเสนอสภาพธรรมที่ประเสริฐกว่าอย่างอื่นคือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ปัญญาเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เข้าใจถูกเห็นถูก สะสมเป็นที่พึ่งติดตามไปในทุกขณะจิต และที่สำคัญ ปัญญา เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตได้กล่าวสรรเสริญความประเสริฐของปัญญาไว้มากมาย อย่างเช่นข้อความจากพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ รัฏฐปาลสูตร ว่า

พระรัฏฐปาลเถระ (พระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา) กล่าวว่า .-

ทรัพย์อะไรๆ ย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์และแว่นแคว้นก็เช่นนั้น (คือ ติดตามคนตายไป ไม่ได้) บุคคล ย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ และย่อมไม่กำจัดชราได้ด้วยทรัพย์, นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ ว่าน้อยนัก ว่าไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน แต่คนพาล ย่อมนอนหวาดอยู่ เพราะความที่ตนเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์ อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์

ปัญญา เป็นเหตุให้ถึงที่สุดในโลกนี้ได้, คนเป็นอันมากทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่ เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุด, สัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมา ย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลก (โลกหน้า) บ้าง, ผู้อื่นนอกจากผู้มีปัญญานั้น ย่อมเชื่อได้ว่า จะเข้าถึงครรภ์และปรโลก, หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรม ละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ในโลกหน้า เปรียบเสมือนโจรผู้มีความผิด ถูกจับเพราะโจรกรรม มีการตัดช่อง (ขโมย) เป็นต้น ย่อมเดือดร้อน เพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริงโดยตลอด เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และ เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับทุกคน สำหรับทุกยุคทุกสมัย ไม่มีคำว่าล้าสมัย ไม่มีคำว่าคร่ำครึ ถ้าได้ศึกษา สะสมความเห็นถูกไปตามลำดับ และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ประโยชน์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้น แต่ก็มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

เมื่อได้อ่าน ได้ฟัง ได้ศึกษาข้อความธรรมที่แสดงถึงความจริงในชีวิตแล้ว บางคนอาจจะลืม แต่บางคนอาจจะพิจารณาธรรมที่ตนประสบพบเห็นได้ อย่างเช่น ที่บ้านของแต่ละคนมีต้นไม้นานาชนิด ถ้าสังเกตจริงๆ ก็จะพบว่า ใบไม้บางใบยังไม่แก่เหี่ยว ยังไม่แห้งจริงๆ ก็หลุดจากขั้วหล่นแล้ว ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทุกคน ก็ฉันนั้น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ทั้งๆ ที่มีความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รสและสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย อย่างไม่รู้จักอิ่ม เมื่อถึงเวลาที่จะจากโลกนี้ไป ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเป็นวันใด เวลาใด ก็ไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ ติดตามตัวไปได้เลย สิ่งที่มีไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ ญาติสนิทมิตรสหาย บุตร ภรรยา สามี ไม่สามารถติดตามคนที่ตายไปแล้วได้เลย สิ่งที่จะสะสมติดตามไป ก็มีเพียงความชั่วกับความดีเท่านั้น

ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ความชรา หรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตลอดจนถึงความตาย ไม่ใช่ว่าทรัพย์จะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่ว่าความเป็นผู้มีปัญญา ที่จะอบรมเจริญเพื่อความรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สามารถทำให้ถึงที่สุด คือที่สุดของการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ได้ ไม่ต้องมีการเกิดใหม่ในภพใหม่ อีก นั่นหมายความว่า เป็นผู้ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ไม่ต้องมีการเกิดอีก เมื่อไม่มีการเกิด ก็ไม่ต้องมีการแก่ ไม่ต้องมีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องมีการประสบภัยต่างๆ ไม่ต้องมีการตาย อีก ซึ่งกล่าวโดยสรุป คือ ไม่มีทุกข์ใดๆ อีกเลย เพราะปัญญาที่ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นนั่นเอง นี้คือ ความประเสริฐของทรัพย์คือปัญญา

จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง สูงสุดแล้วก็เพื่อให้สัตว์โลกถึงการดับทุกข์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่แก้ทุกข์เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น การดับทุกข์ที่แท้จริงนั้น ต้องดับกิเลสทั้งปวงและดับการเกิดด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อไม่มีการเกิด ก็ไม่ต้องประสบกับทุกข์ประการต่างๆ ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งไม่ใช่แค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ต้องอบรมเจริญเป็นระยะเวลาที่ยาวนานทีเดียว ที่สำคัญที่สุด คือไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มิ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ