ทรงธรรม หมายถึงอะไร? [กีฏาคิริสูตร]

 
wittawat
วันที่  13 มิ.ย. 2567
หมายเลข  47836
อ่าน  538

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทรงธรรม หมายถึงอะไร?

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 428

[๒๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตผลด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้นหามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตผลนั้น ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลําดับ ด้วยการทําโดยลําดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลําดับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ในอรหัตผลย่อมมีได้ ด้วยการศึกษาโดยลําดับ ด้วยการทําโดยลําดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลําดับอย่างไร.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไป ย่อมทําให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา.


ข้อความในอรรถกถา

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 437

บทว่า นาหํ ภิกฺขเว อาทิเกเนว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตผลเป็นครั้งแรกเท่านั้น ดุจกบกระโดดไปฉะนั้น.

บทว่า อนุปุพฺพสิกฺขา เป็นปฐมาวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ แปลว่า ด้วยการศึกษาโดยลําดับ.

แม้ใน ๒ บทต่อไปก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า สทฺธาชาโต เกิดศรัทธา คือ มีศรัทธาเกิดแล้วด้วยศรัทธาอันเป็นที่ตั้งแห่งความสําเร็จ.

บทว่า อุปสงฺกมิ คือ ย่อมเข้าไปหาครู.

บทว่า ปยิรุปาสติ คือ ย่อมนั่งในสํานักครู.

บทว่า ธาเรติ คือ ย่อมทรงไว้ทําให้คล่องแคล่ว.

บทว่า ฉนฺโท ชายติ ฉันทะย่อมเกิด ได้แก่ ฉันทะ คือ ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทําย่อมเกิด.

บทว่า อุสฺสหติ ย่อมอุตสาหะ คือ ทําความเพียร.

บทว่า ตุเลติ ย่อมไตร่ตรอง คือ ไตร่ตรองว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา.

บทว่า ตุลยิตฺวา ปทหติ ครั้นไตร่ตรองแล้วย่อมตั้งความเพียร คือ เมื่อไตร่ตรองด้วยวิปัสสนาเป็นเครื่องพิจารณาอย่างนี้ ย่อมตั้งความเพียรในมรรค.

บทว่า ปหิตตฺโต คือ มีตนส่งไปแล้ว.

บทว่า กาเยน เจว ปรมสจฺจํ ย่อมทําให้แจ้งซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย คือ ย่อมทําให้แจ้งซึ่งนิพพานสัจจะด้วยนามกาย.

บทว่า ปฺาย จ คือ ย่อมแทงตลอด ย่อมเห็นด้วยมรรคปัญญาอันสัมปยุตด้วยนามกาย.


[สรุป]

ฟังธรรมแล้วบรรลุทันที เป็นไปไม่ได้ ต้องมีการศึกษาตามลำดับ วันนี้ฟังธรรมแล้ว ทรงธรรมแล้วหรือยัง?

คำว่า ทรงธรรม แปลมาจากคำว่า ธาเรติ เป็นสภาพนามธรรมที่เมื่อฟังแล้ว มีความทรงจำมั่นคงความคล่องแคล่วชำนาญในสิ่งที่ฟังแล้ว เกิดขึ้นหลังจากฟัง เช่น ฟังว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วเป็นธรรมทุกขณะแล้วหรือยัง หรือว่าระลึกได้เมื่อมีการฟัง หรือถูกถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ เป็นต้น จึงต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ สะสมสติจากการฟังมากมายเป็นหลายกัปป์อย่างไม่น่าสงสัย

ขอกราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 13 มิ.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wittawat
วันที่ 18 มิ.ย. 2567

ทรงธรรม อีก ๑ ความหมาย แปลจาก ธมฺมธรา [ทุติยปาปณิกสูตร]

อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 64

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ย่อมถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลายไม่นานเลย. ธรรม ๓ คืออะไร คือ ภิกษุเป็นผู้มีดวงตา ๑ มีเพียร ๑ ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย ๑.

ก็ภิกษุเป็นผู้มีดวงตาอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ... นี่ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) ... นี่ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) ... นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีดวงตา.

ภิกษุเป็นผู้มีเพียรอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียรเพื่อละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลายให้ถึงพร้อม แข็งขันบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเพียร.
ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัยอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต คล่องอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เธอเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นตามกาลอันควร ไต่ถามปัญหาว่า ท่านเจ้าข้า ข้อนี้อย่างไร อะไรเป็นความหมายแห่งธรรมนี้. ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ลี้ลับ ทำข้อที่ลึกให้ตื้น และบรรเทาความเคลือบแคลงในธรรมทั้งหลายที่น่าเคลือบแคลงแก่เธอได้ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ นี้แล ย่อมถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลายไม่นานเลย

จบทุติยปาปณิกสูตรที่ ๑๐


อรรถกถาทุติยปาปณิกสูตร

... บทว่า พหุสฺสุตา ความว่า ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะมีพระพุทธพจน์อันได้สดับตรับฟังมามาก ด้วยสามารถแห่งนิกาย ๑ หรือ ๒ นิกายเป็นต้น. บทว่า อาคตาคมา ความว่า นิกาย ๑ ชื่อว่าอาคม ๑. ๒ นิกาย ชื่อว่า ๒ อาคม. ๕ นิกาย ชื่อว่า ๕ อาคม. ในอาคมทั้ง ๕ เหล่านี้ ผู้ใดมีมาแม้อาคมเดียว คือ มีความช่ำชอง ได้แก่ ได้รับยกย่อง (เพียงอาคมเดียว) คนเหล่านั้นชื่อว่า อาคตาคมา.
บทว่า ธมฺมธรา ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสุตตันตปิฎก. บทว่า วินยธรา ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัยปิฎก. บทว่า มาติกาธรา ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งมาติกาทั้งสอง. บทว่า ปริปุจฺฉติ ได้แก่ ซักถามถึงประโยชน์และสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ถึงเหตุและสิ่งที่ไม่ใช่เหตุ. บทว่า ปริปญฺหติ ได้แก่ รู้ คือ ไตร่ตรอง กำหนดเอาว่า เราจักถามธรรมวินัย ชื่อนี้.


ทรงธรรม ในพระสูตรนี้หมายถึง ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสุตตันตปิฎก

ขอกราบอนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ