จิตเมื่อเกิด จำเป็นต้องเป็นกุศลหรืออุศล อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ

 
นาคเสน
วันที่  12 ก.ย. 2550
หมายเลข  4785
อ่าน  1,117

อยากทราบว่าจิตที่เกิด - ดับสืบต่อกันนั้น จำเป็นไหมคะว่า จะต้องเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ มีไหมคะ ที่ไม่เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเลย คือเวลาที่ระลึกรู้ ดูจิตน่ะค่ะ แล้วเราไม่ได้รู้สึกถึงความผ่องใส (กุศล) หรือความไม่สบายใจ (อกุศล) ใด เป็นไปได้ไหมคะ หมายถึง ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? หรือว่าเป็นเพราะยังเป็นผู้ที่ไม่ละเอียดพอที่จะเห็นกุศลและอกุศล?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 12 ก.ย. 2550

ตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์ แสดงว่า ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้น ย่อมเป็นชาติใดชาติหนึ่งคือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่พ้น ๔ ชาตินี้ สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่สามารถรู้จิตได้ละเอียดทุกขณะ คือบางครั้ง บางขณะ สติสัมปชัญญะเกิด ย่อมรู้ได้ ตามฐานะ บางขณะไม่สามารถรู้ได้ เว้นพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงรู้ได้อย่างละเอียดทุกขณะ ดังนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อาจรู้เกิดบางประเภทที่เกิดต่อเนื่องหลายขณะ เช่น ขณะที่เป็นอกุศล หรือขณะที่เป็นกุศลได้ จิตขณะอื่นๆ ไม่อาจรู้ได้อย่างละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 12 ก.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย เรื่อง การระลึกรู้ ดูจิต

สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบาก เป็นต้น ในการอบรมปัญญานั้น ให้เข้าใจว่า สภาพธรรมที่กล่าวมานั้น ก็มีในขณะนี้เอง เช่น กุศลหรืออกุศล วิบาก (ขณะเห็น เป็นต้น) การอบรมปัญญา ที่ใช้คำว่า ระลึกรู้ ดูจิต ถามว่าอะไรระลึกรู้ ดูจิต เป็นหน้าที่ของธรรม อย่างหนึ่งคือ สติ (แต่ก็มีปัญญาเกิดด้วย) สติเกิดกับจิตที่เป็นกุศลด้วย สติมีหลายระดับ รวมทั้งปัญญา การระลึกดูจิต หรือสติปัฏฐานนั้น เป็นสติและปัญญาระดับสูง ไม่ใช่ขั้นคิดนึก ตรงนี้สำคัญมาก ไม่ใช่ขั้นคิดนึกครับ ขณะที่โกรธ ก็ตามดูว่า ขณะนี้โกรธ เป็นอกุศล ขณะนั้นก็คิดนึก ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ การอบรมสติปัฏฐาน คือเป็นการอบรมเพื่อรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ขณะที่คิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว เช่น รู้ว่าโกรธ ก็เป็นตัวเรานั่นแหละที่รู้ ไม่ใช่สติและปัญญาที่รู้ลักษณะของความโกรธจริงๆ ว่าเป็นธรรม ที่สำคัญประการหนึ่ง ปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ ขั้นแรก ต้องรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ปัญญาที่จะไปรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะรู้ด้วยความเป็นเราก็ได้ แต่ไม่รู้ว่ากุศลเป็นธรรม อกุศลเป็นธรรม จึงขอแนะนำให้ฟังไฟล์ธรรมในเว็บครับ เพราะหนทางการอบรมปัญญาเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่คำว่า การดูจิต เป็นเราหรือเป็นสติและปัญญาที่เห็นว่าเป็นธรรมครับ ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ก.ย. 2550

ถ้าปัญญา ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล และขณะไหนเป็นอกุศลก็อบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า แม้ขณะที่หลงลืมสติก็ไม่รู้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นาคเสน
วันที่ 13 ก.ย. 2550
จิตที่เป็นชาติวิบาก ชาติกิริยา หมายถึงอะไร มีลักษณะอย่างไรค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 13 ก.ย. 2550

จิตที่เป็นชาติวิบาก ขณะที่เห็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลวิบาก ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นอกุศล

วิบาก ฯลฯ ชาติกิริยา หมายถึง ทำกิจหน้าที่ของตนเองเท่านั้น และไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกิริยาจิต เพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง และ มโนทวาราวัชนจิต ๑ ดวง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 13 ก.ย. 2550

ความคิดเห็นที่ 1

๑. วิบากจิต เป็นผลของกรรม เช่น ขณะที่นำปฏิสนธิ ในภพภูมิต่างๆ ขณะที่เป็นภวังคจิต (ดำรงภพชาติ) ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น เป็นวิบาก

๒. ผู้มีปัญญามาก สติระลึกรู้ ลักษณะของวิบากได้ แต่โดยมากการจะระลึกรู้ลักษณะของจิต ต้องขณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล (ชวนจิต)

โดย : มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา วันที่ : 19-04-2550
เพิ่มเติม ... .

นอกจาก ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต ฯลฯ ซึ่งมีชาติเป็นวิบากแล้ว ทางปัญจทวาร ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีจิตที่เป็นชาติวิบากเช่นกัน ถ้าเป็น กุศลวิบาก คือ เป็นผลของกุศลกรรม ที่ได้กระทำสำเร็จลงไปแล้วในอดีต เมื่อถึงกาลก็สุกงอม จนพร้อมให้ผลได้แก่
เห็นสิ่งที่ดีทางตา ก็เป็น จักขุวิญญาณกุศลวิบาก

ได้ยินเสียงที่ดีหางหู ก็เป็น โสตวิญญาณกุศลวิบาก

ได้กลิ่นที่ดีทางจมูก ก็เป็น ฆานวิญญาณกุศลวิบาก

ลิ้มรสที่ดีทางลิ้น ก็เป็น ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก กระทบกับสัมผัสที่ดีทางกาย ก็เป็น กายวิญญาณกุศลวิบาก ส่วนถ้าเป็น อกุศลวิบาก คือ เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำสำเร็จลงไป แล้วในอดีต เมื่อถึงกาลก็สุกงอมจนพร้อมให้ผล โดยนัยเดียวกัน คือ

เห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็น จักขุวิญญาณอกุศลวิบากเรื่อยไปจนถึงกระทบกับสัมผัสที่ไม่ดีทางกาย ก็เป็น กายวิญญาณอกุศลวิบาก

ความคิดเห็นที่ 1 กิริยาจิต เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยา กระทำกิจรู้อารมณ์ ด้วยอาวัชชนกิจบ้าง โวฏฐัพพนกิจบ้าง ชวนกิจบ้าง กิริยาจิตส่วนมาก เป็นจิตของพระอรหันต์ แต่คนทั่วไป ก็มีกิริยาจิตเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น ผู้ที่จะรู้กิริยาจิตได้ คือ จิตประเภทนี้ ปรากฏกับผู้ใด ผู้นั้นจึงรู้ได้ ถ้าไม่ปรากฏให้รู้ก็รู้ไม่ได้ ... สำหรับเราคงไม่ใช่ฐานะที่จะรู้ได้

โดย : มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา วันที่ : 19-04-2550

เพิ่มเติม

กิริยาจิตของปุถุชนมี ๒ ดวง คือ

๑. ปัญจทวารวัชชนจิต กระทำอาวัชชนกิจ รำพึงถึงอารมณ์ จากรูปที่มากระทบกับทวารต่างๆ ทีละทวาร ทำหน้าที่รู้อารมณ์ที่มากระทบแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่สูดดม รสที่ลิ้มลอง สัมผัสที่กระทบกาย คือ อะไร อย่างไร

๒. มโนทวารวัชชนจิต กระทำโวฏฑัพพนกิจ กระทำทางให้ กุศล หรืออกุศลเกิดได้ ในชวนวิถีจิตทางมโนทวาร เพราะเหตุว่า กิริยาจิตของปุถุชน ไม่ได้เกิดที่ชวนวิถีจิต จึงไม่สามารถที่จะรู้ขณะจิตที่เป็น "ชาติกิริยา" ได้ ที่พอจะรู้ได้ คือ ขณะที่จิตเป็นกุศล หรือ เป็นอกุศลในชวนวิถีจิต และรู้โดยไม่ใช่ตัวตน เมื่อ สติปัฏฐาน เกิด

แต่กิริยาจิตของพระอรหันต์ เกิดที่ชวนวิถีจิตได้ กระทำชวนกิจ รู้อารมณ์ได้ ทั้งทางปัญจทวารและทางมโนทวาร กิริยาจิต เป็นชาติกริยา จะไม่เป็นชาติกุศล ชาติอกุศล และชาติวิบาก เพราะพระอรหันต์ ดับกิเลสทุกอย่างได้เป็นสมุจเฉท คือ หมดเชื้อที่จะทำให้เกิด ทั้งกุศล และอกุศล ในชวนวิถี จึงไม่ต้องรับผล คือ วิบากกรรมจากกิริยาจิตที่เกิด เพราะกิริยาจิตไม่ก่อเหตุ ที่จะให้ผลในกาลภายหน้า แต่ท่านยังได้รับผลของกรรม ทั้งที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก จากกรรมที่ได้กระทำสำเร็จลงไปก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ครับ เช่น ๑. พระพุทธเจ้า ทรงได้รับการถวายอาหารที่ประณีตมาก จากผลของกุศลกรรม ที่พระพุทธองค์ ได้ทรงเคยบำเพ็ญพระบารมีไว้ ในครั้งที่ยังทรงเสวยพระชาติเป็น พระโพธิสัตว์ ๒. พระมหาโมคคัลละนะถูกคนจองเวร และตามฆ่าท่าน เพราะท่านเคยทำอกุศลกรรมหนักกับบิดามารดาในอดีตชาติ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 13 ก.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความต่างกันของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

ในการอบรมปัญญาเริ่มต้น

สมถภาวนา เป็นการอบรมให้กุศลที่มีเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้เจริญมากขึ้น อบรมอย่างไร คือ ประการแรก ต้องรู้ความต่างระหว่างกุศลและอกุศล เพราะไม่เช่นนั้น เราก็อาจอบรมเจริญอกุศล โดยไม่รู้ก็ได้ ดังนั้นต้องรู้ความต่างกันของกุศลและอกุศล นี่คือขั้นแรกของการเจริญสมถภาวนา เช่น ปกติ เราให้ทาน กุศลเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว หรือเกิดไม่มาก การอบรมสมถภาวนาก็คือ ต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล (ทาน) และขณะใดเป็นอกุศล เมื่อรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล (ขณะที่เป็นกุศลขั้นทาน) ก็ระลึกถึงสภาพธรรม ที่เป็นกุศลนั้น บ่อยๆ จนตั้งมั่น คือ กุศลขั้นทาน เกิดบ่อยๆ ต่อเนื่องจนตั้งมั่น จนถึงอุปจารสมาธิครับ ดังนั้นขั้นแรกของการอบรมสมถภาวนา คือ รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล หรือขณะใดเป็นอกุศล แต่สมถภาวนารู้ด้วยความเป็นเรา ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 13 ก.ย. 2550

ส่วนวิปัสสนาภาวนา หรือการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เริ่มจากการฟังให้เข้าใจในเรื่องสภาพธัมมะ จนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานมีปรมัตถ์ (สภาพธัมมะที่มีจริง) เป็นอารมณ์ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดครั้งแรก ปัญญายังไม่รู้ชัด รู้แต่เพียงเป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังแยกไม่ออกว่า สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล (อกุศลก็เป็นธรรม) หรือเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม เพราะสติเพิ่งเริ่มเกิด ดังนั้น การอบรมปัญญาคือ สติปัฏฐาน ต้องรู้ว่าขณะใดสติปัฏฐานเกิด ขณะใดไม่ใช่สติปัฏฐานเกิด จะรู้อย่างไร คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นรู้ลักษณะของสภาพธัมมะ ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่ได้รู้ลักษณะว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่ปัญญาขั้นแรก จะยังไม่รู้ความต่างระหว่างกุศลหรืออกุศลว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิดนั้น ขณะนี้เป็นกุศลนะ ขณะนี้เป็นอกุศลนะ แต่ปัญญาขั้นแรก (สติปัฏฐานเพิ่งเกิด) เพียงรู้ว่าเป็นธรรมเท่านั้น ยังแยกไม่ออกว่า นี้เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นี้เป็นกุศลหรือ อกุศล ต่อเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ย่อมรู้ความต่างกันของสภาพธัมมะแต่ละอย่าง ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมครับ ส่วนสมถภาวนา ต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศลหรืออกุศล จึงจะอบรมได้ นี่คือความต่างกันของสมถและวิปัสสนา ขออนุโมทนาครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 13 ก.ย. 2550

ไม่ใช่จำเป็นหรือไม่จำเป็น แต่ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ความเข้าใจในสภาพธรรมยังมีน้อย จึงยังไม่อาจที่จะระลึกรู้ในสภาพธรรมขณะนั้นได้ และที่สำคัญคือ ไม่ใช่เราที่จะไปทำสติ หรือไปทำอย่างอื่น เพื่อจะดูหรือจดจ้องด้วยความเป็นตัวตน เพราะไม่อาจรู้กิเลสได้ด้วยกิเลส ความจริงคือด้วยปัญญาเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
นาคเสน
วันที่ 17 ก.ย. 2550

ขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็นค่ะ แล้วก็ขออนุโมทนากับ มูลนิธิฯ บ้านธัมมะด้วยนะคะ เพราะตั้งแต่ได้รู้จัก แล้วก็ศึกษาธรรมจาก file เสียงที่อยู่ใน web เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้รู้ว่า อกุศลและความเห็นผิดมีมากเหลือประมาณ จะค่อยๆ ศึกษาธรรมไปเรื่อยๆ เพื่ออบรมให้ความเห็นถูกเพิ่มขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 19 ก.ย. 2550

ขออนุโมทนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ajarnkruo
วันที่ 22 ก.ย. 2550

ขออนุโมทนาในความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 25 พ.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ