ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๗๐] ปุถุชฺชนกลฺยาณก

 
Sudhipong.U
วันที่  25 มิ.ย. 2567
หมายเลข  47961
อ่าน  103

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปุถุชฺชนกลฺยาณก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ปุถุชฺชนกลฺยาณก อ่านตามภาษาบาลีว่า ปุ - ถุด - ชะ - นะ - กัน - ละ - ยา - นะ - กะ มาจากคำว่า ปุถุชฺชน (ชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส, ปุถุชน) กับคำว่า กลฺยาณก (ผู้ดีงาม) รวมกันเป็น ปุถุชฺชนกลฺยาณก แปลว่า ปุถุชนผู้ดีงาม

ข้อความในสัทธรรมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความเป็นจริงของคำว่า ปุถุชฺชนกลฺยาณก (ปุถุชนผู้ดีงาม) ดังนี้ ชื่อว่า ปุถุชน เพราะเป็นผู้ยังตัดกิเลสไม่ได้ และชื่อว่า กัลยาณชน เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยข้อปฏิบัติมีศีลเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนนั่นแล ชื่อว่า ปุถุชฺชนกลฺยาณโก


แต่ละคนที่เกิดมานั้น มีความเสมอกันโดยความที่มีนามธรรม และรูปธรรม กล่าวคือ มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้) เกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่แตกต่างกันคือ การสะสมและการได้รับผลของกรรม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย เช่น คนที่มีความประพฤติที่ไม่ดี เป็นคนชั่ว ขาดความละอาย ขาดความเกรงกลัวต่อบาป ขาดเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันนั้น มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นแต่ธรรม คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน คนที่เป็นคนดี มีความประพฤติที่ดีงาม คิดดี ทำดี และพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็มีทุกยุคทุกสมัยเช่นเดียวกัน เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ได้แก่ ธรรมฝ่ายดี คือกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน

โดยปกติของความเป็นปุถุชนแล้ว เป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมาก เพราะเหตุว่าปุถุชน คือผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังเต็มไปด้วยกิเลส เป็นผู้มีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับเลย เมื่อได้เหตุปัจจัย อกุศลก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลตัวตนเลย ใครก็ตามที่มีความประพฤติที่ไม่ดี แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพราะธรรมฝ่ายไม่ดีต่างหาก ที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าจะเป็นปุถุชนผู้ไม่ได้สะสมกุศล ไม่ได้สะสมปัญญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่มีคุณความดีอะไรเลย เป็นปุถุชนผู้มืดบอด หรือว่าจะเป็นปุถุชนที่ดีงาม ผู้มีความจริงใจที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองต่อไป ทั้งหมดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ย่อมมีทางที่จะทำให้จากที่เคยเป็นผู้มีโทษมาก กล่าวคือ กาย วาจา ใจ เป็นไปกับด้วยกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะค่อยๆ น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสมากขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นได้ เพราะเหตุว่า ปุถุชนที่ได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ปุถุชนที่ดีงาม เป็นคนที่ดีงามกว่าคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะมีความเข้าใจถูกมีความเห็นถูกสามารถที่จะรู้หนทางที่จะเป็นอยู่ในโลกนี้ด้วยความเป็นคนดี ไม่กระทำทุจริตกรรม สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้จนกระทั่งสามารถที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี เกื้อกูลให้ถือเอาเฉพาะสิ่งที่ควร แล้วละทิ้งสิ่งที่ไม่ควร และจากการเป็นปุถุชนที่ดีงาม ที่ไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความดีประการต่างๆ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ข้ามพ้นความเป็นปุถุชนได้อย่างสิ้นเชิง กิเลสที่ดับได้แล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไกลเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความเข้าใจถูกความเห็นถูกที่ได้อาศัยพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะเหตุว่า กิเลสที่ได้สะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ซึ่งประมาณไม่ได้ จะสามารถค่อยๆ ลดละคลายลงไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงกาลเวลาที่ปัญญาคมกล้าก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้อย่างแท้จริง

บุคคลผู้ที่สนใจในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ย่อมเป็นผู้เห็นประโยชน์ของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย เรื่องของการหมดกิเลส ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เห็นประโยชน์ของสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ เพราะปัญญานี้เอง ที่จะเป็นเหตุทำให้จากที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ มากมาย สามารถดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลดับกิเลสได้ตามลำดับ ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนได้ในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่งในการอบรมเจริญปัญญา

อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 25 มิ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ