คำว่า พูดเพ้อเจ้อ ในกุศลกรรมบถ 10 นั้น มีขอบเขตและวิธีวินิจฉัยอย่างไรครับ

 
เริ่มหัดเดิน
วันที่  27 มิ.ย. 2567
หมายเลข  47979
อ่าน  148

ขอความรู้จากครูบาอาจารย์และท่านผู้รู้ครับ

ในข้อกุศลกรรมบถ 10 ที่ว่า "สมฺผปฺปลาปาวาจาย เวรมณี ฯ"
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

1. ไม่ทราบว่าในเรื่องนี้เราจะวินิจฉัยแยกแยะอย่างไรครับ ว่าเราขาดจากกรรมบถข้อนี้ หรือว่ายังไม่ขาดจากกรรมบถข้อนี้ครับ

... โดยส่วนตัวยังเข้าใจว่า พูดเพ้อเจ้อหมายถึงการพูดที่ไม่มีเหตุผลรับรอง หรือไม่มีสาระหรือเปล่าครับ ยกตัวอย่างเช่น เราไปอ่านพาดหัวข้อข่าวว่า "เจ้าของร้านปะทะกับลูกค้า" แล้วยังไม่ได้อ่านเนื้อหา จากนั้นเราก็ไปเล่าเล่นๆ ให้เพื่อนฟังว่า
"นี่ดูสิเจ้าของร้านนี้คงเป็นพวกมาเฟียอารมณ์ร้อนแน่ๆ เลย เอาเปรียบลูกค้าไปเรื่อย"

... เหมือนว่าเห็นอะไรนิดหน่อย ก็เพ้อเจ้อไปสรุปตีความโดยไม่มีเหตุผลหลักฐานรับรอง แบบนี้คือเพ้อเจ้อในกุศลกรรมบถ 10 หรือเปล่าครับ?

2. และคำว่า เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ในระดับกุศลกรรมบถ และการพูดเพ้อเจ้อที่พระอนาคามีท่านละได้แล้วนั้น มีองค์ธรรมเดียวกัน หรือเป็นลักษณะเดียวกันเลยหรือเปล่าครับ

ขออนุโมทนาขอบพระคุณอาจารย์และผู้รู้ทุกท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความเห็นในประเด็นที่ ๑ และ ๒ ดังนี้

สัมผัปปลาปะ หมายถึง การพูดเพ้อเจ้อ พูดไร้สาระ มุ่งให้ผู้อื่นได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ตามข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมาทิฏฐิสูตร ว่า วาทะที่เป็นเหตุให้เจรจาเพ้อเจ้อ คือ ไร้ประโยชน์ ชื่อว่า สัมผัปปลาปะ.



การพูดเพ้อเจ้อ หมายถึง อกุศลเจตนาที่จงใจพูดในเรื่องที่ไม่มีประโยชน์แก่ผู้อื่น การพูดเพ้อเจ้อ มีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ มุ่งที่จะพูดคำที่ไร้ประโยชน์ และมีการกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นออกไป ซึ่งเกิดจากอกุศลจิต นั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายรวมความว่าการพูดเรื่องทั่วไปแล้วจะเป็นการพูดเพ้อเจ้อทั้งหมด เพราะเหตุว่าพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง และพิจารณาที่สภาพจิตเป็นสำคัญ เช่น การพูดกับผู้อื่นด้วยเมตตาจิต ถามถึงสุขทุกข์ และการพูดแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตแก่ผู้อื่นด้วยกุศลจิต ครูอาจารย์สั่งสอนศิลปะวิทยาเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับประกอบอาชีพที่สุจริตในภายภาคหน้า แก่ศิษย์ อย่างนี้ ไม่เป็นการพูดเพ้อเจ้อ ดังนั้น การจะผิดอกุศลกรรมบถข้อการพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นวจีทุจริต นั้น ต้องหมายถึงเฉพาะการพูดด้วยอกุศลเจตนาให้ผู้อื่นรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เท่านั้น และยังมีข้อที่ควรพิจารณาอีก คือ การพูดเรื่องเดียวกัน แต่จิตอาจจะต่างกันก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะพูดด้วยกุศล หรือด้วยอกุศล เพราะวาจาก็เป็นไปตามจิต เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อกุศลเจตนา จึงจะเป็นการพูดเพ้อเจ้อ แต่ถ้าเป็นกุศลแล้ว จะไม่เป็นเหตุให้พูดเพ้อเจ้อเลย

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การพูดเพ้อเจ้อ หรือพูดเรื่องที่ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูด และคนฟัง ถ้าจะพูดเรื่องไร้สาระ ก็นิ่ง ไม่พูดเสียดีกว่า เพราะเหตุว่าการไม่พูดเรื่องไร้สาระนั้น ไม่มีเรื่องที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดโลภะ โทสะ หรืออกุศลต่างๆ เลยแม้แต่น้อย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ไม่ควรนิ่งเฉย ควรอย่างยิ่งที่จะพูด พูดเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ตามกำลังความสามารถของแต่ละคน พร้อมกันนั้นก็ยังจะต้องดูกาละที่สมควรด้วย การพูดนั้นจึงจะไม่ไร้ประโยชน์

พระธรรม เป็นเครื่องเตือนที่ดีในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้ แต่ก็สามารถรู้ได้ว่าถ้าเกิดมีการพูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ขึ้น จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลอย่างไร แล้วพร้อมที่จะขัดเกลาตนเองต่อไป เพราะเหตุว่าผู้ที่จะดับวจีทุจริตได้ ต้องเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น การพูดด้วยอกุศลจิตไม่มีประโยชน์กับบุคคลใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ควรละเว้น ควรระลึกได้ว่าไม่ควรเลยที่จะกล่าว ควรกล่าวเฉพาะวจีสุจริต เท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ การพูดด้วยกุศลจิต ก็จะมีมากขึ้น การพูดด้วยกุศลจิตย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง พร้อมทั้งเป็นประโยชน์แก่ตนเองด้วย เพราะเหตุว่าในขณะนั้น กุศลธรรมเจริญขึ้น ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง อย่างแท้จริง ไม่มีสำสอนในทางพระพุทธศาสนาแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย

ดังนั้น ในประด็นที่ ๑ ก็พอจะเทียบเคียงได้ว่า ขณะนั้น จิตเป็นอะไร พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไร้ประโยชน์?

ส่วนในประเด็นที่ ๒ นั้น เจตนาที่จะเป็นเครื่องเว้นจากสัมผัปปลาปะ ก็ตามระดับของความเข้าใจ เห็นโทษของการพูดเพ้อเจ้อมากน้อยแค่ไหน เพราะจะละได้หมดสิ้นไม่เหลือเลย ก็ต้องเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่มที่ ๓๔ หน้าที่ ๔๕ ดังนี้

อกุศลกรรมบถ ๖ ข้อเหล่านั้น คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน มิจฉาจาร มุสาวาทปิสุณาวาจา มิจฉาทิฏฐิ พระอริยบุคคล ย่อมละได้ ด้วยโสดาปัตติมรรค, สองอย่าง คือ ผรุสวาจา และ พยาบาท จะละได้ด้วยอนาคามิมรรค, สองอย่าง คืออภิชฌา สัมผัปปลาปะ จะละได้ด้วยอรหัตตมรรค.


... ยินดีในกุศลของคุณผู้เริ่มหัดเดิน และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 29 มิ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เริ่มหัดเดิน
วันที่ 4 ก.ค. 2567

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาด้วยครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ